ไม่พบผลการค้นหา
'อนุพงษ์' เผย มหาดไทยพร้อมปรับแก้ระเบียบรับเบี้ยคนชรา ตามมติคณะกรรมการ หลังพบจ่ายทับซ้อนเบี้ยอื่น ลั่นตนไม่สามารถสั่งการได้ เพียงแต่มอบนโยบายเชิงกว้าง บรรเทาปัญหาเบื้องต้น ด้าน 'วิษณุ' ชี้แจงเรียกคืนเบี้ยคนชราไม่ติดคุก เหตุเป็นคดีแพ่ง แนะสอบเอาผิดเจ้าหน้าที่บกพร่อง

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราทับซ้อนกับเบี้ยอื่นๆ ว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังประชุมพิจารณาดำเนินการ หากได้ข้อยุติแล้วกระทนวงมหาดไทยจึงจะสามารถแก้ระเบียบได้ ตามระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ 

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้มอบนโยบายไปยังองค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 7,850 แห่ง ให้พิจารณาการดำเนินการ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับประชาชนจนกว่าจะมีข้อยุติที่แน่นอนว่าเป็นกลุ่มใดบ้าง หรือจะเปลี่ยนแปลงระเบียบอย่างไร อาจเป็นการเจรจาหรือชะลอการดำเนินการไปก่อน โดยจากการตรวจสอบพบว่ามีจำนวน 11,111 ราย และได้ดำเนินการไปแล้ว 4,052 ราย 

ส่วนกรณีที่เป็นข่าวผู้สูงอายุนอนติดเตียง และลูกชายเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่จนได้รับบำเหน็จพิเศษ น่าจะมีการพิจารณาระเบียบให้เหมาะสม โดยทุกอย่างขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดนี้และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้พิจารณา ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยจะเร่งแก้ระเบียบทันทีเมื่อได้รับข้อยุติ 

พล.อ.อนุพงษ์ ยังระบุว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นการสั่งการแต่อย่างไร เนื่องจากไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการ แต่เป็นเพียงการมอบนโยบายในเชิงกว้างเท่านั้น 

ส่วนผู้ที่คืนเงินเบี้ยเลี้ยงคนชราภาครัฐไปแล้ว จะได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงคืนหรือไม่นั้น พลเอกอนุพงษ์ ระบุว่า ขออย่าเพิ่งไปพูดถึงส่วนนั้น การจะหักหรือคืนเงินอยู่ที่คณะกรรมการ ตนไม่สามารถบอกได้ว่าจะทำอย่างไร เพียงแต่ตอนนี้ต้องบรรเทาปัญหา


'วิษณุ' แนะสอบเอาผิดเจ้าหน้าที่บกพร่อง  

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ตนได้สอบถาม ประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง ก็ระบุว่าขณะนี้กำลังหารือกันอยู่ว่าจะทำอย่างไร ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่มีความคืบหน้าโดยคาดว่าคงยังไม่อยากแถลงตอนนี้ ส่วนมีทนายความหรือนักกฎหมายให้ความเห็นว่าคนชราไม่ต้องคืนเงิน เพราะเป็นลาภมิควรได้นั้น ก็เป็นหลักที่เข้าใจกันอยู่แล้วตามมาตรา 412 ที่เขียนอยู่แล้ว จึงเป็นความเห็นที่ถูก แต่ปัญหาคือความหมายต้องสุจริต แล้วอย่างไรเรียกว่าสุจริตแล้วสุจริตหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ตนดูบางคนสุจริตแต่บางคนตนก็ไม่รู้ ยิ่งบอกว่าเจอกันเป็นร้อยๆ ราย สมมุติว่าไปรับเงินบำนาญมานาน แล้วพออยู่มาก็มารับเงินคนแก่หรือเงินสูงอายุ ซึ่งก็อาจสุจริตเพราะไม่รู้ แต่พออยู่มา 2-3 ปี เกิดรู้ รู้แล้วกลับเลยตามเลย รับต่อ อย่างนี้ก็จะเรียกว่าไม่สุจริต เพราะต้องหยุดตรงนี้ ดังนั้นจึงต้องสอบเป็นรายๆ ไป 

วิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องอายุความก็ว่าไปในส่วนอายุความ แต่ที่พูดกันเรื่องติดคุกติดตะรางนั้น ไม่เกี่ยว เพราะการเรียกคืนเป็นแพ่ง ลาภมิควรได้ก็แพ่ง และการจะคืนไม่คืนก็แพ่ง ซึ่งแพ่งไม่มีติดคุกเหมือนที่บอกว่า ยายจะต้องติดคุกถ้าไม่คืน แบบนี้ไม่มี 

เมื่อถามว่า ข้าราชการที่ไม่ชี้แจงกับผู้สูงอายุให้ชัดเจนจะมีความผิดหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ควรจะต้องสอบว่าชี้แจงหรือไม่ หรือชี้แจงแล้วแต่ก็ยังทำ ดังนั้นต้องดูกันให้ดีเหมือนสมัยก่อนการจ่ายเงินของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็มีกรณีที่เจ้าหน้าที่ไปสมรู้ร่วมคิดผิดกฎหมายด้วย หรือกรณีเงินทอนวัดอะไรเช่นนี้ ดังนั้นต้องมีการสอบ แต่วันนี้อย่าเพิ่งตื่นเต้นตกใจอะไรกันไปก่อน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :