ไม่พบผลการค้นหา
เข้าสู่ช่วงปลายสมัย “ตำนาน 3 ป.” ที่สร้างวีรกรรมเข้ายึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 22 พฤษภาคม 2557 ลากยาวมาจนถึงการเป็นรัฐบาลผสมกึ่งทหาร กึ่งพลเรือน

ผ่านพิธีกรรมเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ลากยาวมาจนเกิน 8 ปี กำลังจะเข้าสู่ปีที่ 9 อีกไม่ถึงปี ตำนาน 3 ป. อาจถึงเวลาอันควรที่จะต้อง “แยกกันเดิน” ทางใคร..ทางมัน 

กับข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอขา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ใส่คอนเวิร์ส แยกไปสร้างดาวคนละดวง 

พล.อ.ประยุทธ์ จะไปเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ 

ส่วนอีก ป. คือ ป.ป๊อก ก็ประกาศเตรียมนับถอยหลังลงจากการเมือง เพราะ “หมดไฟ” งานการเมือง

อีกด้านพรรคพลังประชารัฐ อันเป็นฐานกำลังสำคัญของรัฐบาลประยุทธ์ ก็กำลังปั่นป่วนภายใน ภายหลัง 2 ป. ส่งสัญญาณเดินไปคนละทาง

ประยุทธ์.jpg

สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ซึ่งวันนี้เป็นอดีตผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ คุมกำลัง ส.ส.ราว 20 คนอยู่ในมือ เตรียมสละฐานที่มั่นเดิม เดินตามหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนขุมกำลังใหญ่ 3 มิตร กลายเป็นมังกรซ่อนเล็บ รอสัญญาณเดือน ม.ค. 2566 จะไปทางไหน แต่วันนี้ไม่ยอมบอกสัญญาณ 

ว่ากันว่า ในการประชุมพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา “พล.อ.ประวิตร” ปิดห้องคุยกับ ส.ส. ใครอยู่ - ใครไป ปรากฏมี ส.ส.ราวๆ 40 คน ที่ปรากฏตัว และกลุ่มสามมิตร ก็ไม่ได้เข้าประชุมพรรค 

แน่นอน หาก พล.อ.ประยุทธ์ จะไปต่อทางการเมือง เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ต้องปั้นให้เป็น “พรรคใหญ่” เพราะมีศักดิ์ศรี ดีกรีนายกฯ 2 สมัยค้ำคอ จะเป็นนายกฯ สมัย 3 ต้องสมฐานะพอควร 

การที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ตกปลาในบ่อพรรคประชาธิปัตย์ อาจไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องตกปลาในบ่อพรรคพลังประชารัฐไปด้วยอีกทาง

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ที่มีฐาน ส.ส.อยู่ในภาคเหนือ - อีสาน เมื่อไม่มี “พล.อ.ประยุทธ์” อาจคล่องตัวในการหาเสียง ก็เพราะเหนือ - อีสาน เป็นพื้นที่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ขายไม่ออกอยู่แล้ว 

รวมไทยสร้างชาติ 6895620E-CC87-4189-B040-9FCDE9AD1616.jpg

การเมืองในเดือน ธ.ค. 2565 จะยิ่งเข้มข้นขึ้น แต่ก่อนจะถึงทางแยกสำคัญ ต่อให้เป็นรัฐบาลเรือเหล็ก ที่อัพเกรดเวอร์ชั่นจากเรือแป๊ะ ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 

นอกจากเรื่องราวลิเกโรงใหญ่ เรื่องทางใคร...ทางมัน ของ 3 ป. ยังเรื่องราวป่วนๆ เป็นสนิมเนื้อในรัฐบาล ที่อาจทำให้รัฐบาลไปไม่ถึงฝั่งเดือนมีนาคม 2566 

 เพราะตอนแรกใครจะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่แคร์อารมณ์พรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่อยู่ในสายตา 

เนื่องจากภายหลังเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับ นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้มีอิทธิพลการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ภาคใต้ในยุคนี้ ต้องลาออกจากตำแหน่ง รมช.มหาดไทย หลังจากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ก็ประชุมพรรค เสนอชื่อ “นริศ ขำนุรักษ์” ส.ส.พัทลุง ไปทำหน้าที่ รมช.มหาดไทย แทน 

