ไม่พบผลการค้นหา
เปิดผลสำรวจพบทั่วประเทศสวมหมวกกันน็อกไม่ถึงร้อยละ50 โดยเฉพาะเด็กสวมหมวกเพียงร้อยละ 8 ขณะที่เมืองหลวง กทม. ต้นแบบ 'สวมหมวกนิรภัยร้อยเปอร์เซ็นต์' สวมหมวกสูงถึงร้อยละ 85 เหตุบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด แนะทำให้ทุกคนตระหนักความสำคัญในการรักษาชีวิตของตัวเองแก้ปัญหายั่งยืน

นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพคนที่ 2 เปิดเผยว่าผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยปี 2561 โดยมูลนิธิไทยโรดส์และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนโดยการสนับสนุนของ สสส. ทั้งนี้ ฐานข้อมูลการสวมหมวกนิรภัยซึ่งเป็นฐานเดียวของประเทศเก็บมาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบรวมกว่า 9 ปี มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในจังหวัดต่างๆ ทุกภูมิภาคของประเทศไทยสามารถนำไปใช้อ้างอิงเป็นฐานข้อมูลสำหรับการติดตามประเมินผลการดำเนินมาตรการต่างๆที่มุ่งเน้นให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์สวมใส่หมวกนิรภัยมากยิ่งขึ้นทั้งในแง่ของการบังคับใช้กฎหมายการประชาสัมพันธ์รณรงค์และอื่นๆ

F4FE4002-5562-4532-8D19-25537E8C18B2.jpeg

นพ.วีระพันธ์กล่าวว่า การสูญเสียอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยในแต่ละปีนั้นส่วนหนึ่งเป็นการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ศีรษะของผู้ใช้รถจักรยานยนต์หมวกนิรภัยเป็นอุปกรณ์เดียวที่จะช่วยป้องกันและลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บที่ศีรษะของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในขณะที่ประสบอุบัติเหตุแม้ว่าในปี 2554 รัฐบาลได้กำหนดให้เป็น “ปีแห่งการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย100%” แต่ผลการสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งประเทศยังคงมีแนวโน้มคงที่ไม่ถึงร้อยละ 50 อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนด้วยกัน

63EF947D-0D38-400B-9938-6F47820C3C1F.jpeg

ด้านนายณัฐพงศ์ บุญตอบกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิไทยโรดส์กล่าวว่าการสำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์จำนวน 1,529,808 คน ทั้งในเขตเทศบาลนครเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบลครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย พบว่าภาพรวมผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย สวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 45 แบ่งเป็นผู้ขับขี่และผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 52 และร้อยละ 22 ตามลำดับจังหวัดที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยสูงสุดของแต่ละภูมิภาคเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (ปี2559-2561) ได้แก่ ภาคเหนือจ.เชียงใหม่ (ร้อยละ53) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สุรินทร์ (ร้อยละ46) ภาคกลางและตะวันออก (ไม่รวม กทม.) จ.นนทบุรี (ร้อยละ 59) และภาคใต้ จ.ภูเก็ต (ร้อยละ61) 

นอกจากนี้ จังหวัดที่มีพัฒนาการของอัตราการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นดีเด่น (3 ปีย้อนหลัง) ในเขตชุมชนเมืองได้แก่ภาคเหนือ จ.แพร่ (ร้อยละ 69) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองบัวลำภู (ร้อยละ 66) ภาคกลางและภาคตะวันออก จ.ระยอง (ร้อยละ 56) และภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช (ร้อยละ 75) และจังหวัดที่มีพัฒนาการของอัตราการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นดีเด่น (3 ปีย้อนหลัง) ในเขตชุมชนชนบท ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ (ร้อยละ 56) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สุรินทร์ (ร้อยละ 41) ภาคกลางและภาคตะวันออก จ.สระบุรี (ร้อยละ 45) และภาคใต้ จ.ภูเก็ต (ร้อยละ 50) และอัตราการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มผู้โดยสารสูงสุดปี 2561 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 55)

เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุรวมผู้ขับขี่และผู้โดยสารพบว่ากลุ่มผู้ใหญ่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 48 กลุ่มวัยรุ่นร้อยละ 22 และกลุ่มเด็ก เฉพาะผู้โดยสารมีการสวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบบริบทพื้นที่การสำรวจพบว่าอัตราสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารในเขตเมืองใหญ่ร้อยละ 78 เขตเมืองรองร้อยละ 45 และเขตชุมชนชนบทเพียงร้อยละ 31 เท่านั้น 

ขณะที่กรุงเทพมหานครเมืองขนาดใหญ่และมีความเข้มงวดในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้วกองบัญชาการตำรวจนครบาลสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับภาคีต่างๆ ได้ประกาศนโยบาย “กรุงเทพมหานครเมืองต้นแบบสวมหมวกนิรภัย100%” และดำเนินการตลอดปี 2561 ส่งผลให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพฯ สวมหมวกนิรภัยสูงถึงร้อยละ 85 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้โดยสารที่มีการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 39 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 55 ในปี 2561 สูงที่สุดในประเทศ โดยเชื่อว่าเป็นผลมาจากการบังคับใช้ข้อกฎหมายที่เอาจริงพบว่าในเขตธนบุรีมีผู้โดยสารสวมหมวกกันน็อคถึงร้อยละ 99

237E27FA-BB44-451A-8AA7-05D8EA7943DD.jpeg

จากนั้นเป็นการเสวนาเรื่องมุมมองและทิศทางในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยโดยนางรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าที่ผ่านมา สสส.ได้ทำงานทั้งภาควิชาการและภาคประชาสังคมซึ่งความร่วมมือจากหลายฝ่ายนำมาสู่การแก้ไขปัญหาเมื่อมีพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จเชื่อว่าจะสามารถขยายลงสู่พื้นที่อื่นๆ ได้และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด ทั้งนี้การมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนทำให้การแก้ไขปัญหาได้ชัดขึ้น 

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธานแผนงาน สอจร. กล่าวว่าจากผลสำรวจหลายประเทศพบว่าหากการรณรงค์ให้ประชาชนสวมหมวกกันน็อกได้เป็นอย่างดีแล้ว สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุได้ส่วนสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จต้องมีเครือข่ายทั้งในท้องถิ่นและภาคเอกชนจะทำให้เกิดวัฒนธรรมทำตามอย่างกันเพราะแต่ละฝ่ายจะไม่ยอมเสียหน้า   

พ.ต.อ.สรัลพัฒน์ ยศสมบัติ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง กล่าวว่าระยองมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในจังหวัด จึงร่วมกันสร้างภาคีเครือข่ายและมองเห็นว่าการสวมหมวกกันน็อกเป็นเรื่องที่ช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้เนื่องจากมีผู้ขับขี่จำนวนมากเมื่อภาครัฐและเอกชนภาคีเครื่องข่ายร่วมกันรณรงค์ให้แต่ละสถานีตำรวจภูธรเลือกหนึ่งหมู่บ้านตั้งเป้าหมายให้ประชาชนสวมหมวกกันน็อกให้ได้ร้อยละ 90 ปรากฎว่าทำได้ตามเป้าหมายเพียง 3 หมู่บ้านจาก 16 หมู่บ้านจึงได้เร่งสร้างการรับรู้และใช้มาตรการทางสังคมและมาตรการองค์กรขอความร่วมมือทำให้เพิ่มการสวมหมวกกันน็อกเพิ่มขึ้นมาได้

ทั้งนี้เรื่องการสวมหมวกกันน็อกยังเป็นเรื่องของกฎหมายต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญว่าการใส่หมวกกันน็อกเพื่อรักษาชีวิตตัวเองพร้อมเสนอให้การต่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ให้ตรวจสอบว่าเจ้าของรถมีหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานด้วยเชื่อว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างยังยืน

พล.ต.ต.จิรสันต์แก้วแสงเอกรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวว่าในเขต กทม. ตำรวจได้บังคับใช้กฎหมายและทำควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกโดยเริ่มรณรงค์ก่อนบังคับใช้กฎหมายทั้งการสร้างการรับรู้ว่ากทม.มีนโยบายให้สวมหมวกกันน็อกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องยอมรับว่าตำรวจไม่สามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจจับผู้ที่ไม่สวมหมวกกันน็อก ซึ่งพบว่าได้ผลดี แม้จะยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ และมีแรงต้านจากผู้ขับขี่บ้าง แต่เมื่อทำความเข้าใจแล้วพบว่าเข้าใจมากขึ้น

ส่วนผู้โดยสารที่ไม่ยอมสวมหมวกเพราะคิดว่าหมวกไม่สะอาดได้พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ที่จะให้ผู้โดยสารตระหนักถึงความปลอดภัยโดยยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก