1.มกราคม
-ไล่ตู่โดนคดี-เชียร์ลุงไร้มลทิน
ปฐมบท social movement ปี 2563 เริ่มต้นด้วยกิจกรรมทางการเมือง สัญญะแห่งการ 'วิ่ง-เดิน' ถูกผุดขึ้นมาจากทั้งฝ่ายต้านและสนับสนุนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในยามเช้าวันที่ 12 มกราคม ดีเดย์ปล่อยตัว 'นักวิ่งไล่ลุง' หลากหลายช่วงอายุวัยเรือนหมื่นรวมใจกันชู 3 นิ้วเสียดสีการบริหารรัฐบาลแน่นสวนวชิรเบญจทัศน์ (สวนรถไฟ) จตุจักร กทม. อีกฝากฝั่งที่สวนลุมพินี ก็คึกคักไปด้วยมวลชนจากแคมเปญ 'เดินเชียร์ลุง' เพื่อให้กำลังนายกรัฐมนตรี พร้อมจัดกิจกรรมแสดงพลังปลุกความรักชาติบ้านเมือง แต่แล้วสิ้นกิจกรรมไม่นานข้ามสัปดาห์ได้มีการออกหมายเรียก 'ผู้จัดวิ่งไล่ลุง' ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และยังมีแกนนำผู้จัดอีกหลายจังหวัดที่ถูกคุกคามจากการจัดกิจกรรมตอกย้ำมาตรฐานกระบวนการยุติธรรม เมื่อคนอีกกลุ่มกลับไม่ถูกดำเนินคดี
2. กุมภาพันธ์
-ยุบอนาคตใหม่จุดพลุแฟลชม็อบ
21 กุมภาพันธ์ วันเด็ดปีกฝ่ายประชาธิปไตย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคต ใหม่ และตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี กรรมการบริหารพรรค ด้วยคดีให้พรรคเงินกู้ 191 ล้านบาท แบบไม่พลิกล็อกหักปากเซียน ทว่าจากโดมิโนฝ่ายค้านได้ล้มลง กลับกลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่เกิดพลังนิสิตนักศึกษาจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ อาทิ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อร่วมแสดงออกเชิง สัญลักษณ์ 'ไว้อาลัยความยุติธรรม' ต่อต้านอำนาจนอกระบบ และไม่เอาเผด็จการทหาร
-ซักฟอก 1 นายกฯ 5 รมต. 'ธรรมนัส' ตำบลกระสุนตก
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างวันที่ 26-28 ก.พ. 2563 ผลประชุมนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ถูกฝ่ายค้านซักฟอกทั้งหมด 6 คนได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจทั้งหมด แต่ที่ถูกพุ่งเป้ามากที่สุด คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจน้อยที่สุด โดยมีมติไว้วางใจ 269 เสียง ไม่ไว้วางใจ 55 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุม 331 คน ประเด็นที่ 'ธรรมนัส' ถูกถล่มกลางสภาฯ คือคุณสมบัติความเป็น รมต. หลังศาลออสเตรเลียมีคำพิพากษาในคดียาเสพติด เมื่อ 26 ปีก่อน โดยเขาแก้ข้อกล่าวหาว่าตัวเองมีคุณสมบัติครบถ้วนไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมว่าถูกต้องโทษโดยศาลไทย และอ้างคำสั่งของประเทศอื่นมามีผลบังคับใช้กับรัฐธรรมนูญของไทยไม่ได้
3. มีนาคม
- โควิดบานปลาย ‘ประยุทธ์’ ทุบโต๊ะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วไทย
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่มีทีท่าที่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น การแพร่ระบาดยังลุกลามจากกรุงเทพฯ กระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ยอดผู้ติดเชื้อใน ประเทศกลับพุ่งทะยานแตะหลักพันราย แถมยังมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มวันละ 100 กว่าราย ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมต้องขอไฟเขียวจาก ครม. เพื่อใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และนำไปสู่การออกแถลงการณ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเพื่อหยุดการแพร่ระบาด และผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม - 30 เมษายน 2563 ทำให้อำนาจการจัดการแก้ปัญหาวิกฤตอยู่ในมือ 'พล.อ.ประยุทธ์' แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด "รัฐบาลขอให้ประชาชนวางใจในระบบสาธารณสุขของประเทศ และโปรดดูแลรักษาสุขภาพของตนเองเพราะความไม่มีโรคเป็นลาภอันเป็นประเสริฐโดยแท้" แถลงการณ์ สำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจง
4.เมษายน
- ‘ประยุทธ์' งัดเคอร์ฟิวสู้ไวรัสร้ายโควิด
2 เมษายน สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ภายในประเทศยังอยู่ในขั้นร้ายแรง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. งัดยาแรงแจ้งประชาชนผ่านแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) รณรงค์ให้ทุกคน 'อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ' พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมเข้มโค วิด-19 โดยลดการสัญจรของประชาชนออกประกาศข้อกำหนดห้ามบุคคลออกนอก เคหะสถาน (เคอร์ฟิว) ตั้งแต่ 22.00 - 04.00 น. ทั่วราชอาณาจักร เว้นผู้มีเหตุจำเป็นหรือผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ เป็นต้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ทำให้ทั่วไทยต้องจำเป็นล็อคดาวน์ และส่งผลกระทบต่อวิกฤตเศรษฐกิจปากท้องของคนหาเช้ากินค่ำในทุกสาขาอาชีพ
5. พฤษภาคม
-‘ตามล่าหาความจริง'
ข้อความ 'ตามล่าหาความจริง' จากเงามืดยามค่ำคืน 10 พ.ค. ถูกฉายด้วยลำแสง เลเซอร์หลายจุดสำคัญ อาทิ แยกราชประสงค์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วัดปทุมวนาราม ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 ซึ่งครบ 10 ปี พอดี หลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กระสุนจริง ผ่านปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ทำให้เกิด โศกนาฏกรรมทางการเมือง มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 ราย และบาดเจ็บอีกร่วม 2,000 คน จนเกิดกระแสในโลกโซเชียลมีเดียผ่านแฮชแท็กตามล่าหาความจริง ก่อนที่ 'คณะก้าวหน้า' ภายใต้การนำของ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' ออกมายอมรับว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแสงปริศนา ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้ความจริงปรากฏว่าในอดีตเคยเกิดเหตุสังหารหมู่กลางเมืองไทย
6. มิถุนายน
- อุ้มหายวันเฉลิม
วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ลักพาตัวจาก บริเวณย่านที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ขณะที่เขาลี้ภัย การเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2557 จากนั้นเเกิดกระแสเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ ทางการไทยอย่างจริงจัง ขณะที่ทวีตเตอร์ประเทศไทยเกิดแฮชแท็ก #saveวันเฉลิม ขึ้น เป็นเทรนด์อันดับหนึ่ง ขณะที่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ สหประชาชาติ ฮิวแมนไรตส์วอทช์ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พยายามกดดันให้รัฐบาลกัมพูชาสืบสวนสาเหตุการหายตัวของวันเฉลิม
- พรรคทหารตัวจริง 'ประวิตร' นั่งประมุข พปชร.
ความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เกิดขึ้นอย่างมีรอยร้าวเมื่อกลุ่มสามมิตร 'สมคิด-สมศักดิ์-สุริยะ' แตกหักกัน ปิดฉากเหลือพียงสองมิตร เขี่ยทิ้ง 'ก๊วนสมคิด จาตุศรีพิทักษ์' ที่มี 4 กุมารออกพ้นวงโคจรพรรคทหารของ คสช.ปฏิบัติการผลักดันคน หลังฉากจากผู้มีบารมีตัวจริงใน พปชร.ให้ออกมาเปิดหน้าจึงเกิดขึ้น แม้ก่อนหน้า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯจะบ่ายเบี่ยงให้คำตอบว่า "ไม่รู้” และไม่ชัดว่าจะ มานั่งหัวหน้า พปชร. แทน 'อุตตม สาวนายน' ที่เป็นคนในคาถาของ 'สมคิด' หรือไม่ ศึก ประลองกำลังภายใน พปชร.จึงเกิดขึ้น จนถึงขั้นสื่อมวลชนนำไปพาดว่า 'ศึกแย่งชามข้าวหมา" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ จึงนอนมาอย่างไร้คู่แข่ง ได้นั่งเป็นหัวหน้าพรรค
7. กรกฎาคม
- ม็อบปลดแอกพรึ่บเต็มถนน
หลังสถานการณ์โควิดระบาดในช่วงครึ่งปีแรกเริ่มคลี่คลาย ผสมกับความอัดอั้นทางการเมืองของเยาวชนคนหนุ่มสาว กลุ่มเยาวชนปลดแอก - Free YOUTH นัดชุมนุมใหญ่ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ในวันที่ 18 กรกฎาคม โดยทางกลุ่ม ประกาศ “หมดเวลาทนอยู่กับเผด็จการ ร่วมขับไล่อำนาจมืดเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ ไปด้วยกัน” นับเป็นครั้งแรกๆ ของปี 2563 ที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่ามวลชนลงถนนขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ถึงหลักแสนคน
- สมคิดนำ 4 กุมารลาออก เปิดทางปรับ ครม.ใหม่
รอยร้าวใน พชปร.หลังการปรับโครงสร้าง กก.บห.พรรคใหม่ สารพัดก๊ก-ก๊วน-กลุ่ม มีหลายมุ้งภายในพรรคจึงมีธงในการเขี่ย 4 กุมารเพื่อเปิดทางปรับ ครม.ใหม่ เป็นผลให้ 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' ลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2563 เพื่อลดแรงกดดันทางการเมืองที่จะมีถึงนายกฯ และเวลาต่อมา 'อุตตม สาวนายน' รมว.คลัง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ และ กอบ ศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกฯ จึงยกทีมยื่นหนังสือลาออกทันที จนนำไปสู่การ ปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 โดยตั้งทีมเศรษฐกิจใหม่ และปรับ ครม.กระทรวงอื่นรวม 8 ตำแหน่ง มี รมต.คนนอกถูกทาบทามเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนา ยกฯ ควบ รมว.พลังงาน ปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง คนใน พปชร.ก็มีผลได้ขึ้นแท่นเป็น รมต.หน้าใหม่ ประกอบด้วย อนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน
8. สิงหาคม
- ปฐมบทเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
3 สิงหาคม นับเป็นประวัติศาสตร์สำคัญทางการเมืองไทย จากการปราศรัยเกี่ยวกับ สถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะของอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ใน กิจกรรมของม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย จากนั้นประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก็ถูกจุดติดและลามไปยังกลุ่มนักศึกษา โดยเฉพาะกิจกรรมของกลุ่ม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
- ถอยซื้อเรือดำน้ำ
23 สิงหาคม กองทัพเรือ ตั้งโต๊ะแถลงความจำเป็นของโครงการซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 มูลค่า 22,500 ล้านบาท จากประเทศจีน หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในชั้น กรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจใน สภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น กระทบต่อประเทศไทยอย่างรุนแรง ทั้งนี้ กองทัพเรือชี้แจงว่าจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาทะเลจีนใต้ และยืนยันว่าเป็นจีทูจีจริง กระทั่งต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งให้มีการชะลอ โครงการไปก่อนเป็นเวลา 1 ปี
9. กันยายน
- ปักหมุดคณะราษฎร 2563
19 กันยายน แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง เปิด แคมเปญ ‘19 กันยา ทวงอํานาจคืนราษฎร’ เนื่องจากประเทศไทยถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นหมุดหมายในการลุกคืบทางอำนาจของกองทัพและตุลาการที่ เริ่มแทรกแซงการเมืองไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยกิจกรรมของนักศึกษา มีการเซอร์ไพรส์ในเช้าวันที่ 20 กันยายน ด้วยการทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2563 และเปลี่ยนชื่อเรียกจากสนามหลวงเป็นสนามราษฎร์ จากนั้นได้มีการรวมตัวกันจากหลายเครือข่ายในชื่อ ‘คณะราษฎร 2563’
- ไอลอว์ ยื่นร่าง รธน.แสนรายชื่อ
22 กันยายน 2563 ภาคประชาชนนำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw (ไอลอว์) และเครือข่าย เช่น คณะประชาชนปลดแอก และกลุ่มรัฐธรรมนูญ ก้าวหน้า เดินขบวนนำ 100,732 รายชื่อประชาชนเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเดินขบวนจาก MRT สถานีเตาปูน ยื่นที่รัฐสภา โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีสาระสำคัญ ยกเลิกนายกฯคนนอก ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 และแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง ยกเลิกคำสั่ง คสช.เป็นต้น เป็นหมุดเบื้องต้นว่าประชาชนต้องการให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตย และต้องการล้างผลพวงมรดก คสช.จากการรัฐประหาร
10. ตุลาคม
- แก๊สน้ำตาจากภาษีประชาชน
