ไม่พบผลการค้นหา
สำรวจจังหวัดโคราช รพ.ศูนย์รับมือการระบาดและจัดการอย่างไร

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.มหาราช จังหวัดนครราชสีมา ให้ข้อมูลว่า ต้นเดือนเมษายน 2564 การระบาดอยู่ที่ตัวอำเภอเมือง 50% และที่อำเภอปากช่อง 120 ราย และตอนนี้มีอำเภอใหญ่อยู่ 3 - 4 อำเภอ มีคนไข้ 7% ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ป่วยในจังหวัดทั้งหมดมี 686 ราย ติดเชื้อรายใหม่ 25 ราย เสียชีวิต 2 ราย (5 พ.ค.2564)

ข้อน่าสังเกตคือ ผู้ป่วยเริ่มมีอาการรุนแรงและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่วนนี้ทางรพ.กำลังระมัดระวัง ส่วนการใช้ยาสามารถทำได้เพียงพอ อุปกรณ์ทางการแพทย์ก็ยังไม่ขาดแคลน

อันที่จริง ในพื้นที่มีศักยภาพพอสมควรในการเร่งค้นหาผู้ป่วย ถ้ามีอาการแล้วสงสัยว่าจะเป็นโรคโควิด-19 เราก็จะรีบนำเข้าการรักษา และค้นหาคนที่เสี่ยงติดโควิดเพื่อสอบสวนโรคให้เร็วที่สุดเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรค 

กรณีที่ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นนั้นก็เป็นเพราะทีมงานควบคุมโรคสามารถค้นหาผู้ป่วยและสอบสวนโรคได้เร็ว และอีกเหตุผลที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีประชาชนจากกรุงเทพฯ เข้ามาตรวจโรคที่โคราชด้วย เมื่อเจอก็ต้องนอนโรงพยาบาลที่โคราช เพราะแนวปฏิบัติของกระทรวงกำหนดว่า เมื่อเจอผู้ป่วยต้องรีบนำไปรักษาโดยด่วน เพื่อป้องกันการระบาดให้มากที่สุด

สำหรับผู้เสี่ยงติดเชื้อที่รอผลยืนยัน จะให้ไปกักตัวอยู่บ้าน เมื่อผลลบจะแจ้งให้ทราบ แล้วหลังจากนั้น 7 วันจะนัดมาตรวจซ้ำ ในรายไหนที่เป็นบวกจะแจ้งทางจังหวัดและโทรแจ้งให้ผู้ป่วยให้เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล 

จุดเด่นของโคราช คือ การมีทีมควบคุมและตรวจโรคที่พร้อมและได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนราชการในจังหวัดทุกระดับจนถึงระดับตำบลและหมู่บ้าน 

การประเมินสถานการณ์ช่วงก่อนหยุดสงกรานต์มีอยู่แล้วว่า หลังจากช่วงหยุดสงกรานต์ที่มีประชาชนมีการเดินทางกลับมาโคราช จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทางจังหวัดได้รับคำสั่งจากผู้ว่าฯ ให้เตรียมโรงพยาบาลสนามในการรองรับ และได้รับความร่วมมือจากสนามกีฬาจังหวัด เปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลสนาม 

หลักการการทำงานคือ เมื่อพบผู้ติดเชื้อ นำผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษา กักบริเวณ เปิดไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อ สืบสวนโรคผู้ใกล้ชิด ผู้เสี่ยง จากนั้นส่งผู้ป่วยระดับต่างๆ เข้ารับการรักษา 

ผู้ป่วยระดับเล็กน้อย – ปานกลาง จะรักษาและสังเกตอาการ 7 - 10 วัน เพราะผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการในช่วง 1- 2 วันแรก อาจจะแสดงอาการ 5 - 7 วัน และอาการที่อาจรุนแรงถึงขั้นลงปอดมักจะเกิดใน 7 วันแรก หากลงปอดเราจะส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลหลัก ส่วนคนป่วยเล็กน้อยก็จะส่งไปโรงพยาบาลสนาม

“เราเริ่มจากเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข ระบบผู้ดูแลผู้ป่วย การรับส่ง การกักตัว โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนามทุกอำเภอ โดยมีโรงพยาบาลมหาราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ของจังหวัดนครราชสีมาจะรับผู้ป่วยที่แสดงอาการปานกลาง - หนัก ก่อน ส่วนผู้ป่วยอาการเล็กน้อย - ไม่แสดงอาการก็ขอให้โรงพยาบาลอำเภอ หรือโรงพยาบาลชุมชนช่วยรับผู้ป่วย มันจะทำให้ไม่เกิดการแออัดของคนป่วยในโรงพยาบาลหลัก”