แต่ปรากฏว่า ผ่านมา 7 สัปดาห์ โผปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในโควตาพรรคประชาธิปัตย์ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะทราบเรื่อง แต่เรื่องดังกล่าวกลับถูก “ดองเค็ม” จนกระทั่ง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายก รัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต้องออกมาทวงกลางอากาศ “ไม่เคยเจอความยืดเยื้อขนาดนี้”

“ต้องยอมรับว่าสมาชิก ปชป. หลายคนเริ่มอึดอัดกับการที่พรรคได้นำชื่อนายนริศ กราบเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไปแล้ว แต่การดำเนินการยังไม่เกิดขึ้นเกือบจะเข้าสู่สัปดาห์ที่ 7 เป็นเวลาเดือนกว่าแล้ว เดิมไม่คาดคิดว่าจะยืดเยื้อขนาดนี้”

“ปกติไม่เคยเจอความยืดเยื้อขนาดนี้ เพราะเข้าสัปดาห์ที่ 7 แล้ว แต่คงไม่ถามย้ำแล้วเพราะนายกฯทราบอยู่แล้วและเคยย้ำไปว่าไม่ประสงค์ให้กระทบพรรคอื่น เป็นแค่เฉพาะในส่วนของประชาธิปัตย์ เป็นภาระที่ต้องเสนอคนไปแทน ไม่เช่นนั้นตำแหน่งรัฐมนตรีจะแหว่งไปหนึ่งที่และเข้าไปช่วยงานได้เยอะในฐานะ รมช.มหาดไทย”

ท้ายที่สุดเมื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกโรงมาเขย่าทวงสัญญาพล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องยอมถอย ลดแรงปะทะ เตรียมปรับ ครม.ในทันที

โดยมีประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อ 30 พ.ย. 2565

ธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อดีตโฆษกรัฐบาล หัวหมู่ทะลวงฟันมือตอบโต้ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับแต่งตั้ง เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สุนทร ปานแสงทอง อดีตรองนายก อบจ.สมุทรปราการ เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นริศ ขานุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ประยุทธ์ จุรินทร์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชุมสภา A8-9568-1DD70E72B76A.jpeg

อีกกฎหมายหนึ่งที่เป็นชนวน “บาดหมาง” ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชากัญชง พ.ศ....อันเป็นกฎหมายสำคัญ ของพรรคภูมิใจไทย ใกล้จะพิจารณาในวาระที่ 2 

เรื่องนี้สำคัญมากกว่าเก้าอี้รัฐมนตรี ที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไม่ขอเปลี่ยนม้ากลางศึก เหมือนพรรคประชาธิปัตย์ แม้ “กนกวรรณ วิลาวัลย์” รมช.ศึกษาธิการ ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่สามารถทำหน้าที่รัฐมนตรีได้ 

แต่แน่นอนว่า พรรคประชาธิปัตย์ ค้านหัวชนฝา หากกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะหากหัวใจสำคัญของกฎหมายคือให้ครัวเรือนปลูกได้ บ้านละ 15 ต้น แม้จะต้องขออนุญาตจากผู้มีอำนาจก่อนปลูกก็ตาม 

 พรรคภูมิใจไทย ดูจะมีภาษีและพาวเวอร์มากกว่า พรรคประชาธิปัตย์ ในเกมอำนาจต่อรองนี้ เพราะมี ส.ส.ในมืออยู่ 60 ต้นๆ ยังไม่นับ ส.ส.ที่เป็น “งูเห่า” เลี้ยงไว้ในพรรคอื่น นับนิ้วแล้วประมาณเกือบ 70 เสียง 

อนุทิน ภูมิใจไทย -B20D-1492C434E545.jpegอนุทิน ภูมิใจไทย -D100-4F50-A07C-945BD3D37B0E.jpeg

แต่เมื่อเกมกัญชา - กัญชง ถูกนำมาเป็นประเด็น ชิงซีน ตีกินทางการเมือง เรื่องวุ่นๆ ในปลายรัฐบาลจึงปั่นป่วน 

ผสมกับเกมชิงตัว ส.ส. ชิงตัว “พล.อ.ประยุทธ์” ไปเป็นแคนดิเดตนายกฯ รวมไทยสร้างชาติ เปิดชามเกาเหลากับพรรคพลังประชารัฐ

ต้องจับตาดูช่วงปลายรัฐบาล การเมืองจะป่วนยิ่งกว่าป่วน เดือดยิ่งกว่าน้ำ เข้มข้นยิ่งกว่าเลือด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง