ไม่พบผลการค้นหา
สภาพัฒน์ ถกภาคเอกชน หาข้อเสนอแนะ มาตรการการป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานให้กับรัฐบาล ตั้งคณะทำงาน 5 ชุด กำหนดรายละเอียดเฉพาะด้าน ด้านเอกชนประเมินคนตกงานไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน หากสถานการณ์ยืดเยื้ออีก 3 เดือน

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่าที่ประชุมได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 5 ชุด เพื่อมาดูว่ามาตรการที่รัฐบาลดำเนินการออกมาในการเยียวยาผลกระทบเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทั้ง 3 ระยะ ยังมีข้อติดขัดอย่างไร และจะดูแลไปถึงหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้วนั้น ภาคธุรกิจจะปรับตัวอย่างไร 

สภาพัฒแถลง
  • ทศพล ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำหรับคณะทำงานทั้ง 5 ชุด ประกอบด้วย กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร และกลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล (Digital Solution) โดยเบื้องต้นจะมีการสรุปมาตรการที่เกี่ยวข้องในวันที่ 20 เมษายนนี้ก่อนเสนอให้กับคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

ทั้งนี้จะมีการเปิดช่องทาง ดำเนินการประมวลความต้องการจากทุกภาคส่วน รวมถึงการเปิดพื้นที่สาธารณะในการรับฟังความคิดเห็นผ่าน Facebook “ร่วมด้วยช่วยคิด” เพื่อรวบรวมความคิดเห็นต่อไปด้วย

สภาพัฒแถลง
  • สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีขณะนี้ คือยังไม่ได้รับการปล่อยสินเชื่อมากพอ ดังนั้นเสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันให้ร้อยละ 80 ในส่วนของการดูแลแรงงาน จะเสนอให้รัฐบาลเข้ามาจ่ายค่าแรงงานแทนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในสัดส่วน ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ผู้ประกบอการจ่ายร้อยละ 25 ของค่าจ่าย รวมเป็นร้อยละ 75 ของค่าจ้าง หรือเพดาน 7,500 บาทต่อเดือน ในช่วงที่กิจการยังปิดชั่วคราว โดยเอกชนสามารถนำหักหักภาษีได้ 3 เท่า ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบการเลิกจ้างของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้เสนอให้มีการปรับลดค่าไฟฟ้าเป็นร้อยละ 5 และลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจากร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 1 เท่ากับลูกจ้าง

สภาพัฒแถลง
  • กลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศ ขณะนี้มีจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบและถูกเลิกจ้างกว่า 7 ล้านคน โดยประเมินว่าหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 เดือน จะทำให้แรงงานตกงานถึง 10 ล้านคน

ทั้งนี้จะเสนอให้บางธุรกิจบางกิจการกลับมาเปิดกิจการได้ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ และการจ้างงาน แต่เบื้องต้นจะต้องมีการศึกษาว่ามีธุรกิจใดบ้างที่จะเปิดได้เพิ่มเติม เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย เป็นต้น ต้องดูวิธีการว่าจะทำอย่างไร รวมทั้งปรึกษาหมอและศูนย์โควิดของรัฐบาลด้วย