ไม่พบผลการค้นหา
ก.ล.ต.เตรียมจัดหลักสูตรอบรม-สร้างความเข้าใจให้บริษัทจดทะเบียน-ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน ตาม "แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน" พร้อมกำหนดให้ บจ.เปิดเผยข้อมูลรายงานด้านสิทธิมนุษยชนในรายงานประจำปีตั้งแต่รอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2564 ธุรกิจใหม่เข้าตลาดหุ้นต้องเปิดเผยข้อมูลในแบบแสดงรายการหรือไฟลิ่งตั้งแต่ปี 2565

เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เผยแพร่บทความเรื่อง ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยฝ่ายส่งเสริมธรรมาภิบาลและความยั่งยืน ก.ล.ต. ระบุว่า พอล โพลแมน อดีตซีอีโอ บริษัทยูนิลีเวอร์ ได้กล่าวว่า "สิทธิมนุษยชนเป็นรากฐานสำคัญของสังคมที่เข้มแข็งและธุรกิจที่ยั่งยืน" ซึ่งนอกจากการประชุมชั้นนำในเวทีระหว่างประเทศแล้ว แม้แต่สุนทรพจน์ในงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ระดับโลกอย่างออสการ์ยังต้องกล่าวถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน จนกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบธุรกิจ

มิเช่นนั้นผู้ลงทุนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ย่อมพากันเมินหน้าหนี เห็นได้จากตัวอย่างในหลายประเทศ กิจการที่เอาเปรียบด้านแรงงาน หรือปล่อยของเสียจากการผลิตสู่พื้นที่ชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม ล้วนได้รับผลกระทบย้อนกลับหลายด้าน เช่น ถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้า ราคาหุ้นตก ผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นลดลง และต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น

ล่าสุดตามที่ปรากกฎข่าวในสื่อเร็ว ๆ นี้ สหประชาชาติ (UN) เปิดเผยรายชื่อ 112 บริษัท ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจผิดกฎหมายในที่ตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์ และทำให้เกิดข้อวิตกกังวลด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจตกเป็นเป้าหมายการถูกคว่ำบาตรและถูกถอนการลงทุนได้

ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย นับว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้นในส่วนของภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan: NAP) เมื่อปลายปี 2562 โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะหน่วยงานกำกับและพัฒนาตลาดทุน ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนตามกรอบ NAP ที่จะส่งเสริมและผลักดันให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) และผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Guideline Principles on Business and Human Rights: UNGPs) มาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมมิติด้านแรงงาน การลงทุนต่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ รวมทั้งสามารถนำกระบวนการในการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) ไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงขององค์กรได้

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต. ปักหมุดขับเคลื่อนตาม NAP โดยผนวกเป็นส่วนหนึ่งของแผนขับเคลื่อนตลาดทุนไทยผ่านการบูรณาการและร่วมดำเนินการกับพันธมิตรในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ผ่านกลไกต่าง ๆ ตั้งแต่การสร้างความตระหนักและการให้ความรู้ ควบคู่กับมาตรการผลักดันด้านการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ บจ. ที่ปัจจุบันมีกว่า 700 แห่ง ดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน สามารถเชื่อมโยงระหว่างบริษัทกับห่วงโซ่การผลิต และดูแลผลกระทบจากการดำเนินโครงการหรือการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความโปร่งใสในการจัดการธุรกิจที่ยั่งยืน

สำหรับ ในปีนี้ ก.ล.ต. วางเป้าหมายจัดหลักสูตรอบรมสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและ HRDD ให้กับ บจ. ทุกแห่ง อย่างต่อเนื่องโดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนนักวิชาการ อีกทั้งบรรจุประเด็นการเปิดเผยเรื่องดังกล่าวในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (One report) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายองค์กรและการปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยจะมีผลตั้งแต่รอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 ส่วนบริษัทที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จะเริ่มเปิดเผยในแบบ filing ตั้งแต่ปี 2565 และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน เพื่อให้นำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์การลงทุน และตอบโจทย์เป้าหมายสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน รวมถึงการเดินหน้าสร้างการมีส่วนร่วมจากนานาประเทศให้เกิดการรับรู้ในเรื่องดังกล่าว ผ่านการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเวทีระหว่างประเทศ และการเผยแพร่การดำเนินงาน ที่จะเสริมสร้างความเชื่อมั่นผู้ลงทุนต่อตลาดทุนไทยและดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยต่อไป