ไม่พบผลการค้นหา
‘เพื่อไทย’ แถลงความพร้อมซักฟอกรัฐบาลภาคสุดท้าย ฟ้องประชาชนชี้ให้เห็นความล้มเหลวการบริหาร เปิดช่่องทุจริต ปลุกประชาชนร่วมลงมติไล่ 'ประยุทธ์' ผ่านไลน์พรรคเพื่อไทย จัด 30 ชัั่วโมงถล่ม 'ประยุทธ์' คนเดียว วันแรกเน้นหนัก 'อนุทิน-ศักดิ์สยาม' ฝ่ายค้านเปิดทาง 'ธรรมนัส' ร่วมวงซักฟอก

วันที่ 18 ก.ค. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย สุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งสุดท้าย โดยนพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 19-22 ก.ค. 2565 จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล วัตถุประสงค์คือ ต้องการที่จะยุติหรือหยุดยั้งการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่เราเสนอชื่ออีก 10 คน การอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นมาตรการที่หนักที่สุดในระบอบรัฐสภา ครั้งนี้เราใช้ชื่อยุทธการว่า 'เด็ดหัว สอยนั่งร้าน' 

เพราะคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมเพื่อต้องการสืบทอดอำนาจจากการรวบรวมเอาบรรดา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลมาค้ำจุนหนุนเนื่องโดยใช้วิธีการที่บิดเบี้ยว โดยเฉพาะการทำลายระบอบประชาธิปไตย ใช้เงินสินจ้าง จนสภาฯ ได้รับการขนานนามว่า 'สภากินกล้วย' 

นพ. ชลน่าน ระบุว่า ฝ่ายค้านต้องชี้ให้เห็นว่า นั่งร้านเหล่านี้เป็นพิษเป็นภัย มันเป็นเหตุให้เราต้องทำหน้าที่นี้ มีความจำเป็นที่เราต้องเด็ดหัวออก และเอานั่งร้านออกจากการบริหารราชการแผ่นดิน แม้การลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นระบบเสียงข้างมาก การยกมือในสภาฯ นั้น ยากมากที่เราจะเอาชนะได้ เว้นแต่มีเหตุการณ์ สิ่งที่สามารถบอกกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ว่า ข้อมูล ข้อเท็จจริง หลักฐาน สามารถพิสูจน์ได้ พี่น้องประชาชนเห็นว่าเป็นจริง อาจเป็นแรงบีบให้ทางพรรคร่วมรัฐบาล หันมาลงมติไม่ไว้วางใจกับเรา 

"การอภิปรายครั้งนี้ เราเองได้เตรียมความพร้อมที่จะบอกกล่าว แฉพฤติการณ์ พฤติกรรม โดยเฉพาะความผิดพลาดล้มเหลว ส่อทุจริตเอื้อประโยชน์ ใช้งบประมาณแผ่นดิน ใช้ภาษีอากรเพื่อผลประโยชน์ เราจะนำพยานหลักฐานมาบอกแก่พี่น้องประชาชน" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว 

ชลน่าน -71BB-4519-9BF2-A973BAACD889.jpegประเสริฐ -0FD4-4F9E-B3CD-A9082EA1861B.jpeg

ด้าน ประเสริฐ ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า การอภิปรายในครั้งนี้เน้นย้ำที่ 3 ประเด็นคือ ประเด็นที่หนึ่ง พรรคให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เพราะจะส่งผลต่อพี่น้องประชาชน และอนาคตของประเทศ ชี้ให้เห็นถึงธาตุแท้ของเครือข่าย พล.อ.ประยุทธ์ ที่เชื่อมโยงกันอยู่ โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ตอนนี้รัฐบาลอยู่ช่วงปลายอายุ พรรคร่วมเกาะกินกันอย่างโจ๋งครึ่ม เพื่อหวังเป็นกระสุนดินดำในการเลือกตั้งครั้งต่อไป 

ประเด็นที่สองคือ พรรคเพื่อไทยมั่นใจในหลักฐาน หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะรวบรวมหลักฐานยื่นต่อปปช. เพื่อดำเนินการเอาผิดต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงขอเชิญชวนพี่น้องร่วมกันติดตามการอภิปราย รับฟังเสียงสะท้อนที่เป็นเสียงของพี่น้องประชาชน ในการลงมติครั้งนี้ 

ประเด็นที่สาม คือ พรรคเพื่อไทยขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย ของรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งกลไกการมีส่วนร่วมผ่านทางช่องทาง LINE OA เพื่อไทย @pheuthai โดยเปิดให้มีการลงมติ พร้อมฝากข้อความสั้นๆ ถึงคณะรัฐมนตรี เพื่อบันทึกการมีส่วนร่วมในภารกิจประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ รวมถึงฟังก์ชันเสียงประชาชน เพื่อส่งเสียงจากประชาชนไปถึงส.ส.พรรคเพื่อไทยในสภาฯ และสามคือ ฟังก์ชันการร่วมคิด นโยบายเพื่อไทย เพื่อสร้างความหวัง สร้างชีวิตใหม่ให้พี่น้องประชาชน 

สุทิน  -DDA7-4740-A3CE-5092966CE91F.jpeg

ซักฟอกวันแรกชำแหละ 'ภูมิใจไทย' วันที่สอง จัดหนัก 3 ป. ให้เวลาถล่มนายกฯ 30 ชม.

ขณะที่ สุทิน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปรัฐบาล) ให้รายละเอียดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า วันนี้มีความพร้อมสมบูรณ์ ด้วยการจัดเนื้อหา จัดบุคคลที่ลงตัว ภาพของการอภิปรายพรุ่งนี้เริ่มเวลา 08.30 น. โดยผู้นำฝ่ายค้านฯ จะอ่านแถลงญัตติ หลังจากนั้นจะเข้าสู่การอภิปรายคณะรัฐมนตรีแต่ละพรรค 

โดยวันแรกเริ่มที่พรรคภูมิใจไทย คือ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่อไปที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และไปที่ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่การกระทรวงแรงงาน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนจะจบที่ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

โดยวันที่ 2 นั้น เริ่มที่ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อที่ สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนเข้าสู่คิวพ่วงของ 3ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยเวลาการอภิปรายนายกรัฐมนตรีนั้นจะใช้เวลา 30 ชั่วโมง โดยพรรคฝ่ายค้านใช้เวลา 45 ชั่วโมง และฝ่ายรัฐบาลใช้เวลา 18 ชั่วโมง 

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า จำนวนของส.ส.ในแต่ละพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะขึ้นอภิปรายนั้น คือ เพื่อไทย 27 คน พรรคก้าวไกล 14 คน พรรคประชาชาติ 3 คน พรรคเสรีรวมไทย 3 คน พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน พรรคเพื่อชาติ 2 คน และพรรคไทยศรีวิไลย์ 1 คน 

'ธรรมนัส' ยังไม่ได้ติดต่อร่วมซักฟอก เล็งเจียดเวลาให้

ส่วนกรณีพรรคเศรษฐกิจไทย นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า  ส.ส.พะเยา จะร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วยนั้น สุทิน ระบุว่า สำหรับพรรคเศรษฐกิจไทยนั้น ยังไม่ได้ปิดทาง แต่ตอนนี้ทาง ร.อ.ธรรมนัน พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ยังไม่ได้แจ้งความจำนงค์ในการอภิปรายเข้ามา มีเพียงแค่การประสานงานที่จะร่วมงานกับทางพรรคร่วมฝ่ายค้านและ เรื่องอื่นๆ ทั่วไป 

ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจหากถ้าแจ้งมานั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านจะหารือกันว่า เนื้อหาในการอภิปรายสัมพันธ์สอดคล้องกันหรือไม่ บุคคลและเวลาใช้เท่าไหร่ หาเป้าหมายตรงกัน คงจะดูรายละเอียดและเจียดเวลามาให้ 

"หาก ร.อ. ธรรมนัส ประสานมาในเวลากระชั้นชิดมาก ก็คงจะไม่ทัน ถ้าในชั้นนี้คงดูเพียงว่าความประสงค์เป็นอย่างไร เนื้อหาเท่าไหร่ คิดว่าคงให้กันได้" สุทิน กล่าว 

ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวถึงการทำงานร่วมกันในลักษณะฝ่ายค้านว่า มี 2 ลักษณะคือ เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่มีพิธีการอะไร เพียงแต่ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะทำงานร่วมกัน และสองคือ การทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้านที่มีกิจกรรมร่วมกันเช่น พรรคไทยศิวิไลย์ ไม่ได้ประกาศตัวเป็นพรรคร่วม แต่ทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้านอิสระ แต่ก็มีกิจกรรมร่วมกันบางครั้งเช่น อภิปรายไม่ไว้วางใจ 

นพ.ชลน่าน เสริมว่า แนวทางแบบนี้พรรคเศรษฐกิจไทยเลือกแบบไหน เราไปกำหนดกฎเกณฑ์ไม่ได้ หากเขาประกาศเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็เป็นข้อพิจารณาของเขา เราเองยินดีอยู่แล้ว ที่จะรับสมาชิกทำงานตรวจสอบรัฐบาล 

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยจะจัดการกับงูเห่าอย่างไร นพ.ชลน่าน เผยว่า เขายังเป็นสมาชิกพรรค ย่อมมีหน้าที่ปฏิบัติตามแนวนโยบายของพรรค ต้องแจ้งไปในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนเมื่อมีการลงมติแล้ว ผลเป็นอย่างไร ต้องดูในรายละเอียดอีกที เขาอาจจะเปลี่ยนแปลงแนวทางจากการลงมติคงเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้เรามีกรรมการวินัยจริยธรรมเพื่อพิจารณาสอบข้อเท็จจริง ส่วนมีบทลงโทษอย่างไร เขียนไว้ตามข้อเท็จจริงอยู่แล้ว 

เพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ ไลน์ -12AC-4B13-8A90-1DFC3D3242A4.jpeg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง