ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มักจะมาพร้อมกับความหวังและความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวต่างชาติ และภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจก็มักจะมีทิศทางที่ดีเช่นกัน แม้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะเป็นเช่นนั้น แต่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกลับดิ่งไปในทางตรงข้าม

ตามข้อมูลจากกระทรวงการคลัง พบว่า อาจต้องปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 – 2 ของปี 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 3 ต้นๆ จากปัจจัยหลัก คือความไม่แน่นอนทางการเมือง

ภายใต้ภาวะเช่นนี้ หัวเรือใหญ่ในการดูแลเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สมคิดตรวจงานกระทรวงอุต
  • 22 เม.ย. 2562 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีประชุมกับผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม

มาตรการพรั่งพรูที่ 'สมคิด' หวังอุ้มชูเศรษฐกิจ

ขณะที่ รายงานภาวะเศรษฐกิจปี 2562 จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า การเติบโตหลักของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมาจากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แต่เมื่อภาวการณ์หลังการเลือกตั้ง 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ยังมีแต่ความไม่แน่นอน ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่ดีนัก

ปัจจัยเหล่านี้ น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ 'สมคิด' ต้องออกแอคชั่นเดินสายเยี่ยมและตรวจการสั่งงานสารพัดโครงการกับ 3 กระทรวงเศรษฐกิจ ทันทีหลังสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ (18 เม.ย.) กระทรวงการคลัง (19 เม.ย.) และ กระทรวงอุตสาหกรรม (22 เม.ย.)

สั่งกระทรวงพาณิชย์ประคองกำลังซื้อภายในประเทศ

เมื่อพูดถึงการบริโภคภายในประเทศ แท้จริงแล้วคือการพูดถึงกำลังซื้อของประชาชน ในฝั่งของเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ จึงสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ภายใต้การกำกับดูแลของนายสมคิด ออกมายืนยันว่า ราคาสินค้าเกษตรไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต เพียงแต่ที่เห็นว่าราคาพืชผลตกต่ำ อาทิ ราคามังคุด มาจากจำนวนผลผลิตที่ออกสู่ตลาดปริมาณมาก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีความพยายามในการพูดคุยกับผู้นำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศหลายราย เพื่อระบายผลผลิต พร้อมกับส่งเสริมการส่งออกและหาตลาดใหม่

AFP-มังคุค-ผลไม้-ตลาด

โดยกระทรวงพาณิชย์ยังติดต่อขอความช่วยเหลือและความร่วมมือกับองค์กรภายในประเทศ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อจัดงานท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงกับผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาคหรือจังหวัดนั้นๆ และ ปตท. เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถเข้าไปขายผลผลิตในปั๊มน้ำมันได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ขณะที่ การประชุมที่กระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อต้นสัปดาห์นี้ (22 เม.ย.) รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ พูดถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศ ว่าต้องทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้ได้ เนื่องจากในไม่ช้า แผนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) จะมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย

ดังนั้น ควรวางแผนถึงโครงการและมาตรการต่างๆ ที่จะใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เช่น การสร้างห้องเย็นที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร การจัดตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร และการวางระบบขนส่ง

ขณะเดียวกัน ยังให้ 'อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้ข่าวว่า หวังใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท ประคองเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไป โดยเน้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขึ้นมาชูโรง ด้วยมาตรการด้านการบริโภค ให้เงินอุดหนุนเที่ยวเมืองรอง และการลดหย่อนภาษีกรณีค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

การท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว สุวรรณภูมิ สนามบิน ดิวตี้ฟรี

ขณะที่ มิติด้านการใช้จ่ายของประชาชน จะมีมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อสินค้าหรืออุปกรณ์การเรียน เพื่อต้อนรับการเปิดภาคการศึกษาใหม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า พร้อมพิจารณามาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อหนังสือ โดยครั้งนี้จะขยายเวลาครอบคลุมทั้งปี เพื่อเป็นการส่งเสริมคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์

จี้กระทรวงอุตฯ ดันเอกชนลงทุนเต็มสูบ

พร้อมกับให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพดูแลเรื่องการลงทุนภาคเอกชนเต็มตัว โดยเน้นไปที่การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมประเทศไปสู่การเปลี่ยนผ่านเข้ายุคดิจิทัล ทั้งการลงนามบันทึกข้อตกลงกับต่างประเทศเพื่อเข้ามาพัฒนาระบบอุตสาหกรรมไทย และการต่อยอดโครงการการพัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center 4.0 : ITC 4.0) เพื่อยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ในช่วงปี 2562 - 2564 ให้แตะตัวเลข 50,000 ล้านบาท

AFP-โรงงาน-รถยนต์-อุตสาหกรรม-เศรษฐกิจ

อีกด้านหนึ่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่ยกระดับสร้างทักษะบุคลากร ให้รองรับระบบเศรษฐกิจ 4.0 โดยแบ่งออกเป็น 4 มาตรการ ได้แก่ (1) การจัดหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ ซึ่งจับมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ (2) การสร้างคุณค่าให้กับประกาศนียบัตรการอบรมต่างๆ (3) การรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการประเมิน (4) การวางระบบข้างต้นทั้งหมดไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เชื่อมโยงกัน

แม้ว่าระยะเวลาในการนั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจจะเหลืออีกไม่นาน หากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ภาระหน้าที่ของ 'สมคิด' น้อยลงแต่อย่างใด และความพยายามหารือกับหลายกระทรวงเพื่อแก้ปัญหาก็ยังต้องรอเวลาพิสูจน์ประสิทธิภาพว่าได้ผลจริงหรือเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น

เพราะต้องไม่ลืมว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจไทยมีความท้าทายหลายอย่างรออยู่จากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญให้เศรษฐกิจชะลอตัว นักลงทุนเข้าโหมด wait and see ได้

ส่วนการเร่งออกมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างหนักในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนหมดวาระนั้น จะเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาหรือมีวาระซ่อนเร้น ก็คงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :