ไม่พบผลการค้นหา
แอมเนสตี้จัดงาน ‘ตามสบาย BE MY GUEST’ นิทรรศการ นำเสนอศิลปะ เสวนา ดนตรี และเวิร์กชอป มากแรงบันดาลใจจากสิทธิมนุษยชน ในวาระ 58 ปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายนนี้

สืบเท้าก้าวขึ้นบันไดตามแสงไฟนีออนสีสดไปยังชั้นสองของร้าน Whiteline สีลมซอย 8 จะพบกับทางเข้าสู่พื้นที่ของแรงบันดาลใจจากศิลปินและนักสิทธิมนุษยชนที่เชื่อมั่นว่า มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ล้วนมีสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน

ผลักประตูเปิดเข้าสู่ห้องก็จะพบส่วนแรกของนิทรรศการหลัก เราจะได้พบกับผลงานภาพถ่ายจากค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ฝีมือ 3 เยาวชนโรฮิงญา ที่มีความใฝ่ฝันจะเป็นช่างภาพและนักข่าว ทว่าไม่อาจไล่ตามความปรารถนาของตัวเองได้ในประเทศเมียนมา บ้านเกิดซึ่งใช้กำลังขับไล่พวกเขาออกมา

amnesty01.jpg
"ในชุมชนโรฮิงญาของเราไม่มีนักข่าวหญิงเลย ฉันฝันอยากจะเป็นผู้สื่อข่าว แต่รัฐบาลเมียนมาไม่อนุญาตให้โรฮิงญาทำงานแบบนี้"

Omal Khair เด็กสาวชาวโรฮิงญา ผู้ลี้ภัยจากการกวาดล้างของเมียนมาในปี 2560 กล่าว

ทางซ้ายมือคือเกมตอบคำถามอินเทอร์แอคทีฟ ที่ให้เรามีส่วนร่วมตัดสินใจว่าเราจะรับมือกับการริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานจากครอบครัว ศาสนา หรือสังคมอย่างไร และทางที่เราเลือกนั้น คล้ายกับเส้นทางชีวิตของผู้ลี้ภัยคนใด

amnesty03.jpg

หลังกอบเก็บความรู้สึกของผู้ลี้ภัยไว้ในหัวใจแล้ว นิทรรศการพาเราข้ามรั้วหนามเข้าสู่ประเทศไทย ดินแดนซึ่งต้อนรับขับสู้เราด้วยยาหม่อง ‘สยามบาล์ม’ กลิ่น ‘ชาติมั่นคง’ ‘สงบเรียบร้อย’ และ ‘ศีลธรรม’ ให้เลือกเสพ ทว่าหากสูดดมมากเข้าอาจทำให้หน้ามืดตามัวมองไม่เห็นสิทธิที่ถูกริดรอนไปภายใต้ความสงบเรียบร้อยเหล่านี้

amnesty04.jpg

เมื่อสร่างจากอาการวิงเวียน ลองเหลียวมองไปโดยรอบเราจะได้เห็นงานศิลปะที่สะท้อนความเป็นจริงของ เหล่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวไทย 3 กรรม 3 วาระที่เผชิญกับการใช้กฎหมายปิดกั้นการใช้เสรีภาพอย่างสงบ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านอำเภอเทพาที่ชุมนุมเรียกร้องให้ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผู้โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์เพลงคืนความสุข แม้กระทั่งลุงข้าราชการบำนาญที่เพียงนำกุหลาบแดงและอาหารฟาสต์ฟู้ดไปมอบให้กับนักกิจกรรมก็ถูกจับปรับและจำคุก

amnesty05.jpg

พ้นรั้วหนามซึ่งกีดกันสิทธิของเรามา จะได้พบกับผนัง ‘Born This Way’ ประดับกระจก 30 บาน ที่สรุปปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 30 ข้อ มาเป็นข้อความสั้นๆ ส่องสะท้อนว่าเราต่างเกิดมาพร้อมสิทธิ 30 ข้อ ที่ยังคงอยู่ภายในตัวเราและไม่สมควรมีใครมาพรากไปจากเรา พร้อมด้วยงานศิลปะจากหลายศิลปินทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่สะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชน เช่น Headache Stencil ศิลปินกราฟฟิตี้ที่โด่งดังจากผลงานเสือดำไร้เสียงและนาฬิกาป้อม

amnesty06.jpg

แม้ว่าสถานการณ์จะดูมืดหม่น แต่นิทรรศการนี้ก็ยังมอบประกายแห่งความหวังให้ในปลายทาง ด้วยกรณีการรณรงค์เรียกร้องสิทธิมนุษยชนที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ดังเช่นกรณีของฮาคีม อัล-อาไรบี นักฟุตบอลสัญชาติบาห์เรน ที่พ้นจากการถูกส่งตัวกลับประเทศและลี้ภัยไปยังออสเตรเลียได้สำเร็จ อีกทั้งเราทุกคนยังสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแสงแห่งความหวังได้ ด้วยการลงนามรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนได้ในสามกรณี 3 กรณี ได้แก่ การเรียกร้องให้ฮ่องกงคืนอิสรภาพให้แกนนำผู้ชุมนุมในขบวนการร่ม ลงชื่อต่อต้านการบังคับคลุมฮิญาบในอิหร่าน และกดดันรัฐบาลไทยให้ยุติการฟ้องหมิ่นประมาทเพื่อปิดปากผู้เห็นต่าง โดยทางแอมเนสตี้ ประเทศไทย จะประสานงานกับแอมเนสตี้ในประเทศต่างๆ และรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรณรงค์กดดันให้ยุติการริดรอนสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างไม่เป็นธรรม

be the light.jpg

นอกจากนี้ ในแต่ละวันยังมีกิจกรรมอื่นๆ ทั้ง ศิลปะการแสดง (performance arts) งานเสวนา การแสดงดนตรี และการฉายภาพยนตร์ ตลอดทั้ง 9 วันตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม - 2 มิถุนายนนี้ ณ Whiteline สีลมซอย 8 กรุงเทพฯ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง เว็บไซต์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย