ไม่พบผลการค้นหา
ขอบอกผู้อ่านทุกท่านก่อนเลยว่า ‘ระรี่’ มีความหมายว่า ‘หัวเราะร่วน’ ส่วน ‘ระรี่สวิงแดนซ์’ คือกลุ่มนักเต้นรำย้อนยุคในจังหวัดสงขลา ซึ่งพวกเขารวมตัวกันเหนียวแน่นจนกลายเป็นชุมชน และกำลังกระจายความนิยมออกไปทั่วทุกภาคของประเทศ

เสียงฝีเท้ากระทบพื้นดังพร้อมเพรียง ณ ท่าน้ำหลังอาคาร ‘หับ โห้ หิ้น’ หรือ ‘โรงสีแดง’ อายุกว่า 100 ปี บนถนนนครนอก ย่านเมืองเก่าสงขลา คลอเคล้าด้วยจังหวะดนตรีสวิงแจ๊ซ เสียงคลื่น และสายลมอ่อนๆ ในมวลอากาศ ช่างเป็นบรรยากาศอันรื่นรมย์ สมกับเป็นวีคเอนด์แสนสนุกยิ่งนัก

5.jpg
  • บรรยากาศความสนุกของการเต้นสวิงแดนซ์ริมทะเลสาบ ย่านเมืองเก่าสงขลา เมื่อ 12 มกราคม ที่ผ่านมา

ท่ามกลางความครื้นเครง Voice On Being พบกับ นุ่น – ปาลปวีณ์ ณ สงขลา หญิงสาวผู้นำทีมนักเต้นสวิงแดนซ์กว่า 10 ชีวิตออกมาซ้อมสเต็ป โดยมีแบล็กกราวน์เป็นท้องฟ้าสีวานิลลายามพระอาทิตย์อัสดง

จังหวะนี้ โรงสีแดง ‘หับ โห้ หิ้น’ เอกลักษณ์เด่นกลางย่านประวัติศาสตร์ของสงขลา ราวกับถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ ในฐานะสถานที่จัดเทศกาล เซาธ์ เฟสต์ ไทยแลนด์ (South Fest Thailand) งานแสดงศิลปะครั้งแรกของจังหวัดสงขลา และมันเป็นอีกหนึ่งครั้งที่ชมรมสวิงแดนซ์ของปาลปวีณ์จะมาโชว์ลีลา พร้อมกับเชิญชวนผู้คนในพื้นที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ ออกมาเต้นรำร่วมกันท่ามกลางบรรยากาศดีๆ

จากนักเรียนด้านดีไซน์ที่เคยอาศัยอยู่กลางเมืองกรุง ปาลปวีณ์เลือกเดินทางกลับสงขลาจังหวัดบ้านเกิด ด้วยความจำเป็นจะต้องสืบทอดกิจการของครอบครัว ทว่าหลังจากกลับมาได้พักใหญ่ๆ ความเงียบเหงาทำให้เธอตัดสินใจนำกิจกรรมที่รักกลับมาสานต่อ นั่นคือ ‘การเต้นสวิงแดนซ์’ และชวนคนสงขลาออกมาเต้นรำกันยามค่ำคืน

T01.jpg
  • นุ่น – ปาลปวีณ์ ณ สงขลา หญิงสาวผู้นำทีมนักเต้นสวิงแดนซ์ ชุมชนความสุขสุดสวิงย่านเมืองเก่าสงขลา

ปาลปวีร์ย้อนเล่าจุดเริ่มต้นว่า หลังจากกลับมาอยู่บ้าน และเหงาอยู่พักใหญ่ เพื่อนชมรมบางกอกสวิงแดนซ์ก็เดินทางมาเยี่ยม ทำให้เกิดความคิดขึ้นมาว่า น่าจะจัดอีเวนต์สักอย่าง เพื่อสร้างสีสัน และความสนุกสนานให้กับบ้านเกิดของตัวเอง

เธอเริ่มต้นโปรโมตแบบงูๆ ปลาๆ แต่สุดท้ายการเต้นสวิงแดนซ์ครั้งแรกของคนสงขลาก็เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 จากนั้นความนิยมชมชอบก็ส่งต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงขั้นเมื่อปีก่อน เธอสามารถเปิดสตูดิโอสอนเต้นของตัวเอง และเข้าไปเป็นอาจารย์สอนเต้นในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ปัจจุบัน คอมมูนิตี้สวิงแดนซ์จังหวัดสงขลาประกอบด้วยสมาชิกหลักราว 20 คน สมาชิกบางคนมาจากหาดใหญ่ บางคนมาจากตัวเมือง หรือบางคนก็เดินทางมาจากต่างอำเภอ แต่พวกเขามารวมตัวกันภายใต้ชื่อว่า ‘ระรี่สวิงแดนซ์’

“ระรี่ แปลว่า การหัวเราะสนุกสนาน เป็นคำไทยเก่าหน่อย หมายถึงการเต้นแล้วมีความสุข” ซึ่งปาลปวีณ์คิดว่า มันเป็นหัวใจของการเต้นสวิงแดนซ์ที่แท้จริง

C00T01.jpg

ชุมชนชาวสวิงแดนซ์กระจายตัวทั่วไทย

‘ระรี่สวิงแดนซ์’ ตอกย้ำความนิยมของสวิงแดนซ์ว่า ไม่ได้มีกิจกรรมกลิ่นอายย้อนยุคเกิดขึ้นแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่มันเป็นหนึ่งเทรนด์ที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยแต่ละเมืองก็มีคนเก็ต คนอิน ในสไตล์การเต้นสุดวินเทจ ซึ่งหยิบกลับมานำเสนอใหม่ในช่วงเวลาร่วมสมัย

หลังจากพูดคุยกับปาลปวีณ์เราพบว่า ชุมชนชาวสวิงแดนซ์กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็มีการเชื่อมโยงกันจากจังหวัดสู่จังหวัด อาทิ ชวนผู้ก่อตั้งจากจังหวัดหนึ่ง ไปร่วมเวิร์กช็อปกับอีกจากหวัดหนึ่งที่อยู่ห่างไกลกันนับพันๆ กิโล

สงขลามี ‘ระรี่สวิงแดนซ์’ เชียงใหม่มี ‘เชียงใหม่สวิงแดนซ์’ ขอนแก่นก็มี ‘ขอนแก่นสวิงแดนซ์’ และหลายๆ ครั้งในหนึ่งปี ผู้ก่อตั้งขอนแก่นสวิงแดนซ์จะเดินทางไปจัดเวิร์กช็อปเต้นในตัวเมืองอุดรธานี ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งทุกครั้ง 

ตัวปาลปวีณ์เองก็เคยเดินทางไปสอนสวิงแดนซ์ในจังหวัดขอนแก่น และเคยอ้าแขนต้อนรับสวิงแดนซ์เชียงใหม่มาสอนที่หาดใหญ่เช่นกัน



C00871.jpgC7T01.jpg

แน่นอนว่า การเกิดขึ้นของชุมชนสวิงแดนซ์ในหลายจังหวัด อาจเป็นเพราะสมาชิกที่เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในกรุงเทพฯ ตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านเกิดกันมากขึ้น และนำพาสิ่งที่รักกลับมาด้วย แต่ความน่าสนใจกว่าก็คือ ทุกๆ คอมมูนิตี้สวิงแดนซ์ต่างมีความ ‘เข้มแข็ง’ ในการรวมกลุ่ม เห็นได้จากกิจกรรมที่จัดอย่างต่อเนื่อง

“ความพิเศษมากๆ ของการสวิงแดนซ์น่าจะเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ที่ทำให้เต้นไม่มีเบื่อ จะเต้นยังไงก็ได้ ไม่มีถูกไม่มีผิด” ปาลปวีณ์บอกเล่าตามความคิดเห็นของเธอ ซึ่งเต้นสวิงแดนซ์มาหลายปี ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน กระทั่งขยับมาเป็นผู้สอน

ความสุขของการได้เคลื่อนไหวร่างกาย และท่าเต้นที่ฟรีฟอร์ม จึงน่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้สวิงแดนซ์จับใจคนทั่วไปได้ไม่ยาก

“การเต้นสวิงสำหรับนุ่น คือเป็นตัวเองมากๆ เวลาเราอยู่กับดนตรี หรือจังหวะ เราจะไม่มีความเสแสร้ง เป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้น ดังนั้น เวลาเราได้รู้จักใครในตอนที่เขาเป็นตัวเองมากๆ มันทำให้คอนเน็กกันได้ จุดนี้ทำให้สังคมสวิงมันเหนียวแน่น”

นอกจากความอิสระของการเต้นรำ ‘สเต็ปง่ายๆ แต่สนุกยาวๆ’ ก็เป็นอีกเสน่ห์ของสวิงแดนซ์

ทุกครั้งที่จัดอีเวนต์ก็ได้สมาชิกของชมรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนมาเต้นแล้ว ก็อยากกลับมาเต้นอีกครั้ง ไม่ได้มาแล้วเลิกรากันไป รูปแบบสวิงแดนซ์ไม่เคยท้าทายผู้เต้นด้วยสกิลการเต้นหรือเน้นท่ายาก

C0087T01.jpg087T01.jpg

การเวิร์กช็อปในวันนี้ มีการสอนสเต็ปเท้า การเบ๊าซ์ หรือการย่อตัวตามจังหวะเพียงสั้นๆ จากนั้นให้จับคู่กัน และยืนเป็นวงกลมสองวง ชั้นใน และชั้นนอก หันหน้าเข้าหากัน เริ่มเต้น และหมุนสลับคู่ไปเรื่อยๆ ภายในวง จึงได้เห็นภาพการช่วยเหลือกันระหว่างคนที่เต้นเก่ง และคนที่เพิ่งเริ่มต้น หรือคู่ที่เพิ่งเริ่มต้นใหม่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

มะตูม – ธีติ พฤกษ์อุดม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งเพิ่งเคยเต้นสวิงแดนซ์ครั้งแรก บอกว่า แม้ว่าตนจะเคยเต้นลีลาศมาก่อน แต่บรรยากาศสวิงแดนซ์กลับเชิญชวนให้อยากเข้าไปร่วมด้วยมากกว่า ต่างจากลีลาศที่เป็นกีฬาที่มีความเครียดมากกว่า

“ความเป็นสวิงแดนซ์มันคือความเป็นกันเอง มองแล้วประทับใจ บางคนเห็นอะไรยากจนเกินไปเขาจะปฏิเสธแต่แรก แต่สวิงแดนซ์เป็นอะไรที่สิ่งที่เอ็นจอย ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายๆ

“แม้จะมีนับจังหวะผิดไปบ้าง แต่สุดท้ายทุกคนก็เข้าจังหวะร่วมกันได้ ทุกคนเต้นได้ไม่ว่าจะผู้สูงวัย เด็ก นิสิต หรือแม้กระทั่งชาวต่างชาติ สวิงแดนซ์เหมือนเป็นภาษาหนึ่งที่เราใช้สื่อสาร เราคุยกันได้ไม่ว่ามาจากไหน สวิงแดนซ์แค่เปิดเพลง มองตา แล้วก็เต้นด้วยกัน แค่นี้ก็มีเสียงหัวเราะเข้ามาแล้วครับ”