ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกพรรคเพื่อไทย อัด 'นายกรัฐมนตรี' สั่ง กอ.รมน. ออกสำรวจการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อกลบข่าวการแก้ปัญหาไร้ประสิทธิภาพ พร้อมเรียกร้อง ประกันสังคม จ่ายชดเชยว่างงานให้ครอบคลุม

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดจะให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือกอ.รมน. ทำโพลสอบถามความคิดเห็นของประชาชนควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ โดยระบุว่า "ไม่แน่ใจว่าใครเขียนบทให้ พล.อ.ประยุทธ์ พูด ลำพังได้ยินว่าจะให้ กอ.รมน.ทำโพล ก็มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ ประชาชนไม่มั่นใจว่าจะให้ กอ.รมน.มาทำโพลหรือทำไอโอกับประชาชนกันแน่"

"ที่ผ่านมา กอ.รมน.ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่า ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ เป็นการกระชับอำนาจ ตัดตอนรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล ป้องกันไม่ให้ประชาชนเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยิ่งคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้นานเท่าไหร่ พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งได้ประโยชน์"

ด้วยเหตุนี้ นายอนุสรณ์จึงมองว่า การให้ กอ.รมน.ทำโพล จึงเป็นเพียงการซื้อเวลา กลบปัญหาการเยียวยาล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ กลบปัญหาเศรษฐกิจ จึงต้องหลบข้างหลังจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงจากความร่วมมือของประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และพื้นฐานระบบสาธารณสุขที่ดีของประเทศ อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จะเอากรณีโควิด มาปกปิดความล้มเหลวทางเศรษฐกิจโดยการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ตลอดไปไม่ได้

“ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ จำนวนมากว่าต้องการให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการทำโพลให้เป็นที่ยอมรับ ควรทำโดยสถาบันทางวิชาการที่มีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ " นายอนุสรณ์ กล่าว  

อนุสรณ์ จี้ ประกันสังคม จ่ายชดเชยว่างงานให้ครอบคลุม

นายอนุสรณ์ ยังได้กล่าวถึงกรณี เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ห้ามนายจ้างปิดงาน ลูกจ้างนัดหยุดงานทั่วราชอาณาจักร ว่า ดูเหมือนรัฐบาลจัดลำดับความสำคัญของปัญหาผิด ยึดเอาความมั่นคงของรัฐบาล ก่อนความอยู่รอดของประชาชน ความจริงก่อนจะออกประกาศห้ามนายจ้างปิดงาน ลูกจ้างนัดหยุดงาน รัฐบาลควรเยียวยาประชาชนภาคแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการออกมาตรการล็อกดาวน์ที่ผิดพลาดของรัฐบาล ทำอย่างไรที่จะให้ภาคแรงงานเข้าถึงการเยียวยาอย่างครอบคลุมทั่วถึง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะปล่อยลอยแพประชาชนไม่ได้ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.กระทรวงแรงงาน ต้องตอบคำถามว่าจะนำเงินจากกองทุนประกันสังคมมาเยียวยาผู้ประกันตนอย่างไร การจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนในอัตรา 62 เปอร์เซ็นต์ที่มีการเสนอให้เพิ่มเป็น 75 เปอร์เซ็นต์นั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ ลำพังการโทษระบบคอมพิวเตอร์เก่า โทษนายจ้างไม่รับรองสิทธิ์ฟังไม่ได้ เพราะมีผู้ประกันตนจำนวนมากที่นายจ้างรับรองสิทธิ์ส่งเรื่องไปตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน

“รัฐบาลจะยึดเอาความมั่นคงของตัวเองเป็นหลัก แล้วละทิ้งผู้ประกันตนไม่ได้ รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหาให้ถูก เร่งเยียวยาให้ครอบคลุมทั่วถึง ก่อนที่ประชาชนจะอดตาย” นายอนุสรณ์ กล่าว