ไม่พบผลการค้นหา
สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดปลาปักเป้าข้ามสายพันธุ์มากขึ้น จนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องสั่งห้ามขายปลาปักเป้าชนิดใหม่นี้ เพราะเกรงจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่ชาวประมงคัดค้านว่าควรอนุญาตให้ขายปลาปักเป้าชนิดใหม่ได้ แต่ควบคุมให้เข้มงวดขึ้น

ปลาปักเป้าเป็นสินค้าที่มีการควบคุมการขายและประกอบอาหารอย่างเข้มงวดในญี่ปุ่น ต้องให้เชฟที่ได้รับใบอนุญาตจากทางการเท่านั้นจึงจะแล่เนื้อปลาปักเป้าได้อย่างถูกวิธี เพราะปลาปักเป้ามีพิษที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้กลายมาเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำหรับผู้บริโภคปลาปักเป้า

ชาวประมงญี่ปุ่น เพราะชาวประมงพบว่าจำนวนปลาปักเป้าที่เป็นลูกครึ่งระหว่างสองสายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น

ปลาปักเป้าว่ายขึ้นเหนือมากขึ้นเพื่อไปหาน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นขึ้น ทำให้ปลาปักเป้าที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกันผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์กันมากขึ้น ซึ่งแม้ปลาปักเป้าลูกครึ่งเหล่านี้จะไม่ได้มีพิษร้ายแรงไปกว่าสายพันธุ์ที่เคยรู้จักกันอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ตรงที่การแยกแยะระหว่างปลาข้ามสายพันธุ์กับปลาสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ขึ้นทะเบียนของทางการญี่ปุ่นไปแล้ว ทางการญี่ปุ่นจึงห้ามไม่ให้ขายปลาลูกครึ่งเหล่านี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแล่ผิดพลาดจนมีคนเสียชีวิต แต่การที่ปลาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ก็ทำให้ชาวประมงและพ่อค้าปลาจำเป็นต้องทิ้งปลาที่จับมาได้ไปจำนวนมาก

บริษัทแปรรูปอาหารทะเล คะนิยะเป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่รู้สึกอึดอัดกับกฎเกณฑ์ของรัฐบาลที่ให้ทิ้งปลปักเป้าาข้ามสายพันธุ์ไป เพราะมองว่า “ปลาปักเป้าข้ามสายพันธุ์ก็มีต่อมพิษอยู่บริเวณเดียวกันสายพันธุ์ดั้งเดิม ผู้บริโภคก็สามารถกินปลาข้ามสายพันธุ์ได้อย่างปลอดภัย หากมีการแล่อย่างถูกต้อง แต่บริษัทก็จำเป็นต้องทำตามกฎ เพราะหากมีปัญหาเกิดขึ้น จะทำให้คนตื่นตระหนก”

ปลาปักเป้าที่พบนอกชายฝั่งญี่ปุ่นมีกว่า 50 สายพันธุ์ แต่มี 22 สายพันธุ์เท่านั้นที่รัฐบาลญี่ปุ่นรับรองว่าสามารถกินได้ เนื่องจากปลาปักเป้ามีสารเทโทโดท็อกซินที่เป็นพิษต่อระบบประสาท ซึ่งปลาปักเป้าแต่ละสายพันธุ์ก็มีต่อมพิษอยู่คนละที่ สารพิษนี้อาจไปอยู่ในตับ อวัยวะสืบพันธุ์ ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อของปลาก็ได้ จึงต้องใช้ความสามารถในการแล่มากเป็นพิเศษ โดยเชฟและพ่อค้าปลาที่จะขายปลาปักเป้าจะต้องได้รับการฝึกฝนโดยเฉพาะ และได้รับใบอนุญาตให้การแล่ปลาปักเป้า

ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

จำนวนปลาข้ามสายพันธุ์เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสัตว์น้ำ เนื่องจากมีการอพยพครั้งใหญ่ของสัตว์ทะเล หลังอุณหภูมิน้ำในบริเวณเดิมสูงขึ้น

รองศาสตราจารย์ฮิโรชิ ทะคะฮะชิ จากมหาวิทยาลัยประมงแห่งชาติของญี่ปุ่นระบุว่า เขาตระหนักว่ามีปลาปักเป้าข้ามสายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ 6 ปีก่อน โดยช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2012 ปลาปักเป้าเกือบร้อยละ 40 ที่จับได้เป็นปลาที่ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ได้ เทียบกับผลการศึกษาก่อนหน้านี้ที่มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

คนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญจะไม่สามารถแยกแยะปลาข้ามสายพันธุ์ได้เลย แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านนี้มานานก็ยังแทบจะแยะปลาปักเป้าข้ามสายพันธุ์รุ่นที่ 2 หรือปลาที่เกิดจากปลาสายพันธุ์ดั้งเดิมกับปลาข้ามสายพันธุ์รุ่นแรกไม่ได้เลย ต้องใช้วิธีตรวจสอบทางพันธุศาสตร์

เมื่อปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ปลาปักเป้าที่จับได้นอกชายฝั่งมิยะกิ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นมากกว่าร้อยละ 20 เป็นปลาข้ามสายพันธุ์ และจากการทตรวจสอบพบว่า ปลาปักเป้าเหล่านี้เป็นปลาข้ามสายพันธุ์ระหว่าง “ทะคิฟุกุ สติกโตโนตัส” ที่มันว่ายอยู่แถวทะเลญี่ปุ่น กับ “ทะคิฟุกุ สไนเดอรี” ที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใกล้เคียงกัน รศ.ทะคะฮะชิเชื่อว่า “ทะคิฟุกุ สติกโตโนตัส” หนีน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกขึ้นไปผสมพันธุ์กับ “ทะคิฟุกุ สไนเดอรี” ทำให้ปลาข้ามสายพันธุ์นี้มีทั้งลายจุดและครีบสีเหลือง-ขาว ซึ่งเป็นจุดเด่นของทั้งสองสายพันธุ์

ยุคิโอะ ยะมะโมโตะ ชาวประมงวัย 49 ปีกล่าวว่า เขาต้องออกเรือไปไกลกว่าเดิมเพื่อจับปลาที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว เพราะในพื้นที่เดิมมีปลาข้ามสายพันธุ์จำนวนมากขึ้นในช่วงเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ที่มา : Reuters