ไม่พบผลการค้นหา
โลกโซเชียลกระหน่ำทวงคืนภาษีผ้าอนามัย #ภาษีผ้าอนามัย ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย ฟากอธิบดีกรมสรรพสามิต ยันผ้าอนามัยไม่อยู่ในฐานการจัดเก็บภาษีอื่นนอกจาก VAT ย้ำเป็นสินค้าจำเป็นไม่สามารถจัดเก็บภาษีอื่นได้อีก ด้านกรมการค้าภายใน ยันผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุมตั้งแต่ปี 2551

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงกรณีที่โฆษกพรรคเพื่อชาติระบุรัฐบาลจะมีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัย เพราะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่ควบคุมราคา ว่ากรมสรรพสามิตไม่มีพิกัดภาษีดังกล่าวอยู่ในฐานการจัดเก็บภาษีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวข้องกับกรมในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว และมองว่าผ้าอนามัย ถือว่าเป็นสินค้าจำเป็น ที่หากไม่ใช้จะกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ไม่ได้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด

พร้อมกับย้ำว่า ปัจจุบันผ้าอนามัยเป็นสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต (VAT) ที่อัตราร้อยละ 7 ซึ่งจัดเก็บกับผู้บริโภคที่ใช้สินค้าดังกล่าวอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวในส่วนอื่นได้อีก

ด้านนายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ยืนยันว่าปัจจุบันผ้าอนามัยทุกชนิด ซึ่งรวมถึงผ้าอนามัยแบบสอดเป็นสินค้าควบคุมมาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสินค้าที่ได้รับการพิจารณาเป็นสินค้าควบคุม จะต้องเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน รวมถึง มีราคาและปริมาณที่เคลื่อนไหวง่ายกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ ในท้องตลาด

อีกทั้ง ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่องการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ วันที่ 3 กรกฎาคม 2562 กำหนดให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุมลำดับที่ 31 ซึ่งอยู่ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กรฎาคม 2562 


ผ้าอนามัย.jpg


ขณะที่ ราชกิจจานุเบกษาประกาศคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 85 พ.ศ. 2562 เรื่องการแจ้งต้นทุน ราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับผ้าอนามัย กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ว่าจ้าง ผู้นำเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักร จะต้องมีการแจ้งชื่อสินค้า ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการนำเข้าในราชอาณาจักร ต้นทุนการจำหน่าย ค่าใช้จ่าย ราคาจำหน่าย ราคาซื้อ และรายละเอียดต่างๆ ด้วย

ขณะที่ ในทวิตเตอร์ #ภาษีผ้าอนามัย ได้ขึ้นเป็นติดอันดับ 1 เทรนด์ประเทศไทยในวันนี้ พร้อมกับมีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดยหลายคนเปรียบเทียบการเก็บภาษีจากสินค้าจำเป็น เช่น ผ้าอนามัย กับ การนำเงินภาษีไปใช้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นต้น


ทวิตเตอร์ผ้าอนามัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สินค้าประเภทผ้าอนามัย เกี่ยวข้องกับกฎหมายของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการค้าภายใน ซึ่งดูแลสินค้าจำเป็นต่างๆ , กรมสรรพากร เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม, กรมสรรพสามิต (กรณีเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ตกไปเพราะตามนิยามแล้ว ผ้าอนามัยเป็นสินค้าจำเป็นที่ได้รับการควบคุมราคา) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งถือกฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :