ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์การปะทะของกองกำลังประชาชน กับกองทัพเมียนมายังคงร้อนระอุ หลังจากกองทัพเมียนมาเข้าทำรัฐประหารตั้งแต่ ก.พ.ปีก่อน ถึงแม้การรายงานข่าวสถานการณ์ปัจจุบันจะดูบางตา แต่บริเวณชายแดนไทยเมียนมาเองยังคงเป็นหนึ่งในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากการปะทะดังกล่าวด้วยเช่นกัน

Myanmar Now เปิดเผยว่า สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ( KNU) ได้ประเมินสถานการณ์การปะทะบริเวณเมืองเมียวดีใกล้ชายแดนแม่สอด หลังจากมีรายงานการเข้ายึดพื้นที่ของหน่วยพิทักษ์ชายแดน (BGF) เมื่อไม่กี่วันก่อน ผ่านการสัมภาษณ์ตัวแทนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอย่าง พะโด่ ซอ ตอ นี ว่า กองกำลังทหารไม่ทราบจำนวนแน่ชัดได้มีปฏิบัติการควบคุมทางตอนใต้ของเมืองเมียวดี และเมืองเลเคก่อ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยทาง KNU ได้มีการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันตัวเองไว้เต็มรูปแบบ

ก่อนหน้านี้มีรายงานการถอนกองกำลังหน่วยพิทักษ์ชายแดนออกจากพื้นที่มูตรอในรัฐกะเหรี่ยง และ เมืองบี้ลิ่นในรัฐมอญ ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติ (KNLA) กองพลที่ 5 และ กองพลที่ 1 เพื่อเตรียมย้ายกองกำลังหน่วยพิทักษ์ชายแดนเข้าสู่พื้นที่เมืองเมียวดี ตามรายงานล่าสุดจากแหล่งข่าวท้องถิ่นในมูตรอ

ทางด้านสื่อของรัฐกะเหรี่ยง (KIC) มีรายงานเมื่อวันที่ 20 พ.ค. เกี่ยวกับคำสั่งกองทัพให้กองกำลังของหน่วยพิทักษ์ชายแดน เข้ายึดพื้นที่หมู่บ้านปารูจี ซึ่งคาดว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อขยายเขตการควบคุมพื้นที่ของกองทัพเมียนมา ตั้งแต่เมืองเมียวดี เธบอโบว และบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของเลเคก่อ

ในด้านของหมู่บ้านเธบอโบว กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติ กองพลที่ 6 ได้มีการรวมพลกับกองกำลังอิสระ Cobra Column ยึดครองพื้นที่คืนจากกองทัพในวันที่ 18 พ.ค. ทั้งนี้ มีรายงานการเสียชีวิตของทหาร 5 นาย รวมถึงรองผู้บัญชาการประจำฐานทัพ จากการปะทะกันในพื้นที่ โดยจากรายงานของเจ้าหน้าที่กองกำลังอิสระ Cobra Column ได้คาดการณ์ว่า กองทัพเมียนมาจะส่งหน่วยพิทักษ์ชายแดน ที่มีความรู้ทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่ เข้ามายึดเธบอโบวอีกครั้ง

นับตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. ความตึงเครียดในเมียวดีเพิ่มสูงขึ้นหลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ประกาศให้กองทัพของรัฐบาลทหารเคลื่อนออกจากพื้นที่เมืองเลเคก่อภายใน 3 วัน เพื่อให้ประชาชนได้เดินทางกลับบ้านของตนเอง หลังจากการเข้ายึดพื้นที่โดยกองทัพเมียนมาตั้งแต่ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการปะทะขึ้นรายวัน

ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างกองกำลังของคณะรัฐประหารเมียนมา และกองกำลังประชาชนในครั้งนี้ เกิดขึ้นใกล้บริเวณชายแดนไทยเป็นอย่างมาก ท่าทีของการตอบสนองสถานการณ์ของรัฐบาลไทยจึงเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากว่า ไทยเองจะมีนโยบายอย่างไรหากมีการอพยพฉุกเฉินของพลเรือนเมียนมาและพลเรือนไทย รวมถึงการตั้งคำถามที่บทบาทของอาเซียนในการแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้ ที่ล่าช้ามานานนับปีแล้ว


ที่มา:

https://www.myanmar-now.org/en/news/karen-army-prepares-for-clashes-as-junta-allied-forces-close-in-on-base-near-thai-border