ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรี เห็นด้วยตั้ง 'คณะกรรมการสมานฉันท์' โยนสภาฯ ตั้ง ย้ำปัญหาการเมืองไม่ได้เกิดจากรัฐบาลฝ่ายเดียว ขอทุกฝ่ายหันหน้าพูดคุยกัน เชื่อทางออกมีอยู่แล้ว พร้อมหนุนแก้รัฐธรรมนูญ ย้ำไม่ยึดติด ส.ว .โหวตเลือกนายกฯ วอน NGO เคารพกฎหมายไทย เมินลาออก ชี้เข้ามาตามกระบวนการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวทักทายสื่อ พร้อมถาม ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ว่าได้ติดตามการประชุมหรือไม่ ซึ่งสื่อกล่าวกับนายกฯ ว่า ได้ติดตาม ทำให้นายกฯ กล่าวอีกว่า ถ้าติดตามอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องมาถาม จะได้ไม่เหนื่อย แต่ตนเองไม่เหนื่อยอยู่แล้ว ส่วนการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการนำประเทศผ่าวิกฤต ว่าพูดไปหลายครั้งแล้ว และยืนยันมาตลอดกับการประชุมรัฐสภาวานนี้ ตนจำเป็นที่จะนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ทุกเรื่อง โดยช่วงเวลานี้ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปัญหาการเมืองที่เกิดในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากตนและรัฐบาลฝ่ายเดียว ทุกคนต้องร่วมมือกันหันหน้ามาเจรจาพูดคุยกันอย่างประนีประนอม สันติวิธี หาทางออกที่ดีที่สุด ในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกัน ทุกคนคือคนไทย ตนไม่ได้เกลียดชังใครทั้งสิ้น ไม่ว่าใครจะว่าร้ายก็ฟังได้ เพราะเป็นนายกฯ ต้องอดทน โมโหอะไรมากไม่ได้ ต้องพูดจาให้ไพเราะ ซึ่งตอนนี้ตนก็พูดเพราะกว่าหลายๆคน ที่ได้ยินขณะนี้ พร้อมกันนี้ยังเผยว่า ทางออกของวิกฤตมีอยู่แล้ว ขอให้เจอทางออกที่ว่านั้น ไม่มีปัญหาใดที่แก้ไม่ได้ ขอให้เชื่อมั่นและมั่นใจ ว่าเราจะเลือกหนทางที่ดีที่สุด ซึ่งทุกคนต้องร่วมมือกันไม่ใช่ตนเพียงคนเดียว 

นายกรัฐมนตรี ยังขอบคุณประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภา ที่มีการอภิปรายหารืออย่างสงบเรียบร้อย แม้จะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นบ้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสภาของไทย เป็นเรื่องที่ประชาชนจะพิจารณาความเหมาะสม สภาของไทยไม่ควรเหมือนของต่างประเทศ หลายอย่างเป็นพฤติกรรม ที่ต่างประเทศมีอยู่แล้ว 

ทั้งนี้ การประชุมร่วมรัฐสภา หลายประเด็นตนเห็นด้วย โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ประกาศไปแล้ว การแก้รัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของรัฐสภา แต่ต้องผ่านหลายขั้นตอน เพราะต้องทำตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพราะยังมีผลบังคับจนว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นหากจะไปตั้งกติกาใหม่เลย คงเป็นไปไม่ได้ เพราะบ้านเมืองต้องอยู่ด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศ ยืนยัน เห็นด้วยกับการสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ จะให้ ส.ว.เลือกนายกฯ หรือไม่ แล้วแต่ ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ไม่ต้องมาเลือกตนก็ได้ ไม่ได้ขัดข้องอะไร เป็นเรื่องที่จะหารือกันในรัฐสภา 

ขณะเดียวกัน เห็นด้วยกับการเสนอตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ หาทางออกให้กับประเทศ ซึ่งได้นำเรื่องนี้หารือในที่ประชุมครม.แล้ว โดยสภาจะเป็นผู้ตั้งจากหลายฝ่ายด้วยกัน ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. กลุ่มคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มาร่วมคณะนี้ เพื่อให้หาข้อยุติให้ได้ 

ส่วนที่มองว่าคณะกรรมการชุดนี้ จะถูกครอบงำ เพราะรัฐเป็นผู้ตั้ง นายกรัฐมนตรี ระบุว่า พูดแบบนี้เป็นการไม่ให้เกียรติสภา เป็นความเห็นของส.ส.ผู้ทรงเกียรติ ซึ่งต้องเครพความเห็นซึ่งกันและกัน ถ้าตั้งธงแบบนี้ ก็จะไม่เชื่อใจกัน ดังนั้นขอให้เชื่อใจสักครั้ง ไม่เช่นนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ 

ส่วนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี บอกนายกฯ จะอยู่จนครบวาระ 4 ปี เท่ากับไม่รับฟังข้อเสนอจากกลุ่มผู้ชุมนุม นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ทำไมต้องตอบ ขอให้ดูว่าตนเองเข้ามาด้วยอะไร และต้องออกเพราะอะไร ไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต เพราะรัฐบาลไม่ได้หยุดเพียงแค่รัฐบาลของตนเอง กระบวนการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญต่างๆมีอยู่แล้ว

ในช่วงท้ายผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามนายกรัฐมนตรี ว่าสบายใจขึ้นหรือไม่หลังได้เปิดการประชุมสมัยวิสามัญพิจารณาการอภิปรายทั่วไป 2 วันที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว เพียงหันมามองหน้าผู้สื่อข่าวและเดินออกจากห้องแถลงข่าวทันที

ส่วนจุดยืนของไทย ที่ NGO เข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศ ซึ่งในหลายประเทศมีการขับไล่ NGO ออกนอกประเทศ นายกรัฐมนตรี ไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพราะเป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งในส่วนของไทย ก็จะต้องดูหากมีปัญหา จะต้องมีการพูดคุยหารือ และต้องไม่นัยยะแอบแฝงตามวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่ม หลายอย่างที่มีปัญหาคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บางครั้ง NGO เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความล่าช้า ในการทำประชาพิจารณ์ หรือประชามติ ที่คนภายนอกเข้ามาในพื้นที่ มาแสดงความคิดเห็นต่อต้าน ขณะที่คนในพื้นที่ ไม่ได้ประโยชน์และเสียหาย ดังนั้นต้องหาวิธีการที่เหมาะสม และขอฝาก NGO ในประเทศทั้งหมด ต้องช่วยประเทศไทยพัฒนาบ้านเมือง คนไทยที่ไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศก็ต้องเสียภาษี ถือเป็นพลเมืองของประเทศนั้น