ไม่พบผลการค้นหา
ศาลยกฟ้อง 'ไชยันต์ ไชยพร' คดีหมิ่น 'ณัฐพล ใจจริง' ผู้เขียนหนังสือ 'ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี' ชี้สามารถวิจารณ์โต้แย้งได้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 มีนาคม ที่ห้องพิจารณาคดี 807 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดี อ.1939/2565 ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้เขียนหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ฟ้องหมิ่นประมาท ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 พร้อมเรียกค่าเสียหายจำนวนเงิน 1 ล้านบาท

คดีสืบเนื่องจาก ไชยันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กของตนเองในชื่อ Chaiyan Chaiyaporn ต่างกรรมต่างวาระหลายครั้ง เช่น วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 กล่าวหาว่า ณัฐพล ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นบุคคลที่จัดทำวิทยานิพนธ์ระดับชั้นปริญญาเอก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องการเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500) และผู้เขียนหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ใช้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เอกราช ที่ไม่มีอยู่จริงมาอ้างอิงเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ และพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างกระแสความรู้สึกให้ผู้อ่านเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งนายณัฐพลได้แจ้งความไว้ที่ สน.หัวหมาก และยื่นฟ้องเป็นคดีอาญา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565

โดยในวันนี้ ไชยันต์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำเลย เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อม อัจฉรา แสงขาว ทนายความ ขณะที่โจทก์มอบอำนาจให้เสมียนทนายความมาฟังคำพิพากษา

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่า โจทก์จัดทำวิทยานิพนธ์และผลงานโดยใช้เสรีภาพทางวิชาการ ดังนั้น จำเลยในฐานะประชาชนทั่วไปย่อมมีเสรีภาพในการเห็นต่างจากเนื้อหาหรือข้อความในผลงานของโจทก์เช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยเป็นหัวหน้าโครงการงานวิจัยและดำเนินการวิจัยผลงานต่างๆ ของนักวิชาการ จนตรวจพบจุดบกพร่องในวิทยานิพนธ์ของโจทก์ และจำเลยแจ้งไปยังบัณฑิตวิทยาลัย จนมีคำสั่งระงับเผยแพร่วิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปี 2562 แต่โจทก์กลับนำเนื้อหาที่มีจุดบกพร่องดังกล่าวไปพัฒนาเขียนเป็นหนังสือและมีการตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชน จำเลยในฐานะประชาชนทั่วไปย่อมมีสิทธิตรวจสอบว่าเนื้อหาในบทความ หรืองานเขียนดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ แม้ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของโจทก์ หรือแม้แต่จำเลยไม่ได้รับผลกระทบจากเนื้อหาในวิทยานิพนธ์หรือบทความและหนังสือของโจทก์ก็ตาม

ยิ่งกว่านั้นในฐานะที่จำเลยเป็นนักวิชาการซึ่งมีประสบการณ์และความรู้ ความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา เมื่อจำเลยตรวจสอบแหล่งอ้างอิงโดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ มาเบิกความสนับสนุน ว่าจำเลยได้ทำการตรวจสอบตามหลักวิชาการแล้ว ปรากฏว่าไม่มีข้อความที่โจทก์เขียนจากแหล่งอ้างอิง อีกทั้งมีแต่การตีความข้อความเห็นโดยไม่มีข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง อันมีลักษณะที่จำเลยเห็นว่าเป็นการบิดเบือน จำเลยย่อมมีสิทธิทางวิชาการ หรือโต้แย้งและนำเสนอต่อสาธารณชนได้ ไม่ว่ารูปแบบใด เช่น สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก และให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบข้อความอีกด้าน อีกทั้งเพื่อความเป็นธรรมต่อบุคคลที่โจทก์กล่าวถึงในผลงาน โดยเฉพาะผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและไม่มีโอกาสโต้แย้งหรือให้ข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อความเป็นธรรมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งโจทก์เขียนถึงโดยไม่ปรากฏแหล่งอ้างอิง การโพสต์ข้อความของจำเลยตามฟ้องนับว่าจำเลยได้กระทำหน้าที่ของบุคคลในฐานะปวงชนชาวไทยในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 50 (1)

รวมทั้ง นับได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ปรากฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1)(3) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้อง ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังขึ้น ข้อเท็จจริงอื่นนอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง

ภายหลัง ไชยันต์เปิดเผยว่า ศาลยกฟ้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วเพราะตนเองไม่ได้ไปให้ร้ายกับใคร แล้วก็มีหลักฐานทุกอย่างครบถ้วน ตนในฐานะประชาชนคนหนึ่งมีหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสิ่งที่คนอื่นเขียนมา และศาลบอกว่าสามารถที่จะสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ก สื่อออนไลน์ได้ ไม่จำเป็นต้องไปเขียนวิจารณ์ผ่านบทความวิชาการ เพราะว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ และสิ่งที่โจทก์เขียนมาก็บิดเบือนและไม่มีหลักฐานรองรับ เมื่อตนเองตรวจพบข้อบกพร่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในอดีต แต่ต่อให้ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ อย่างน้อยก็ต้องให้มีความถูกต้องทางวิชาการ การอ้างอิงจะต้องมีหลักฐาน ไม่กุเรื่องขึ้นมา

ไชยันต์ กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแน่นอน คือ ความเข้าใจผิดว่ารัชกาลที่ผ่านมาสนับสนุนรัฐประหาร มีความกระตือรือร้นลงนามให้กับคณะรัฐประหาร ที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็จะทำให้เยาวชนที่มาอ่านหนังสือที่ตีพิมพ์ช่วงปี 2556 และ 2563 เข้าใจผิดได้ ทั้งหมดนี้อาจมาจากนักวิชาการบางท่านที่เขียนอะไรบิดเบือน โดยอ้างเชิงอรรถ (footnote) อย่างดี เป็นภาษาอังกฤษ จากหอจดหมาย หรือ รายงานสถานทูตอเมริกา เป็นต้น แต่เมื่อเราอ่านแล้วไปตรวจสอบก็พบว่าไม่เป็นความจริงตามนั้น ปัจจุบันตนเองยังเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมานานตั้งแต่ปี 2535 นับเป็นร้อยๆ เล่ม และตนเองค่อนข้างมีความเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายทางวิชาการ