ไม่พบผลการค้นหา
'วอยซ์' ชวนสำรวจนิทรรศการ My Youth is...? ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดย ริทัศน์ หรือ ReThink Urban Spaces (RTUS) ร่วมกับศิลปินรุ่นใหม่ JULI BAKER and SUMMER เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้นิยามความเยาว์ในรูปแบบของตัวเอง พร้อมรับฟังข้อเสนอ ตั้งคำถาม และแสดงความเห็นต่อการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาเมืองโดยเยาวชนชาวไทยและยุโรป โดยนิทรรศการดังกล่าวจัดแสดงอยู่บริเวณห้องโถงชั้น 1 ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึง 2 เมษายน 2566

ศรัณย์ ปริสุทธิ์กุล หรือ กาย ผู้ประสานงานริทัศน์ เล่าให้ฟังว่า ริทัศน์ เป็นโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาชุมชนเมือง จากความร่วมมือระหว่าง สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย และมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนในพื้นที่เมืองนำร่อง 5 พื้นที่ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น กาญจนบุรี หาดใหญ่ และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้เข้ามาเรียนรู้ สร้างสรรค์และพัฒนาโครงการตามประเด็นต่างๆ ที่พวกเขาสนใจ เช่น การถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านอาหาร หรือความปลอดภัยในชุมชน โดยมีทีมงานริทัศน์ เป็นผู้สรรหาวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและจัดเวิร์กช็อปบ่มเพาะความรู้ให้กับเยาวชน ก่อนการออกแบบและนำเสนอไอเดียพัฒนาเมืองสู่สาธารณะ

92ED7ECC-3849-46C4-B6F4-43D203EBE42A.jpeg8F3BC4D2-C4B6-4F74-A08C-AE43FD7EF72E.jpeg

เมื่อให้ประเมินถึงการมีส่วนร่วมของเยาวชนต่อการพัฒนาเมือง ศรัณย์ มองว่า ก่อนหน้านี้ ในบริบทของประเทศไทย แนวคิดเรื่องการพัฒนาเมืองดูค่อนข้างห่างไกลกับเยาวชน ในฐานะทีมงานริทัศน์ เขาอยากส่งเสริมให้เกิดการคิดใหม่ว่า ทุกคนมีสิทธิมีเสียงในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนของตนเอง ไม่ว่าจะมาจากภูมิหลังแบบไหน หรือว่ามีความรู้ด้านสถาปัตยกรรมหรือไม่ การตระหนักรู้ในสิทธิที่มีเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เขาจึงต้องการทำให้การพัฒนาเมืองเป็นเรื่องเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มต้นจากการทำให้เยาวชนมีความสนใจในสิ่งที่คิดอยากจะทำก่อน 

B5B1674D-E003-4688-83E1-A01E35264E18.jpegFF898F27-9E47-48A5-A16A-8FDF89B9D183.jpeg

เด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อายุน้อยที่สุดก็สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนได้ โดย ศรัณย์ ยกตัวอย่างประกอบว่า หากตั้งคำถามว่า "ความปลอดภัยในชุมชนคืออะไร" เด็กๆ อาจจะตอบไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือเครื่องมือในการได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น ทีมงานของโครงการพัฒนาชุมชนหนึ่งให้เด็กๆในชุุมชนอธิบายถึงฮีโร่ที่พวกเขาอยากเห็น ซึ่งได้รับคำตอบว่า พวกเขาอยากมีฮีโร่ที่เสกที่นั่งให้ได้ หรือเป็นฮีโร่ที่นำแสงสว่างมาให้ เหล่านี้จึงเป็นคำตอบโดยนัยว่า ชุมชนของพวกเขามีที่นั่งและแสงสว่างไม่เพียงพอ 

นอกจากนี้ ศรัณย์ บอกว่า ริทัศน์ ยังได้ร่วมมือกับองค์กร EU Youth Forum และกลไก EU Youth Capital เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเมืองระหว่างเยาวชนไทยและเยาวชนในสหภาพยุโรปด้วย โดยตลอดระยะเวลาโครงการ 2 ปีกว่าๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 จนถึงเมษายน 2566 ทีมงานริทัศน์ ได้ไปร่วมทัศนศึกษาช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ในเมืองหลวงเยาวชนยุโรป อาทิ เมืองเทสซาโลนิกิ ประเทศกรีซ เมืองไคลเปดา ประเทศลิทัวเนีย และเมืองคลูจนาโปคา ประเทศโรมาเนีย

"สิ่งที่น่าสนใจ คือ ประเทศยุโรปเหล่านี้มีสภาเยาวชนที่ทำงานกันจริงๆ เป็นตัวแทนจากสถาบันการศึกษาของแต่ละชุมชนในพื้นที่ ผู้ใหญ่ไม่สามารถเข้าไปรบกวนกระบวนการทำงานหรือการตัดสินใจใดๆของพวกเขาเลย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหวมาก เพราะส่วนตัวมองว่า ในทางกลับกัน การมีอยู่ของสภาเยาวชนในประเทศไทยถูกทำให้เป็นเสมือนวัตถุที่ใช้แสดงถึงวัฒนธรรมอะไรบางอย่างที่อาจจะขัดต่อความต้องการของเยาวชนจริงๆ" ศรัณย์ กล่าว

145BAB43-2FAC-4ED0-B587-44738C1663F2.jpeg5327910C-8CAE-4DFB-9ABB-E564F27CCD7A.jpegA5727F05-69EE-4991-AEB4-79E6114CC7DC.jpeg

ทั้งนี้ ศรัณย์ มองว่า ปัจจุบัน เยาวชนมีความตื่นตัวเรื่องการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเมืองมากขึ้น และหากการเมืองดี สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเยาวชนย่อมเปิดกว้าง แต่ไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร เราก็ควรสนับสนุนการรับฟังเสียงของเยาวชนให้มากที่สุด ควบคู่กันไปกับความพยายามในการสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็งด้วย

สำหรับการมีส่วนร่วมของเยาวชนต่อการพัฒนาเมืองในบริบทของต่างประเทศ อีวาน เนียรอตติ เยาวชนจากประเทศอิตาลีวัย 32 ปี เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบกลไก EU Youth Capital เล่าให้ฟังว่า ตำแหน่งเมืองหลวงเยาวชนยุโรป เป็นตำแหน่งที่ EU Youth Forum มอบให้เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการขับเคลื่อนเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับสหภาพ รวมถึงสร้างความเข้มแข็งแก่อัตลักษณ์ความเป็นยุโรป โดยในแต่ละปี เยาวชนจากเมืองในทวีปยุโรปจะได้นำเสนอแนวคิด นวัตกรรม โครงการ และกิจกรรมที่พุ่งเป้าไปที่การเสริมพลังเยาวชนและนำมุมมองใหม่ ๆ จากเยาวชนมาพัฒนาเมือง ซึ่งกลไกดังกล่าวมีส่วนส่งเสริมให้เยาวชนจากประเทศต่างๆ ในยุโรป มีโอกาสแลกเปลี่ยนและเรียนรู้เรื่องการพัฒนาเมืองระหว่างกันด้วย

อย่างไรก็ดี อีวาน มองว่า แม้สหภาพยุโรปจะมีความพยายามในหลายๆ ด้านเพื่อผลักดันให้เยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น อย่างเช่นกลไก EU Youth Capital ที่เขาทำอยู่ แต่เสียงของเยาวชนก็ยังไม่ถูกรับฟังมากพอ เยาวชนยังเป็นคนส่วนน้อยในแวดวงการเมือง การเปิดพื้นที่ให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายถือเป็นกระบวนการที่ยาวนาน ยิ่งไปกว่านั้น ความแตกต่างของระดับการศึกษาระหว่างเยาวชนกันเอง ยังส่งผลให้เยาวชนบางส่วนไม่ได้รู้สึกมีสิทธิมีเสียงที่จะแสดงความคิดเห็นใดๆ เสียด้วยซ้ำ แต่เขาเชื่อว่า ความร่วมมือระหว่างเยาวชนทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ไม่ว่าในประเด็นใดก็ตาม จะสามารถทำให้เยาวชนมีพื้นที่ในการทำให้ข้อเสนอและเสียงของพวกเขาถูกรับฟังมากยิ่งขึ้น

C984CCF9-C32C-4A57-89B8-B886BC667064.jpeg29F6B038-4315-4F59-9C9F-D4E04096D918.jpeg2B8F78E5-7257-40C0-A159-BB5920B41A82.jpegFBDF5EB4-CB84-49D7-BDA0-31C5D1021ED7.jpeg

เรื่องและภาพ : ฉายฉาน คำคม



ฉายฉาน คำคม
นักข่าวการเมืองภาคสนามสองภาษา เขียนข่าวต่างประเทศบ้างบางเวลา เป็นทาสแมว ชอบกินช็อกมิ้นท์
23Article
0Video
0Blog