ไม่พบผลการค้นหา
กระแสแฮชแท็ก #SaveThailand แซงหน้า #SaveHakeem และ #BoycottThailand แฉ 'หมายแดงอินเตอร์โพล' นำสู่การจับกุม 'ฮาคีม อัล-อาไรบี' นักเตะผู้ลี้ภัย ต้นตอมาจาก 'ออสเตรเลีย' ขณะที่ทนายฮาคีมยืนยันหมายแดงถูกเพิกถอนแล้ว แต่ไทยจับตัวฮาคีมตาม 'คำร้องของรัฐบาลบาห์เรน'

ผู้ใช้ทวิตเตอร์และเพจเฟซบุ๊กในไทยพร้อมใจติดแฮชแท็ก #SaveThailand (ปกป้องประเทศไทย) เพื่อตอบโต้แฮชแท็ก #SaveHakeem (ปกป้องฮาคีม) ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้ไทยปล่อยตัว 'ฮาคีม อัล-อาไรบี' นักฟุตบอลผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรน รวมถึงแฮชแท็ก #BoycottThailand ที่มีผู้รณรงค์ให้คว่ำบาตรไทย ในฐานะที่กักขังและเตรียมดำเนินการส่งตัวฮาคีมกลับไปยังบาห์เรน ซึ่งเป็นแฮชแท็กยอดนิยมในทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา เพราะเป็นวันที่ 'ฮาคีม' ถูกเบิกตัวขึ้นศาลอาญารัชดา

แฮชแท็ก #SaveThailand กลายเป็นกระแสยอดนิยมอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ของไทยช่วงหนึ่ง เมื่อบ่ายวันนี้ (5 ก.พ. 2562) และมีการเผยแพร่ข่าวของ เว็บไซต์เดอะการ์เดียน ซึ่งระบุว่ากระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลียยืนยันเองว่า 'หมายแดง' ที่นำไปสู่การจับกุมฮาคีม เป็นเอกสารที่ออกจากอินเตอร์โพลออสเตรเลีย และทางการไทยกักตัวฮาคีมซึ่งเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 ตามหมายแดงดังกล่าว ก่อนที่หมายแดงจะถูกยกเลิกไป แต่ไทยกลับเป็น 'ผู้ได้รับผลกระทบ' เพราะเกิดกระแสคว่ำบาตรไทย #BoycottThailand 

ผู้ติดแฮชแท็ก #SaveThailand จำนวนมาก ระบุว่าผู้เรียกร้องปล่อยตัวฮาคีมจะต้อง 'เคารพประเทศไทย' พร้อมย้ำว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งระหว่างออสเตรเลียกับบาห์เรน แต่ไทยตกอยู่ตรงกลาง ทั้งยังถูกโจมตีจากนานาประเทศ ผู้ติดแฮชแท็กนี้จึงต้องการส่งต่อข้อมูลอีกด้านแก่ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายอื่นๆ ในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประเทศไทย

  • เพจ Drama-addict เรียกร้องทางการออสเตรเลียชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีหมายแดง

ขณะเดียวกัน ผู้ดูแลเฟซบุ๊กเพจ Drama-addict ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ติดตามมากเป็นอันดับต้นๆ ของไทย เผยแพร่ข้อความว่า สถานทูตออสเตรเลียในประเทศไทย 'บอกไม่ครบ' กรณีฮาคีม และย้ำว่าผู้แจ้งทางการไทยเรื่องฮาคีม คือ อินเตอร์โพลออสเตรเลีย แต่เมื่อรู้ว่าออกหมายผิดพลาดจึงถอนหมาย หลังจากที่เจ้าหน้าที่ในไทยดำเนินการตามที่อินเตอร์โพลออสเตรเลียแจ้งมา แม้ว่าสำนักข่าวต่างประเทศอย่าง 'เดอะการ์เดียน' พยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ออสเตรเลียว่าใครเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบเหตุการณ์นี้ ทางฝั่งออสเตรเลียกลับเงียบเฉย


"การ์เดี้ยนพยายามติดต่อสอบถาม จนท ออส ว่าใครเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบเหตุการณ์นี้ทางฝั่งออส ก็เห็นเงียบกริ๊บ จนป่านนี้ยังไม่แถลงสื่อเลยว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นมันพังขนาดนี้เพราะใครเป็นต้นเหตุ" เพจ Drama-addict ระบุ

'วอยซ์ออนไลน์' จึงสอบถามเพิ่มเติมไปยัง 'เจมส์ แฟตส์' ผู้จัดการฝ่ายสื่อของสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำกรุงเทพฯ (Public Diplomacy Manager for Australian Embassy Bangkok) ผู้เผยแพร่แถลงการณ์ของออสเตรเลียกรณีฮาคีมต่อสื่อมวลชนไทยเมื่อวานนี้ (4 ก.พ.) ได้รับคำตอบว่า สถานทูตฯ ไม่อาจชี้แจงกรณีที่มาหมายแดงของอินเตอร์โพลในออสเตรเลียได้ เพราะการออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของสถานทูต


หมายแดงอินเตอร์โพล 'ต้นตอ' จับกุม 'ฮาคีม' 

ก่อนหน้านี้ 'วอยซ์ออนไลน์' เผยแพร่รายงาน หมายแดงอินเตอร์โพลที่หายไปของ 'นักบอลผู้ลี้ภัย' และ 'บอส-ทายาทกระทิงแดง' ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 2561 โดยเป็นการตั้งคำถามถึง 'กระบวนการออกหมายแดงของอินเตอร์โพล' ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และอ้างอิงข้อมูลจาก Foreign Policy สื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีหลักฐานบ่งชี้ว่า การออกหมายแดงของอินเตอร์โพลมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

AFP-Interpol-อินเตอร์โพล-อินเทอร์โพล-องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ.jpg

Foreign Policy เปรียบเทียบสถิติหมายแดง 1,418 หมายในปี 2544 กับหมายแดง 13,048 หมายซึ่งออกในปี 2560 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระบวนการยื่นเรื่องและประสานงานระหว่างอินเตอร์โพลในแต่ละประเทศที่สะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ แต่ในขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เป็นสมาชิกอินเตอร์โพลก็ถูกรัฐบาลของตัวเองกดดันให้ออกหมายจับกุมบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์หรือผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเพิ่มขึ้น 

หมายแดงที่เป็นต้นตอการจับกุม 'ฮาคีม อัล-อาไรบี' ถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. หลังจากที่องค์กรสิทธิมนุษยชนและกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลียพยายามเคลื่อนไหวช่วยเหลือฮาคีมให้ได้รับการปล่อยตัวจากไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทยออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2561 ยืนยันว่า หมายแดงที่เป็นต้นตอจับกุมฮาคีมนั้นออกโดย 'อินเตอร์โพลออสเตรเลีย' ก่อนที่หมายจะถูกยกเลิกไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุว่า แม้ว่าหมายแดงของฮาคีมจะถูกถอนออกจากฐานข้อมูลของอินเตอร์โพลไปแล้ว แต่ไทยได้รับคำร้องขออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลบาห์เรนตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 2561 เพื่อขอให้ไทยจับกุมฮาคีม

จากนั้น สถานเอกอัครราชทูตบาห์เรนประจำประเทศไทยได้ส่งเอกสารประกอบคำร้องขอจับกุม 'ฮาคีม' ชั่วคราว ให้แก่กระทรวงการต่างประเทศของไทยในวันที่ 3 ธ.ค.2561 เอกสารทั้งหมดจึงถูกส่งไปยังสำนักอัยการสูงสุดของไทย และศาลได้อนุมัติหมายจับชั่วคราวฮาคีมเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2561 ก่อนที่เขาจะถูกย้ายตัวไปยังเรือนจำ


ถ้าหมายแดงคือ 'ความผิดพลาด' ประเทศปลายทางต้องทำอย่างไร?

แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศไทยยืนยันชัดเจนว่า หมายแดงอินเตอร์โพลถูกถอนไปหลังจากที่ฮาคีมถูกทางการไทยกักตัว แต่กระบวนการ 'ส่งผู้ร้ายข้ามแดน' ได้เริ่มขึ้นแล้วนับตั้งแต่ทางการไทยได้รับคำร้องขออย่างเป็นทางการของรัฐบาลบาห์เรนเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561

แม้ว่าไทยกับบาห์เรน 'ไม่มี' ข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน แต่ฝ่ายบาห์เรนสามารถร้องขอให้ไทยส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ซึ่งทางการไทยระบุว่า "อยู่บนพื้นฐานของหลักประติบัติต่างตอบแทนและความร่วมมือซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระหว่างประเทศ"

ณัฐาสิริ เบิร์กแมน.jpg

ขณะที่ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความที่เป็นตัวแทนฮาคีม อัล-อาไรบี เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า "หมายแดงอินเตอร์โพลไม่ใช่ข้อบังคับ แต่เป็นการขอความร่วมมือ ซึ่งทางรัฐบาลไทยจะจับหรือไม่จับก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้เมื่อรู้ว่าบุคคลนี้เป็นคนที่มีหมายจับที่ออกโดยรัฐบาลต่างประเทศก็คือ ไทยสามารถปฏิเสธไม่ให้เข้ามาในประเทศได้เลย ตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง" ส่วนกรณีของฮาคีม ฝ่ายไทยกักตัวไว้เพื่อที่จะตรวจสอบว่าเป็นบุคคลที่มีหมายจับในต่างแดนจริงหรือไม่ ซึ่งถ้าหมายแดงอินเตอร์โพลออกแล้ว ก็แสดงว่า 'มีจริง' 

เมื่อสอบถามถึง 'ข้อผิดพลาด' ในการออกหมายแดงของอินเตอร์โพล ซึ่งเป็นสาเหตุให้ฮาคีมถูกทางการไทยกักตัว ทนายความของฮาคีมระบุว่า ในแต่ละประเทศ รัฐบาลมีหน่วยงานและสำนักงานที่ทำงานรับผิดชอบในด้านต่างๆ แตกต่างกัน แต่หลายหน่วยงานอาจจะไม่ได้ประสานงานกัน และที่ผ่านมาก็เคยมีรัฐบาลหลายรัฐบาลใช้ช่องทางการออกหมายแดงเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง แต่ตอนแรกที่ออกหมายจับอินเตอร์โพล ทางการไทยไม่มีหน้าที่ต้องจับกุม เพราะเป็นเพียงการขอความร่วมมือ หรือถ้าจับกุมแล้วก็ควรจะต้องส่งกลับไปที่ออสเตรเลีย ในฐานะประเทศต้นทางที่ออกหมายจับกุม

อย่างไรก็ตาม เมื่อหมายแดงของอินเตอร์โพลออสเตรเลียถูกยกเลิก ทางการไทยดำเนินการตามกฎหมายต่อโดยอ้างอิง 'คำร้องขอจับกุมชั่วคราว' ที่ได้รับจากฝ่ายรัฐบาลบาห์เรน พร้อมทั้งเริ่มดำเนินการส่งตัวฮาคีมในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างจริงจัง

เริ่มตั้งแต่ 'มารีส เพย์น' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย เดินทางมาเยือนไทยเมื่อเดือน ม.ค. และพบกับตัวแทนรัฐบาลไทยเพื่อพูดคุยเรื่องต่างๆ รวมถึงเรียกร้องให้ไทยปล่อยตัวฮาคีม โดยยืนยันว่าเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองในออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ และออสเตรเลียพร้อมดำเนินการนำตัวฮาคีมกลับไปเมลเบิร์น ที่ซึ่งเขาพำนักอาศัยอยู่จนกระทั่งถูกจับกุมและควบคุมตัวในไทย

AFP-มารีส เพย์น รมว.ต่างประเทศออสเตรเลีย-ดอน ปรมัตถ์วินัย.jpg
  • รมว.กระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียพบ รมว.ไทยเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน สก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ส่งจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวฮาคีมโดยเร่งด่วน โดยอาศัยอำนาจบริหารที่มีอยู่ และแถลงการณ์ที่เผยแพร่โดยสถานทูตออสเตรเลียในไทยเมื่อวานนี้ (4 ก.พ.) ระบุว่า 'อัลลัน แมคคินนอน' ว่าที่เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาลไทยสั่งยุติคดีนี้ รวมถึงอนุญาตปล่อยตัวฮาคีมกลับไปพบภรรยาและครอบครัวที่ออสเตรเลีย

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า "จะไม่ก้าวล่วงขอบเขตอำนาจศาล" กระบวนการพิจารณาส่งตัวฮาคีมกลับบาห์เรนในฐานะ 'ผู้ร้ายข้ามแดน' จึงยังคงดำเนินต่อไป 


ไทยมีพันธกิจต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน

ฮาคีม อัล-อาไรบี ซึ่งมีชื่อเต็มว่า Hakeem Ali Mohamed Ali Al Oraibi เป็นอดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองและวีซ่าพำนักอาศัยถาวรในออสเตรเลียอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2560 ทั้งยังเป็นนักเตะประจำสโมสรพาสโคเวล (PVFC) ในออสเตรเลีย โดยเหตุผลที่ทำให้เขาต้องหลบหนีออกนอกประเทศบาห์เรน เป็นเพราะเขาเคยถูกจับกุม ข่มขู่ และทำร้ายร่างกายโดยทางการบาห์เรน 

ข้อมูลของรัฐบาลบาห์เรนที่อ้างต่อทางการไทย ระบุว่าฮาคีมมีความผิดข้อหาทำลายสถานที่ราชการ ในขณะที่มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ในบาห์เรนเมื่อปี 2555 แต่ฮาคีมยืนกรานปฏิเสธมาตลอด โดยระบุว่า ขณะเกิดเหตุเขากำลังแข่งขันฟุตบอลนัดที่มีการถ่ายทอดสด สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แต่เขายังคงถูกจับกุมและควบคุมตัวพร้อมกับสมาชิกครอบครัวคนอื่น ทั้งยังถูกซ้อมและข่มขู่ว่าจะไม่สามารถเล่นฟุตบอลได้อีก เมื่อได้รับการปล่อยตัว เขาจึงตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศ และศาลบาห์เรนตัดสินลงโทษจำคุกเขา 10 ปี ในข้อหาไม่ไปรายงานตัวต่อศาลเมื่อปี 2557

hakeem ฮาคีม
  • การเบิกตัวฮาคีมขึ้นศาลไทยเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ได้รับความสนใจจากตัวแทนรัฐบาลหลายประเทศ

เอเว่น โจนส์ เครือข่ายผู้ประสานงานเพื่อผู้ลี้ภัยแห่งเอเชียแปซิฟิก (APRRN) ให้สัมภาษณ์กับ 'วอยซ์ออนไลน์' ก่อนหน้านี้ว่า บาห์เรนเป็นประเทศที่รัฐมีประวัติการก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนของพลเรือน หากมีประเทศที่สามที่อนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยให้แก่ฮาคีมแล้ว ไทยต้องดำเนินการตามหลักการ 'ไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัย' ไปยังประเทศต้นทางที่หนีมา ซึ่งเรียกว่าหลักการ non-refoulement ที่ผู้นำรัฐบาลไทยให้คำรับรองกับที่ประชุมสหประชาชาติเมื่อปี 2559 ว่าจะยึดมั่นและปฏิบัติตาม

นอกจากนี้ การส่งตัวฮาคีมกลับบาห์เรนไม่ต่างจากการส่งเขากลับไปสู่อันตราย ขัดกับคำพูดที่ผู้นำรัฐบาลทหารไทยเคยให้ไว้กับประชาคมโลก และไทยยังมีพันธกิจอีกประการในฐานะประเทศภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การส่งฮาคีมกลับไปบาห์เรนทำให้เขาต้องเผชิญความเสี่ยงว่าจะถูกทรมานและทำร้ายร่างกาย หากไทยยึดมั่นในการลงนามและสัตยาบันที่เคยให้ไว้ ก็จะต้องไม่ส่งตัวฮาคีมกลับไปบาห์เรน


ทำไม 'คว่ำบาตรไทย' แต่ไม่คว่ำบาตรบาห์เรน

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยหลายรายตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงมีกระแสคว่ำบาตรไทย #BoycottThailand แทนที่จะ 'คว่ำบาตรออสเตรเลีย' ซึ่งทำผิดเรื่องการออกหมายแดงอินเตอร์โพล หรือแม้แต่ 'คว่ำบาตรบาห์เรน' ซึ่งถูกกล่าวหาว่าปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชนพลเรือนของตัวเอง แต่ในความเป็นจริง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศจำนวนมากได้ออกแถลงการณ์กดดันออสเตรเลียให้ช่วยเหลือฮาคีม และเรียกร้องรัฐบาลบาห์เรนให้ยุติการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศมาโดยตลอด

ขณะที่การเบิกตัวฮาคีมมายังศาลไทยเมื่อวันที่ 4 ก.พ. เพื่อให้การว่าจะยอมสมัครใจกลับไปบาห์เรนหรือไม่ ได้รับความสนใจจากตัวแทนทางการทูตของรัฐบาล 13 ประเทศ รวมถึงสหภาพยุโรปในไทย ตลอดจนตัวแทนสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) และสหพันธ์นักฟุตบอลอาชีพนานาชาติ (FIFPro) ที่ร่วมสังเกตการณ์ ซึ่ง 'ฟรานซิส อะวารีเทเฟ' รองประธานฟิฟโปรในออสเตรเลีย ยืนยันชัดเจนว่าองค์กรกีฬานานาชาติต้องเพิ่มแรงกดดันในการประณามทั้งบาห์เรนและไทย เพราะการส่งฮาคีมกลับบาห์เรนเพื่อไปดำเนินคดีที่ต้องสงสัยว่าเป็นคดีทางการเมือง จะทำให้เขาเสี่ยงอันตราย

นอกจากนี้ แม้รัฐบาลออสเตรเลียจะติดต่อเจรจากับบาห์เรนที่เป็นต้นตอการลี้ภัยของฮาคีม แต่ 'ประเทศไทย' เป็นผู้คุมตัวฮาคีมเอาไว้ในราชอาณาจักร จึงถือเป็น 'ผู้มีอำนาจ' ในการดำเนินเรื่องและตัดสินใจว่าจะพิจารณาส่งตัวฮาคีมกลับไปยังออสเตรเลียในฐานะผู้ลี้ภัย หรือส่งกลับไปบาห์เรนในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน

หากผู้มีอำนาจบริหารของไทยในขณะนี้สั่งระงับกระบวนการดังกล่าว โดยเคารพหลักการ 'ไม่ส่งกลับ' และหลักสิทธิมนุษยชน ยินยอมอนุญาตให้ฮาคีมเดินทางกลับออสเตรเลีย ก็จะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลาย แต่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-บาห์เรนอย่างไม่มีทางเลี่ยง หรือหากไทยส่งฮาคีมกลับไปบาห์เรน ก็จะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากประเทศพันธมิตรของออสเตรเลียและองค์กรกีฬาระหว่างประเทศ ทั้งยังขัดแย้งกับคำกล่าวของรัฐบาลทหารไทย ที่พยายามยืนยันกับประชาคมโลกมาตลอดว่า "ยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: