ไม่พบผลการค้นหา
2565: โลกจับตาอีก 7 ประเทศและ ไทย อาจประสบความสำเร็จผ่านกฎหมายรับรอง 'สมรสเพศเดียวกัน'

ผ่านมาแล้ว 52 ปี หลังจากเกิดเหตุการณ์สำคัญในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ที่ทำให้โลกของ LGBTQIA+ หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นเปลี่ยนไปตลอดกาล และผู้คนนับล้านต่างลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ตนพึงมีกับรัฐบาลของประเทศตัวเอง

หนึ่งในสิทธิที่มีการเรียกร้องยาวนานก็คือ 'การสมรส' ที่หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของความรัก เป็นเรื่องสถานะ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ แต่สำหรับคนอีกจำนวนไม่น้อยมันคือเครื่องมือทางกฎหมายในการใช้ชีวิต สร้างชีวิต และความสามารถที่จะดูแลซึ่งกันและกันทั้งยามสุขและยามทุกข์ 

น่าแปลกใจที่ว่า แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกินครึ่งศตวรรษแล้วนับตั้งแต่มีเหตุการณ์ 'จลาจลสโตนวอลล์' แต่จนถึงตอนนี้ Human Rights Campaign เผยว่ามีเพียงแค่ 31 ประเทศเท่านั้นจากทั้งหมดกว่า 195 ประเทศที่มีกฎหมายรองรับ 'การสมรสเพศเดียวกัน' ซึ่งแต่ละที่มีรายละเอียดเชิงลึกและความเท่าเทียมกับการสมรสของชายหญิงที่แตกต่างกันไป

AFP - ญี่ปุ่น ประท้วง LGBT ความหลากหลายทางเพศ

Human Rights Campaign ชี้ว่าปัจจุบัน 22 ประเทศรับรองการสมรสเพศเดียวกันผ่าน 'กระบวนการออกกฎหมายของนิติบัญญัติ' โดยออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ผ่านกฎหมายหลังการโหวตของประชาชนทั้งประเทศ ขณะที่อีก 7 ประเทศเกิดจากคำตัดสินของศาล ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรีย บราซิล โคลอมเบีย คอสตาริกา เอกวาดอ เม็กซิโก แอฟริกาใต้ ไต้หวัน และสหรัฐฯ

31 ประเทศที่รับรองการแต่งงานเพศเดียวกันคือ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม บราซิล แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา เดนมาร์ก เอกวาดอ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก มอลตา เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส แอฟริกาใต้ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน สหราชอาณาจักร์ สหรัฐฯ และอุรุกวัย


เนเธอร์แลนด์ คือชาติแรกที่ผ่านกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน

เนเธอร์แลนด์ อนุญาตให้บุคคลเพศเดียวกันมีสิทธิ์ สมรส หย่า และรับบุตรบุญธรรมในปี 2544 โดยเนเธอร์แลนด์ได้ฉลองครบรอบ 20 ปี ของการเป็นประเทศแรกของโลกที่อนุญาตให้มีการแต่งงานของเพศเดียวกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายในวันที่ 1 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา ขณะที่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เนเธอร์แลนด์มีคู่รักเพศเดียวกันเข้าพิธีแต่งงานไปแล้วมากกว่า 20,000 คู่ 

AFP - Pride LGBT ไพรด์ ปารีส ฝรั่งเศส ความหลากหลายทางเพศ

ต่อมาในปี 2546 เบลเยี่ยม เป็นประเทศที่สองที่มีกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันประกาศใช้ โดยในปี 2541 รัฐสภาเบลเยี่ยมได้เริ่มเสนอให้มีการจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตเพื่อเป็นการปูทางสู่กฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกัน

แคนาดา เริ่มต้นรับรองสิทธิในระดับท้องถิ่นเมื่อปี 2542 ทำให้ชาว LGBTQ แต่งงานได้โดยได้รับสิทธิ์ส่วนใหญ่คล้ายคู่สมรสชายหญิง จนกระทั่งปี 2548 รัฐสภาแคนาดาเดินหน้าผ่านกฎหมายจนกลายเป็นประเทศที่ 3 ที่ผ่านร่างกฎหมายรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่ง 'สเปน' ก็มีกฎหมายลักษณะเดียวกันออกมาในปีเดียวกัน โดยสภาให้การรับรองและมอบสิทธิแก่คู่สมรสเพศเดียวกัน

ด้าน 'แอฟริกาใต้' ได้ร่วมขบวนกลายเป็นประเทศที่ 5 ในปี 2549 โดยศาลสูงตัดสินว่า กฎหมายเกี่ยวกับการสมรสของประเทศนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะต้องรับรองสิทธิของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมจึงได้ออกกฎหมายรับรองการสมรสเพศเดียวกัน โดยมีข้อยกเว้นสำหรับสถาบันศาสนา


ไต้หวัน ประเทศแรกในเอเชีย

ไต้หวัน เป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่สภาผ่านกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันในปี 2562 โดยเป็นเพียงการอนุมัติให้สมรสระหว่างคู่รักเพศเดียวกันที่เป็นพลเมืองไต้หวันด้วยกันเท่านั้น กระทั่งในปี 2564 สภาตุลาการไต้หวัน (Judicial Yuan) มีมติอนุมัติการแก้ไขกฎหมายเพื่อปูทางสำหรับการเปิดกว้างการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันระหว่างคู่สมรสชาวไต้หวันและชาวต่างชาติได้ ยกเว้นพลเมืองจากประเทศที่ไม่มีกฎหมายรองรับการแต่งงานเพศเดียวกัน

ทั้งนี้ ในปี 2565 Human Rights Campaign ชี้ว่า ไทย อันดอร์รา เบอร์มิวดา คิวบา เช็ครีพับลิค อินเดีย ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ อาจประสบความสำเร็จผ่านกฎหมายรับรอง 'สมรสเพศเดียวกัน'

LGBTQ