จุดเด่นอีกอย่างคือ การเตรียมความพร้อมระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าฯ เป็นคนสั่งการเพียงผู้เดียว โรงพยาบาลทุกระดับทั่วทั้งจังหวัดจึงมีการเตรียมความพร้อมกับการตั้งรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นเอกภาพ มีการใช้แผนชัดเจน ตามที่สาธารณสุขร้องขอ 

“เรามี single command คือผู้ว่าฯ มีอำนาจสั่งการเพียงผู้เดียว ซึ่งแตกต่างจากหลายพื้นที่ ที่มีหลายหน่วยงานมีอำนาจสั่งการ การสั่งการกระจัดกระจาย ทำให้รับมือและตอบโต้สถานการณ์ได้ชัดเจน ตัวอย่าง คือ ผู้ว่าฯ สั่งการให้เปิดโรงพยาบาลสนาม โดยสั่งให้โรงพยาบาลทุกระดับในจังหวัด เตรียมพื้นที่ เช่น เปลี่ยนแผนกที่ไม่มีงาน ให้กลายเป็นโรงพยาบาลสนามให้พร้อมก่อนสงกรานต์ รวมถึงสั่งการให้ท้องถิ่นระดมทรัพยากรในการช่วยเหลือสาธารณสุขจังหวัดในงานควบคุมโรคอีกด้วย”

นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวอีกว่า แผนคร่าวๆ ตอนนี้คือ เมื่อพบผู้ติดเชื้อในระดับตำบล อำเภอ เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาลทำหน้าที่แค่ตรวจหาเชื้อ แล้วส่งอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อมาให้โรงพยาบาลศูนย์ตรวจ แล้วโรงพยาบาลศูนย์จะแจ้งผลตรวจกลับไป เหตุที่ใช้วิธีนี้ก็เพราะว่า จำกัดการเดินทางผู้ติดเชื้อจากอำเภอ ตำบล เข้ามาจังหวัด และลดจำนวยผู้ติดเชื้อที่เข้ามาตรวจในโรงพยาบาล และวางระบบให้ทุกโรงพยาบาลปฏิบัติตามคือ ให้ส่งผู้ติดเชื้อผู้ป่วยระดับปานกลาง - รุนแรงมารักษาที่โรงพยาบาลศูนย์เท่านั้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและต้องมีหมอดูแลอย่างใกล้ชิด

ส่วนการประสัมพันธ์ก็สำคัญ มีการขอให้ประชาชนที่เสี่ยงติดเชื้อหรือติดเชื้อบอกไทม์ไลน์ของตัวเองให้ชัดเจน เพราะเมื่อชัดเจน เจ้าหน้าที่ควบคุมจะได้เข้าควบคุม หรือสืบสวนโรคกับบุคคลใกล้ชิดได้ถูกต้อง และเข้าทำความสะอาด จำกัดเขตบริเวณ ไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ แพทย์​ หมอ บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลทุกคนให้ป้องกันตัวเองขั้นสูง ป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เกิดการกักตัวเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ซึ่งหากมีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อจะส่งผลกระทบต่อระบบการรักษาของโรงพยาบาลทั้งหมด

การเปิดโรงพยาบาลสนาม มีการเช่าและปรับโรงแรมเอกชนให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงติดเชื้อได้กักตัว 14 วัน ดูอาการ เพราะตามหลักแล้วเราต้องสันนิฐานว่าคนที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยติดเชื้อจะติดเชื้อไว้ก่อน 

สำหรับข้อเสนอต่อ กทม. และพื้นที่ที่มีการระบาดจำนวนมาก คือ ต้องรีบตรวจและสืบสวนโรค เพื่อให้รู้วงการระบาดอย่างรวดเร็ว จากนั้นรีบกักตัวผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย - ปานกลาง เข้ารับการรักษา เพื่อไม่ให้เขาเหล่านั้นแพร่เชื้อต่อได้ หรือไม่ทำให้เชื้อของเขาเหล่านั้นเติบโตจนถึงขั้นรุนแรงได้ รวมถึงการให้ผู้ป่วยระดับเล็กน้อยสามารถกักตัวที่บ้านได้ home quarantine ซึ่งต้องดูด้วยว่า บ้านหลังนั้นควรมีคนไม่เกิน 2 คน และผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองได้ แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์จะทำหน้าที่แค่เพียงไปตรวจวัดไข้ ตรวจออกซิเจนเท่านั้น แต่ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเอง ที่ต้องทำอย่างนี้ เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อใช้บริการเตียงในโรงพยาบาล ควรเว้นเตียงไว้ให้ผู้ป่วยที่รุนแรงจริงๆ เป็นต้น