ไม่พบผลการค้นหา
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อก 'กัญชา-กัญชง' พ้นยาเสพติด ยกเว้นช่อดอกและเมล็ดกัญชา มีผลตั้งแต่ 15 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป ด้าน 'อนุทิน' รับปลดล็อกได้ไม่ทั้งหมด เหตุติดสนธิสัญญาสหประชาชาติเรื่องยาเสพติด เตรียมดันเป็นพืชเศรษฐกิจ

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เปิดเผยว่า จากมติคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 ในประเด็นการจัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อปลดล็อกส่วนของกัญชาและกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติดนั้น อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศดังกล่าวและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป

สาระสำคัญของประกาศดังกล่าว เป็นการระบุว่าสิ่งใดจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และสิ่งใดที่ยกเว้น ซึ่งกัญชาและกัญชงยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพียงแต่ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ได้จากการปลูกหรือผลิตในประเทศ ได้แก่ ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก และ เส้นใย รวมถึงสารสกัดที่มี CBD เป็นส่วนประกอบและกากที่เหลือจากการสกัด ซึ่งต้องมี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2, เมล็ดกัญชงน้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชงไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และอื่นๆ ได้ ประชาชนสามารถใช้ส่วนต่าง ๆ ของกัญชา กัญชง ทั้งนำไปประกอบอาหาร ทำยารักษาโรค เป็นต้น

ส่วนการนำเข้ากัญชา กัญชง สามารถทำได้ โดยขออนุญาตเป็นยาเสพติด ยกเว้น เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง และเส้นใยแห้ง ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดตามประกาศนี้


ชี้ปลดล็อกกัญชาได้ไม่หมดติดเงื่อนไขสนธิสัญญายูเอ็น

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า เหตุที่ยังปลดทุกส่วนของต้นกัญชา กัญชงออกจากยาเสพติดไม่ได้ เนื่องจากติดอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ดังนั้นการปลูกกัญชาและกัญชงยังคงต้องขออนุญาตตามกฎหมายยาเสพติด แต่เมื่อปลูกไปแล้วส่วนที่มีสาร THC ต่ำ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องทำลายทิ้ง โดยผู้ขออนุญาตจะต้องแจ้ง อย.ว่าจะนำส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติดไปใช้ประโยชน์อย่างไร

ส่วนการนำกัญชาไปใช้จะต้องได้มาจากผู้รับอนุญาตที่ถูกกฎหมาย โดยตรวจสอบได้จาก https://www.fda.moph.go.th หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ 1556 กด 3 และขอย้ำให้ประชาชนทั่วไปทราบว่า การขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ที่ทำอย่างถูกต้อง ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ขณะนี้มีการขออนุญาตแล้วหลาย 100 ราย โดยจะมีคณะกรรมการตรวจสอบที่มาและการนำไปใช้อย่างถูกต้อง 

54193.jpg.webp


 เตรียมดันเป็นพืชเศรษฐกิจ ชี้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการปลดล็อกกัญชงและกัญชา ว่า ปลดไม่ได้ แต่จะพยายามปลดให้ได้มากที่สุด ตามกฎกระทรวง ซึ่งสิ่งที่เราทำการปลดล็อกจะต้องสอดคล้องกับนโยบายการทำกัญชาทางการแพทย์ สามารถสกัดน้ำมันจากกัญชาทั้งสารแคนนาบิไดออล (CBD) และสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ภายใต้กฎกระทรวง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น สาเหตุที่ยังปลดไม่ได้ทั้งหมด เพราะเราอยู่ภายใต้สนธิสัญญาตามสหประชาชาติว่ากัญชาเป็นยาเสพติด เราต้องพยายามที่จะแก้ไขทางโน้น ซึ่งได้ข่าวว่าก็มีความพยายามที่จะแก้ไขกันอยู่

เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการดันกัญชง กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องเป็นให้ได้ เพราะคือวัตถุประสงค์หลัก ทุกส่วนของพืชกัญชาสามารถนำไปผลิตเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าต่างๆ มากมาย ถ้าใช้อย่างถูกวิธี ซึ่งทาง สธ. เน้นย้ำว่า ให้นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เมื่อคนเห็นว่ามีประโยชน์ทางการแพทย์อย่างไร ก็สามารถขยายแตกแขนงการผลิตออกไปได้อีกหลายอย่าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย



เปิดรายละเอียดปลดล็อก 'กัญชา-กัญชง' พ้นยาเสพติด

สำหรับ รายละเอียดของประกาศดังกล่าว ระบุว่าให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 31 ก.ค. 2561 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ลงวันที่27 ส.ค. 2562 ข้อ 2 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม

(1) กัญชา (cannabis) พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เช่น ยาง น้ำมัน ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

  • เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
  • ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
  • สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
  • กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก

(2) กัญชง (hemp) พืชซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. sativa อันเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา (Cannabis sativa L.) และวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชง เช่น ยาง น้ำมัน ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

  • เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
  • ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
  • สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol , THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
  • เมล็ดกัญชง (hemp seed), น้ำมันจากเมล็ดกัญชง (hemp seed oil) หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง (hemp seed extract)
  • กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชงและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol , THC) ไม่เกินร้อยละ ๐.๒ โดยน้ำหนัก

(3) พืชกระท่อม พืชซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa(Korth.) Havil.และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกระท่อม เช่น แอลคาลอยด์

(4) พืชฝิ่น พืชซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Papaver somniferumL. และ Papaverbracteatum Lindl. หรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้ฝิ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น

(5) เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis(Earle)Singer หรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin การนำเข้าวัตถุหรือสารข้างต้นให้นำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้งเส้นใยแห้ง ของกัญชาและกัญชง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :