ไม่พบผลการค้นหา
ประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงชาวตูนิเซียเพียงแค่ 11% เดินทางมายังคูหาเพื่อลงคะแนนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าคูหาเลือกตั้งที่ว่างเปล่า เป็นหลักฐานของการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยของประชาชน จากความพยายามในการยึดและรวบอำนาจไว้ที่ตัวเองของ ไกส์ ซาอิด ประธานาธิบดีของประเทศ

อย่างไรก็ดี การนับคะแนนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (29 ม.ค.) มีผลการนับคะแนนที่สูงว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศรอบแรกเมื่อช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้มีสิทธิเดินทางมาใช้สิทธิเพียงแค่ 8.8% เท่านั้น

“กว่าเกือบ 90% ของผู้มีสิทธิออกเสียงชาวตูนิเซีย เมินเฉยต่อการเศษของบทการแสดง และปฏิเสธในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการ” อาเหม็ด เนจิบ เชบบี หัวหน้าพรรคแนวร่วมกู้ชาติ พรรคฝ่ายค้านหลักของตูนิเซีย ระบุกับผู้สื่อข่าว “ผมขอเรียกร้องไปยังกลุ่มทางการเมืองและภาคประชาสังคม ในการยื่นมือเข้ามาร่วมเพื่อเปลี่ยนแปลง ในรูปแบบการจากไปของ ไกส์ ซาอิด และการเลือกตั้งประธานาธิบดีล่วงหน้า”

คณะกรรมการการเลือกตั้งตูนิเซียเปิดเผยว่า มีผู้สิทธิออกเสียงเพียงแค่ 887,000 คน ที่เดินทางมาลงคะแนนในคูหาเลือกตั้งครั้งนี้ จากผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ 7.8 ล้านคน อย่างไรก็ดี พรรคการเมืองหลักของประเทศประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง และมีการคาดการณ์ว่า ผู้ท้าชิงที่นั่งของสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากอาจเลือกที่จะเป็นตัวแทนอิสระไม่สังกัดพรรคการเมือง

การเดินทางมาเลือกตั้งในอัตราที่ย่ำแย่ในช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นอีกผลลัพธ์หนึ่งของการแสดงออกในการต่อต้านซาอิด ผู้ซึ่งประกาศการยึดอำนาจรัฐสภา และประกาศรวบอำนาจเข้ามาที่ตัวเองตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา หลังซาอิดประกาศปลดคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล และยุบอำนาจรัฐสภาก่อนทำการยุบสภา และผลักดันให้ประเทศมีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหารวบอำนาจเข้าไปสู่ประธานาธิบดีของประเทศแทน

ผลการการเลือกตั้งในครั้งนี้ นับเป็นการสะท้อนการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองของซาอิดอีกประการ ซึ่งประกาศให้มีการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศใหม่ ในขณะที่รัฐธรรมนูญที่ถูกแก้ไข กลับไม่มีการถ่วงดุลอำนาจเพื่อการตรวจสอบความรับผิดรับชอบของประธานาธิบดีและรัฐบาลตูนิเซียแต่อย่างใด

ในอีกทางหนึ่ง พรรคฝ่ายค้านของตูนิเซียกล่าวหาว่า ซาอิดกระทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจรัฐสภาชุดก่อนหน้านี้เมื่อปี 2564 และกล่าวหาว่าซาอิดทำลายระบอบประชาธิปไตยของตูนิเซียที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ นับตั้งแต่การปฏิวัติตูนิเซียเมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์อาหรับสปริง

อย่างไรก็ดี ซาอิดอ้างว่าการกระทำของเขาในคราวนั้น เป็นไปทั้งตามกฎหมายและความจำเป็น เพื่อรักษาตูนิเซียเอาไว้จากการคอร์รัปชันและภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ดำเนินมานานหลายปี จากการที่ตูนิเซียมีชนชั้นนำทางการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ของตัวเอง ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการผ่านประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศเมื่อปีที่แล้ว แต่กลับมีประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงเพียงแค่ 30% เท่านั้นที่เดินทางไปลงประชามติ

เศรษฐกิจที่ถดถอยของตูนิเซีย เกิดขึ้นจากการที่ราคาสินค้าพื้นฐานหายไปจากชั้นวางสินค้า และรัฐบาลได้ทำการตัดเงินอุดหนุน เพื่อหาทางออกในการกู้วิกฤตการเป็นประเทศล้มละลาย ส่งผลให้เกิดความโกรธแค้นของประชาชนจำนวนมากมองว่าการเมืองเป็นเรื่องเลวร้าย และรู้สึกโกรธแค้นผู้นำประเทศ

“เราไม่ต้องการการเลือกตั้ง เราต้องการนมและน้ำตาลและน้ำมันปรุงอาหาร” ฮานาส ประชาชนชาวตูนิเซียระบุกับสื่อมวลชน ทั้งนี้ ประชาชนจำนวนไม่น้อยแสดงความยินดีหลังจากซาอิดเข้ายึดอำนาจตูนิเซียเมื่อปี 2564 หลังจากที่อดีตแนวร่วมพรรครัฐบาลชุดก่อนของตูนิเซีย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ พัฒนาระบบบริการสาธารณะ และลดความเหลื่อมล้ำในประเทศได้

อย่างไรก็ดี ซาอิดเองกลับไม่มีนโยบายการผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศที่แน่ชัด นอกจากการประกาศการต้อต้านการคอร์รัปชัน และตัวการที่เขาไม่ได้ระบุชื่อ โดยซาอิดอ้างว่า ตัวการดังกล่าวเป็นผู้ที่ทำให้ราคาสินค้าในประเทศพุ่งสูงขึ้น


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2023/jan/30/tunisian-election-records-11-turnout-in-rejection-of-presidents-reforms?fbclid=IwAR2lpbtb0YYQ2i0TbhT-K4kxPKbyiK9MZ23EYXPFoGoSZudp97BnLc01Lq4