หลังจากที่กลุ่มคณะราษฎร 2563 เดินขบวนไปหน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 14 ตุลาคม และแกนนำหลายคนถูกจับกุม ทำให้มวลชนออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำที่แยก ปทุมวัน ซึ่งเป็นครั้งแรกของปี 2563 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายชุมนุมด้วยการใช้รถฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาฉีดใส่ประชาชนในวันที่ 16 ตุลาคม
- รัฐสภาถกปัญหาม็อบ-โควิด
26-27 ตุลาคม 2563 รัฐสภา เปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ 3 ประเด็น 1.การชุมนุม ของคณะราษฎร 2563 เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 หรือไม่ 2.เหตุการณ์ผู้ชุมนุมบางส่วนกับขบวนเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพฯ และ 3.การสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ทั้งนี้ ส.ส.ฝ่ายค้าน พยายามบีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมายมีความพยายามล้มล้างสถาบัน
11. พฤศจิกายน
- “Thailand is the land of compromise”
1 พฤศจิกายน โจนาธาน มิลเลอร์ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ สถานีโทรทัศน์แชนแนลโฟร์นิ วส์ (Channel 4 News) ของอังกฤษ ถูกจดจำไปตลอดกาล ในฐานะสื่อมวลชนที่ได้ สัมภาษณ์รัชกาลที่ 10 ด้วยการยื่นไมค์ทูลถามระหว่างที่พระองค์ทรงทักทายพสกนิกรไทยบริเวณพระบรมมหาราชวัง โดยมีคำถามต่อประเด็นที่มีผู้การเรียกร้องให้ปฏิรูป สถาบันฯ ซึ่งรัชกาลที่ 10 ได้เผยพระราชดำรัสว่า “ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม”
- รัฐสภาคว่ำร่างไอลอว์ - ยิงแก๊สน้ำสลายม็อบ
17 พฤศจิกายน ที่ประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ ขณะที่นอกรัฐสภามีการสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี แก๊สน้ำตา นอกจากนี้ยังมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรกับผู้ชุมนุมเสื้อแดงบริเวณแยกเกียกกาย อย่างไรก็ตาม ในการลงมติวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ประชุมรัฐสภาได้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ภาคประชาชน โดย ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว. ชำแหละร่างดังกล่าวว่า มีเนื้อหาสาระที่ส่อไปในทางล้มล้างสถาบันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
12. ธันวาคม
- ‘ประยุทธ์’ รอดคดีบ้านพักหลวง - เลือกตั้งท้องถิ่นหลังยึดอำนาจ
2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเห็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีอยู่บ้านพักในค่ายทหาร ใช้น้ำและไฟฟ้าฟรี โดยศาลชี้ว่าไม่มีความผิดเนื่องจาก ระเบียบของกองทัพบกอนุญาตให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ได้ ในฐานอดีตผู้บัญชาการทหาร บก นอกจากนี้ยังไม่ขัดกับหลักจริยธรรมร้ายแรง และไม่ผิดหลักกฎหมายว่าด้วยการขัด กันแห่งผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม
- เลือกตั้งท้องถิ่นในรอบ 7 ปี
20 ธันวาคม ยังคึกคักด้วยการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยพรรค เพื่อไทย ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 25 จังหวัด ขณะที่คณะก้าวหน้านำโดย ‘ธนาธร จึง รุ่งเรืองกิจ’ ส่ง 42 จังหวัด พรรคประชาธิปัตย์ 2 จังหวัด นอกนั้นเป็นผู้สมัครอิสระ และผู้สมัครที่มีพรรคการเมืองหนุนหลัง ทั้งนี้ กกต.เผยจังหวัดที่มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด คือ จ.พัทลุง คิดเป็นร้อยละ 78.04 ส่วนการประกาศรับรองผล ตามมาตรา 17 พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น กำหนดว่า หากการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตไม่มีเรื่องร้องเรียน กกต.สามารถประกาศรับรองผลได้ภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่หากพบว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต มีเรื่องร้องเรียนร้องคัดค้านก็ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายในไม่เกิน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง