ไม่พบผลการค้นหา
'ประยุทธ์' นั่งหัวโต๊ะถก ศบศ.นัดแรก เร่งรัดฟื้นคืนเศรษฐกิจ อย่างน้อยต่อลมหายใจ 3-6 เดือน บอกสบายใจขึ้นแผนงานชัด ด้าน รมว.แรงงาน เตรียมหารือช่วยเด็กจบใหม่ว่างงาน พร้อมเล็งเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกำลังซื้อสูงเที่ยวไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. นัดแรก พร้อมกล่าวตอนหนึ่ง ว่า วันนี้ (19 ส.ค.) มีหลายงานที่ต้องเร่งรัดในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้ฟื้นคืนจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งไตรมาส 1, 2, และ 3 ต้องทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ อย่างน้อยในช่วง 3-6 เดือน จะทำให้ดี เพื่อต่อลมหายใจ และหาช่องทางให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแผนฟื้นฟูของรัฐให้ได้มากที่สุด และเมื่อช่วงเช้าได้คุยกับรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจแล้ว มีการหารือหลายประเด็น และเข้าใจตรงกัน จึงรู้สึกสบายใจขึ้น เพราะมีแผนงานที่ชัดเจน แต่ก็ต้องขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจทั้งหมด ซึ่งการตั้ง ศบศ.นี้ขึ้นมา ยังมีคณะอนุกรรมการอีกหลายคณะ เพื่อช่วยการทำงานให้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอนโยบายจากส่วนบน แล้วจึงจะเริ่มดำเนินการ 

ทั้งนี้ เมื่อได้กำหนดกรอบการทำงานแล้ว ฝ่ายปฏิบัติสามารถนำไปขยายและคิดต่อว่า จะเพิ่มเติมในส่วนใดได้บ้าง ก่อนนำกลับมาเสนอยัง ศบศ.ชุดใหญ่ ช่วยให้การทำงานรวดเร็วและต่อเนื่องยิ่งขึ้น 

นายกฯ กล่าวย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องสุขภาพควบคู่กันไป ซึ่งขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีในระดับที่น่าพอใจ แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีความเข้าใจของประชาชนร่วมด้วย


'สุพัฒนพงษ์' หารือจ้างงานเด็กจบใหม่ เสริมมาตรการเราเที่ยวไปด้วยกัน

ด้านสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ศบศ.นัดแรก ประเด็นหารือจะเป็นมาตรการในภาพรวม แต่ที่น่าสนใจ คือ เรื่องการจ้างงาน โดยเฉพาะกับแรงงานที่เพิ่งจะสำเร็จการศึกษา หรือ 'เด็กจบใหม่' ส่วนผู้ว่างงาน มีโครงการจาก พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 400,000 ล้านบาท เตรียมจัดสรรสำหรับช่วยเหลือในด้านนี้อยู่แล้ว รวมถึงการปรับปรุงโครงการเราเที่ยวไปด้วยกัน เพื่อให้ตอบโจทย์และกระตุ้นนักท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น หลังพบว่า ส่วนใหญ่ยังคงท่องเที่ยวในระยะที่สามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์เป็นหลัก 

ขณะเดียวกันจะเร่งให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องดูแล เรื่องวางมาตรการระยะสั้นสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย หลังพบว่า ผู้บริหารโรงแรมในเครือระดับโลกหลายแห่ง ต้องการทราบมาตรการของไทยในเรื่องนี้ รวมทั้งการทบทวนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านการรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างชาติด้วย 

นอกจากนี้ สุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การมี ศบศ.แล้วอาจไม่จำเป็นที่จะต้องมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจดังเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากองค์ประกอบของที่ประชุมนี้ ครอบคลุมทุกภาคส่วนแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องรอให้นายกรัฐมนตรี ยืนยันอีกครั้ง ว่าจำเป็นต้องมีอยู่หรือไม่ 

สำหรับการเดินสายมอบนโยบายหน่วยงานในกำกับ สุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 ส.ค.) จะเริ่มที่กระทรวงพลังงาน ซึ่งจะหารือทุกภาคส่วน รวมถึงผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมเรื่องการลงทุน และความร่วมมือกับมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะเรื่องแรงงาน