ไม่พบผลการค้นหา
แฟนดอมเคป็อป และแฟนคลับดาราทั่วโลกหันมาสนใจประเด็นสังคมการเมืองกันมากขึ้น มีการจัดการช่วยเหลือการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่าง Black Lives Matter อย่างเป็นระบบ ก่อนที่ตัวศิลปินดาราที่พวกเขาชื่นชอบจะออกมาแสดงจุดยืนด้วยซ้ำ

ประเด็นสังคมการเมืองที่ร้อนแรงทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากออกมาแสดงความเห็นกันอย่างดุเดือด บัญชีทวิตเตอร์จำนวนมากที่ปกติมักพูดถึงข่าวคราวของดาราศิลปิน อัปเดตอันดับชาร์ตเพลง โพสต์ภาพและคลิปวิดีโอของดาราที่ตัวเองชื่นชอบ หันมาทวีตวิพากษ์วิจารณ์การเมือง นัดแนะกิจกรรมออนไลน์เพื่อให้คนหันมาสนใจประเด็นสังคมการเมืองที่สำคัญมากขึ้น เช่น Black Lives Matter หรือ #saveวันเฉลิม

เคทลิน ทิฟฟานี คอลัมนิสต์ด้านเทคโนโลยีของดิแอตแลนติกได้เขียนเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่แฟนคลับดาราเข้าร่วมประท้วงและสร้างความตระหนักถึงประเด็นสังคมการเมืองบนโลกออนไลน์ผ่านประเด็น Black Lives Matter ว่า เมื่อสถานีตำรวจดัลลัสของสหรัฐฯ ทวีตข้อความให้ คนส่งคลิปวิดีโอ “คนทำผิดกฎหมาย” ระหว่างการประท้วงต่อต้านอคติต่อคนแอฟริกันอเมริกัน ไปที่แอป iWatch Dallas เพียงไม่นาน แฟนเคป็อปเข้าไปช่วยกันถล่มแอปฯ ด้วยการส่งคลิปศิลปินที่พวกเขาชื่นชมไปในแอปฯ แทน เพื่อไม่ให้ตำรวจนำคลิปที่มีใบหน้าของผู้ประท้วงอย่างสันติไปตามจับกุมพวกเขาได้

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @YGSHIT แฟนเคป็อปชาวอเมริกันวัย 16 ปีเข้าร่วมภารกิจสแปมแอปฯ ตำรวจดัลลัสบอกเล่าวว่า เธอส่งมิวสิกวิดีโอเพลงใหม่ล่าสุดของวงบอยแบนด์เกาหลี BTS ไปหลายครั้ง ตามด้วยคลิปของดาฮยอน สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ป, Twice ริวจิน สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ป ITZY และคลิปที่เกิร์ลกรุ๊ป Red Velvet ไลฟ์ เพียงไม่กี่ชม.ต่อมา แอปฯ ดังกล่าวก็ล่ม 

ต่อมาสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอทวีตขอให้คนส่งภาพ “คนที่ยุยงความรุนแรง” YGSHIT ทวีตข้อความแทบจะทันทีว่า “พวกคุณรู้อยู่แล้วว่าต้องทำอะไร” พร้อมจบประโยคว่า KPOP STANS RISE. โดยคำว่า Stans แปลว่า แฟนคลับตัวยงที่เคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย จากนั้นแฟนๆ เคป็อปก็ส่งภาพศิลปินไปให้เอฟบีไอต่อ

การประท้วงต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อคนดำของตำรวจอเมริกันในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า แฟนดอมของศิลปินเกาหลี, แฮร์รี สไตล์ นักร้องชาวอังกฤษ และอื่นๆ พยายามจะเปิดพื้นที่ออนไลน์ให้กับการประท้วง เช่น ไม่ใช้แฮชแท็กเพื่อปั่นกระแสให้ติดเทรนด์อย่างที่เคยทำ เพื่อให้คนสนใจกระแส Black Lives Matter เปลี่ยนจากการทวีตจ่าวสารของศิลปินมาเป็นการทวีตข้อมูลสำคัญหรือข้อความสนับสนุนการประท้วง เข้าไปถล่มแพลตฟอร์มของตำรวจ รวมถึงฟลัดไม่ให้คนเห็นข้อความเหยียดเชื้อชาติใน #whitelivesmatter และ #alllivesmatter ด้วยการลงรูปและวิดีโอคอนเสิร์ตของศิลปินในฉอชแท็กดังกล่าว

แฟนคลับจำนวนมากทำแบบนี้ก่อนที่ตัวศฺลปินจะออกมาแสดงความเห็นอะไรเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ ด้วยซ้ำ แต่พวกเขามองว่า พวกเขารู้สึกว่าควรมี “ความรับผิดชอบ” ในการใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและเครือข่ายที่มีทั่วโลกเพื่อทำประโยชน์มากกว่าการแชร์มีม และหลายแฟนดอมก็ตระหนักถึงการจัดการและขยายขีดความสามารถของพวกเขาในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ โดยไม่ต้องรอให้ศิลปินดาราออกมาพูด

ไลลา แฟนคลับวง BTS วัย 20 ปีในฝรั่งเศสที่ช่วยจัดการถล่มแอปฯ ตำรวจในสหรัฐฯ และขายแฟนอาร์ตเพื่อระดมทุนให้องค์กรขับเคลื่อนเรื่อง Black Lives Matter กล่าวว่า “แฟนดอมต้องการให้ BTS พูดเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงของตำรวจ แต่แฟนคลับก็ร่วมมือกันทำเรื่องนี้กันเองแล้ว” หลังจากการประท้วง Black Lives Matter ปะทุขึ้นได้ 1 สัปดาห์ วง BTS ก็ทวีตข้อความสนับสนุนพร้อมติด #BlackLivesMatter อีกทั้งยังบริจาคเงินให้การเคลื่อนไหวอีกด้วย

ปัจจุบัน แฟนเคป็อปมีอยู่ทั่วโลก หลายคนสนใจเรื่องการเมืองในประเทศต่างๆ มีการขู่จะฟ้องอิวังกา ทรัมป์ ลูกสาวของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ให้ติดแฮชแท็ก #BTS ในรูปจากทำเนียบขาว เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลชิลีเห็นแล้วว่า แฟนเคป็อปเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังช่วยการประท้วงทั่วประเทศชิลี และเมื่อปี 2561 แฟน BTS ก็สนับสนุนการประท้วงของนักศึกษาในบังกลาเทศด้วย

ทิฟฟานี ผู้เขียนบทความนี้มองว่า มาถึงจุดนี้ แฟนดอมศิลปินดาราไม่จำเป็นต้องรอให้ศิลปินที่ชอบออกมาพูดแทนพวกเขาอีกต่อไปแล้ว เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาได้เรียนรู้ว่าความสนใจของคนในโซเชียลมีเดียทำงานอย่างไร และจะทำอย่างไรให้คนหันมาใส่ใจเรื่องต่างๆ ซึ่งพวกเขาสามารถทำให้มีคนรับรู้เรื่องต่างๆ ได้หลายล้านคน หากนับผู้ที่ติดตามโซเชียลมีเดียของวง BTS วงเดียวก็มีมากกว่า 26 ล้านคนแล้ว

ย้อนไปเมื่อปี 2558 เลดี้กาก้าได้ใช้พลังโซเชียลมีเดียด้วยการส่งเสริมให้แฟนคลับมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศมากขึ้น ให้ชื่อเรียกเล่นๆ ว่า Little Monsters และให้แฟนคลับรวมตัวกัน ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ในปี 2561 แฟนคลับแฮร์รี สไตล์ใช้วิธีกดดันจากล่างขึ้นบน ด้วยการนำธง Black Lives Matter ไปชูในคอนเสิร์ตของสไตล์ และเรียกร้องให้เขาพูดถึงเรื่องนี้

แอลลิสัน โกรซ นักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสันเขียนในงานงานวิจัยล่าสุดเรื่อง แฟนคลับมองตัวเองเชื่อมกับศิลปินดาราอย่างไร และมองพวกเขาเป็นตัวแทนค่านิยมอย่างไร ว่า แฟนคลับชี้นำการกระทำของศิลปิน โดยหวังว่าจะ “ขับเคลื่อนภาพลักษณ์ของศิลปินให้ตอบสนองประเด็นทางการเมืองของพวกเขา”

โกรธซมองว่า ปัจจุบัน แฟนดอมได้เปลี่ยนจากการขอยืมอิทธิพลของศิลปินดาราในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ไปเป็นการขับเคลื่อนด้วยตัวเอง เพื่อให้แฟนคลับกันเองมองเห็นประเด็นเหล่านี้ แม้แฟนคลับยังมองว่า ศิลปินดารามีหน้าที่ในการสนับสนุนประเด็นต่างๆ แต่แฟนดอมมีการจัดตั้งที่ค่อนข้างดีสามารถขับเคลื่อนประเด็นเองได้ กระจายข่าวให้กันได้ แม้ไม่ได้ไปประท้วงด้วยตัวเอง ก็ยังประท้วงจากบ้านหรือจากอีกประเทศหนึ่งได้