ไม่พบผลการค้นหา
“พิชัย” เตือน “ประยุทธ์” พ.ร.ก. 5 แสนล้าน ผิดวินัยการเงินการคลัง จี้ ตอบ 10 คำถามเรื่อง พ.ร.ก. ห่วง แอบซุกงบกองทัพ แนะ อย่าคิดแต่กู้จนหนี้ท่วม ต้องคิดวิธีหาเงินใช้หนี้ด้วย

พิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนำ พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาทเข้าสภาฯ เพื่อพิจารณาในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นการสร้างหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีกอย่างมาก หลังจากที่รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทไปแล้ว แต่ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เศรษฐกิจไทยยังคงทรุดหนัก โดยไตรมาสแรกยังคงติดลบถึง - 2.6% อีกทั้งการใช้เงินนอกงบประมาณแบบนี้ จะตรวจสอบได้ยาก เปิดโอกาสให้มีการทุจริตคอรัปชั่นกันได้สูง  


กระตุ้นเศรษฐกิจไร้ผล

ยกตัวอย่างเช่นการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านที่ผ่านมามีการกำหนดว่าจะใช้เยียวยา 550,000 ล้านบาท ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท และ ใช้สำหรับสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า สุดท้ายกลายเป็นการใช้จ่ายเพื่อการเยียวยาเกือบทั้งหมด การกระตุ้นเศรษฐกิจแทบไม่มีผลอะไรเลย และมีการใช้เงินด้านสาธารณสุข 45,000 บาท แต่กลับไม่มีวัคซีนเพียงพอที่จะใช้กระจายการฉีดให้กับประชาชนจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังไม่มีวัคซีนให้ประชาชนสามารถเลือกได้

นอกจากนี้การใช้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 6% กว่าของจีดีพี แต่กลับเพิ่มจีดีพีได้เพียง 2% เท่านั้นตามการประเมินของสภาพัฒน์ ซึ่งแสดงถึงการใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพและอาจจะมีการทุจริตคอรัปชั่นเพราะรัฐบาลยังไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดของการใช้เงิน 1 ล้านล้านบาทให้ประชาชนได้ทราบเลย ซึ่งต้องอธิบายว่าทำไมจ่ายเงินมากขนาดนั้นแล้ว รัฐบาลยังบริหารล้มเหลวทั้งเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน การความคุมการระบาดของไวรัสโควิด และ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล้มเหลวอย่างหนักในเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนยังลำบากกันอย่างมากทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ ขนาดเรื่องจัดการวัคซีนซึ่งเป็นเรื่องที่ง่ายๆ แค่การจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพหลายยี่ห้อ และพยายามกระจายการฉีดให้มากและเร็วที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ยังบริหารได้อย่างล้มเหลวแบบเละเทะ แล้วการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ยุ่งยากและซับซ้อนกว่ามาก พล.อ.ประยุทธ์จะเอาปัญญาที่ไหนมาแก้ไขได้ เศรษฐกิจไทยจึงมีแต่จะหักหัวทรุดลงไปเรื่อยๆ จนคนบ่นเรื่องความลำบากกันหนาหูมากขึ้น


10 คำถามคาใจขอคำตอบ

ดังนั้น การที่รัฐบาลจะออก พ.ร.ก. เงินกู้ เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท โดย พ.ร.ก.ฉบับนี้เป็นการเขียนไว้กว้างๆ โดยเอาไปใช้ด้านสาธารณสุข 3 หมื่นล้านบาท เยียวยาประชาชน 3 แสนล้านบาท ใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.7 แสนล้านบาท แต่ไม่มีรายละเอียดอะไรเลยว่าเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ตอบ 10 คำถามคาใจดังนี้

1. การออก พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้าน จะผิดวินัยการเงินการคลังและผิดกฏหมายหรือไม่ เพราะการใช้เงินอีก 5 แสนล้านบาทดังกล่าวจะทำให้หนี้สาธารณะของไทยพุ่งทะลุเกินเพดาน 60% ของจีดีพี ตามที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะชี้แจงเองว่าถ้าใช้เพียง 1 แสนล้านบาทของการกู้ 5 แสนล้านบาทนี้ ร่วมกับการกู้ในส่วนที่เหลือของการกู้ 1 ล้านล้านบาทเดิม จะทำให้ให้หนี้สาธารณะพุ่งถึง 58.56% 

ดังนั้นถ้าใช้ครบ 5 แสนล้าน จะทะลุเกิน 60 % อย่างแน่นนอน ทั้งนี้ยังไม่รวมเงินกู้ชดเชยงบประมาณรายจ่ายปี 2565 อีก 7 แสนล้านบาท และ การเก็บรายได้ที่จะพลาดเป้าในปีนี้อีกประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมแล้วหนี้สาธารณะจะทะลุเกินเพดาน 60% ไปอย่างมาก และจะผิดระเบียบวินัยการเงินการคลังแน่นอน และน่าจะผิดกฎหมายด้วย 

2. การออก พ.ร.ก. เงินกู้อีก 5 แสนล้านนี้จะยิ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลจะกู้เงินมาใช้มากกว่าการลงทุนเพิ่มมากขึ้นไปอีกใช่หรือไม่ เพราะในงบประมาณปี 65 มีการกู้ 7 แสนล้านบาท แต่ลงทุนเพียง 6.24 แสนล้านบาท การกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการกู้มาใช้เกือบทั้งหมด ยิ่งจะตอกย้ำสิ่งที่นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ได้เตือนไว้แล้วว่าจะเสี่ยงล้มกันทั้งประเทศ ซึ่งจะทำให้ยิ่งเสี่ยงล้มกันทั้งประเทศเพิ่มขึ้นไปอีกใช่ไหม 

3. การออก พ.ร.ก. เงินกู้อีก 5 แสนล้านบาทนี้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คลัง บอกว่าจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นอีก 1.5%-2.5% ซึ่งจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อคราวที่แล้วใช้ไป 1 ล้านล้านบาทยังช่วยได้เพียง 2% เท่านั้น อีกทั้ง 5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 3% ของจีดีพี แต่ทำไมจีดีพีถึงเพิ่มได้น้อยกว่า แล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยบอกว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายได้ 4% ขนาดยังไม่ต้องกู้ 5 แสนล้านบาท หายไปไหนแล้ว แสดงถึงความล้มเหลวซ้ำซ้อนของรัฐบาลใช่หรือไม่ 

4. การออก พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่ลดลงมาจากเดิมที่จะตั้งใจกู้ 7 แสนล้านบาทตามที่ ครม. ได้อนุมัติแล้ว อยากทราบว่าได้ตัดการใช้จ่ายเรื่องใดออกไปบ้างและทำไมถึงตัด หรือไม่ได้มีแผนงานแต่แรกแต่กู้ไว้ก่อนแล้วค่อยมาคิด จึงสามารถลดได้ตามชอบใจใช่หรือไม่ ? 

5. อยากถามว่ายังมีงบของกระทรวงกลาโหมแอบซุกใน พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนี้อีกหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวการจัดสรร 387 ล้านบาทให้กองทัพ และ การจัดสรรงบ 16,000 ล้านบาทให้ กองทัพเรือ ซึ่งไม่น่าจะใช่วัตถุประสงค์ของการกู้ครั้งนี้ 

6. การออก พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท จะมีการกำหนดกรอบการใช้ให้ชัดเจนได้หรือไม่ เพื่อให้ใช้เงินที่กู้มาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อป้องกันการทุจริต ไม่ใช่เป็นการตีเช็คเปล่าเหมือนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ อีกทั้งจะมีแนวทางในการตรวจสอบทุจริตได้อย่างไร ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ล้มเหลวเหมือน การใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านมา

7. การใช้จ่ายสาธารณสุข 30,000 ล้านบาท จะมีการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนอย่างเพียงพอหรือไม่ มีวัคซีนให้ประชาชนเลือกหรือไม่ และจะมีการกระจายการฉีดให้ทั่วถึง จนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทันภายในสิ้นปีได้หรือไม่ ซึ่งต้องฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี ซึ่งหากดูประสิทธิภาพการทำงานของพลเอกประยุทธ์ที่ผ่านมา เชื่อได้ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

8. การใช้ 3 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยา จะมีการเยียวยาอย่างไร โดยการเยียวยาที่ผ่านมาช่วยประชาชนที่ลำบากได้น้อยมาก มีการแจกแบบกระจัดกระจาย เหตุใดไม่รวมกับเงินที่เหลือ 3.8 แปดแสนล้านบาทในครั้งแรก แล้วจ่ายเดือนละ 5000 บาท 3 เดือนตั้งแต่แรก หรือ เพราะไม่ได้มีการคิดวางแผนกันไว้ก่อนล่วงหน้าเลย คิดแต่จะแจกสะเปะสะปะเท่านั้น ใช่หรือไม่ 

9. การกระตุ้นเศรษฐกิจ 170,000 ล้านบาท จะนำไปใช้ในด้านใดบ้าง จะทำตามแบบเดิมในการกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ล้มเหลวหรือไม่ ที่ใช้แล้วไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เลย เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เช่น นำไปเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกพืช ฯลฯ ซึ่งกรอบคิดเล็กเกินไปที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้ 

10. รัฐบาลมีแนวทางในการใช้หนี้ หรือ ลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีได้อย่างไร เพราะรายได้ของรัฐมีเพียง 15% ของจีดีพีเท่านั้นและสัดส่วนอาจลดต่ำลงอีก ซึ่งเมื่อมีหนี้มากๆแต่รายได้ต่ำจะมีปัญหาในการชำระหนี้ อีกทั้งดอกเบี้ยอาจจะต้องจ่ายสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อของโลกอีก ทั้งนี้อาจจะเพราะไม่ได้คิด เพราะคิดแต่จะกู้ไปเรื่อยๆจนหนี้ท่วมประเทศ ใช่หรือไม่ 


สร้างหนี้จนท่วม
379429.jpg

รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุอีกว่านี่เป็น 10 คำถามพื้นฐานที่ประชาชนอยากทราบ และอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ตอบให้ชัดเจน เพราะเท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเหมือนประเทศไม่มีแนวทางหาเงิน เพื่อที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้เลย ได้แต่จะกู้เงินเพื่อใช้ไปวันๆเท่านั้น ทั้งนี้ห่วงว่าและรัฐบาลจะก่อหนี้จนล้นเกิน ไม่อยากคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ตั้งใจสร้างหนี้จนท่วม

เพราะห่วงว่ารัฐบาลในอนาคตจะฟื้นเศรษฐกิจได้ดีกว่าที่พวกตนบริหารอยู่ใช่หรือไม่ หรือเพราะกลัวพี่โทนี่จะฟื้นเศรษฐกิจได้จริงใน 6 เดือน ซึ่งหากยังสร้างหนี้เพิ่มไม่หยุดแต่ไม่รู้จักวิธีหารายได้ จะทำให้ประเทศไทยเสียหายและเสื่อมถอยไปอีกนาน ประชาชนจะยิ่งลำบากกันมากจนจะทนกันไม่ไหว


ห่วง รบ.จัดแผน 'กู้เงิน' ไม่เกิดประโยชน์

อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี รัฐบาลจะนำ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯในวันที่ 9 มิ.ย. ว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่ปรับลดจาก 7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 3 แผนงาน คือ 1. แผนงานแก้ไขปัญหาการระบาดละลอกใหม่ 30,000 ล้านบาท 2.แผนงานช่วยเหลือเยียวยาหรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ 300,000 ล้านบาท และ 3. แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 170,000 ล้าน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ไม่ต่างจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลนำมาใช้ในปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้มีการสรุปการดำเนินการเพื่อรายงานให้กับประชาชนได้รับทราบ 

รัฐบาลต้องวิเคราะห์ว่า มีปัญหาอะไรที่ควรป้องกันไม่ให้มาเกิดซ้ำกับ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ตั้งแต่ใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทล่าช้า ใช้ไม่หมด ส่วนที่ใช้ไปไม่ได้แก้ปัญหาตามเป้าหมายที่กำหนด ไม่สามารถป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัญหาการจัดหาวัคซีนล่าช้า วัคซีนไม่เพียงพอต่อความต้องการ การเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์รองรับผู้ป่วยล่าช้าไม่ทั่วถึง การพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมไม่เกิดผลสำเร็จ เพราะโครงการที่นำเสนอไม่ได้ทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริง ทั้งภาคการท่องเที่ยว การเยียวยาช่วยเหลือประชาชน การฟื้นฟูเยียวยาผู้ประกอบการที่เดือดร้อน 

 “โอกาสที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะกู้ครั้งที่ 3 คงยากแล้ว เพราะเงินกู้เต็มวงเงิน 60% ของจีดีพีประเทศ รัฐบาลล้มเหลวจนกองเชียร์ชุดสุดท้ายยังตีจาก มีโอกาสที่จะกลับบ้านแบบโดดเดี่ยว จึงต้องใช้เงินกู้ครั้งสุดท้ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด” อนุสรณ์ กล่าว 


จี้ รัฐบาล หยุดลับลวงพราง สร้างความหวังปชช.จะได้ฉีดวัคซีน 

อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี แผนบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลที่ล้มเหลวสร้างความสับสนให้กับประชาชน รัฐบาลลับลวงพรางสร้างความคาดหวังให้กับประชาชนว่า จะได้ฉีดวัคซีนแต่สุดท้ายก็ไม่สามารถบริหารจัดการให้สำเร็จตามที่ประกาศได้ ดีเดย์ 7 มิถุนายน ที่จะลุยฉีดวัคซีนปูพรมทั่วประเทศ ให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย 65 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564 น่าจะเป็นไปได้ยากสัญญาการส่งมอบที่ทำไว้แอสตราเซเนกา จะส่งให้ประเทศไทยเดือนละ 6 ล้านโดส 10 ล้านโดส

แต่ลอตแรกมาแค่ 1.8 ล้านโดส ยังขาดอีกกว่า 4 ล้านโดส ต้องนำเข้าวัคซีนซิโนแวคมาเพิ่มจำนวน 11 ล้านโดส วัคซีนซิโนแวคจึงกลายเป็นตัวหลักแทนม้าเต็งอย่างแอสตราเซเนกา ผลักภาระให้โรงพยาบาลต้องไปแก้ปัญหาหน้างานกันเอาเอง โรงพยาบาลหลักในจังหวัดต่างๆ อาทิ ลำปาง เชียงใหม่ อุบลราชธานี นครปฐม และอีกหลายจังหวัด จึงแจ้งเลื่อนการฉีดวัคซีนเข็มแรกออกไปแบบไม่มีกำหนด วัคซีนดีเลย์ เกิดจากจำนวนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลางมีแค่ไม่กี่พันโดส 

ขนาดประกาศให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ยังแกว่งขนาดนี้ โอกาสที่จะทันตามโปรแกรมที่รัฐบาลประกาศฉีดวัคซีนให้คนไทยครบ 70 เปอร์เซ็นต์ของ 65 ล้านคน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จึงเป็นไปได้ยาก รัฐบาลต้องไม่ปล่อยให้มีการใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือในการหาเสียงของนักการเมืองบางพรรค ที่เปิดลงทะเบียนวัคซีนแก่หัวคะแนนของตนเองโดยอ้างว่าเป็นโควต้าพิเศษ เกิดการลัดคิวฉีดวัคซีนเพื่อหวังผลสร้างคะแนนนิยมหรือไม่ ทั้งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้วัคซีนกระจายได้มากที่สุด แต่กลับเอาชีวิตคนมาเล่นกับการเมือง

“รัฐบาลเขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ แต่ตอบไม่ได้ว่าประชาชนจะได้ฉีดวัคซีนครบเมื่อไหร่ จะเยียวยาอย่างไรจะนำไปสู่การปลดล็อคเมื่อไหร่ ผลักภาระให้แต่ละจังหวัดที่ขาดแคลนวัคซีนแก้ปัญหากันเอาเอง แผนบริหารจัดการวัคซีนต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้และสื่อสารกับประชาชนอย่างจริงใจตรงไปตรงมา” อนุสรณ์กล่าว