ไม่พบผลการค้นหา
ความต้องการทุเรียนจากผู้บริโภคจีน ทำให้มาเลเซียหันมาทำสวนทุเรียนระดับอุตสาหกรรมกันมากขึ้น เพื่อทำการส่งออก ซึ่งความนิยมดังกล่าวส่งผลให้เกิดการถางป่า

ความต้องการทุเรียนของชาวจีน ซึ่งนำเข้าทุเรียนเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทำให้ประเทศผู้ส่งออกแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาเลเซียเริ่มปรับตัว โดยพยายามยกระดับจากการทำสวนทุเรียนขนาดเล็กเป็นระดับอุตสาหกรรม

ด้านนักสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นกังวลว่า เทรนด์เกษตรกรรมจะกลายเป็นภัยใหม่ที่คุกคามป่าฝนของมาเลเซีย เพิ่มเติมจากปัญหาจากการตัดไม้ และการทำสวนปาล์มน้ำมันที่มีอยู่เดิม

โซฟีน แทนน์ (Sophine Tann) ตัวแทนจากเปกา (PEKA) องค์กรเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมของมาเลเซีย ซึ่งศึกษาการโค่นถางป่า เพื่อเตรียมดินสำหรับปลูกทุเรียน ชี้ว่า กำลังมีการเตรียมทำลายป่าเดิม เพื่อปลูกทุเรียนรองรับอุปสงค์

เร็วๆ นี้ ในเมืองราอุบ (Raub) ใจกลางประเทศมาเลเซีย ทิวไม้ในป่าฝนถูกโค่น เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกทุเรียน โดยพื้นที่สวนทุเรียนเหล่านี้อยู่ติดกับเขตป่าสงวน ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์นานาชนิดตั้งแต่ลิงไปจนถึงนกพันธุ์หายาก ใกล้กันนั้นยังมีแม่น้ำที่ตอนนี้ถูกถมเต็มไปด้วยกิ่ง และก้านจากการโค่นไม้เดิม ป้ายภาพนอกสวนระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวดำเนินการโดยบริษัทแอมเพิลฮาร์เวสต์โปรดิวซ์ (Ample Harvest Produce) แต่ทางบริษัทปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้ที่สูญเสียไปในพื้นที่

ทางเปกา กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เปลี่ยนแปลงสถานะของพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้สามารถตัดไม้ในบริเวณนั้นได้ ทางด้านเจ้าหน้าที่ทางการไม่ออกความเห็น

ทุเรียน.jpg

สำหรับตลาดประเทศจีนเองนั้น หวัง เถา (Wang Tao) ผู้จัดการร้านผลไม้ลิตเติลฟรุ๊ตกัปตัน (Little Fruit Captain) ในห้างสรรพสินค้า ณ กรุงปักกิ่ง เล่าว่า ลูกค้าของร้านตกหลุมรักทุเรียนจากมาเลเซีย เพราะรสหวานแบบเฉพาะตัว และชอบมากกว่าทุเรียนจากประเทศผู้ส่งออกรายอื่นอย่างไทย โดยปกติแล้วหวังนำเข้าทุเรียนแช่แข็งมาจากโรงงานในมาเลเซีย และขายในกล่องพลาสติกหรือแปรรูปเป็นอย่างอื่น เช่น ไอศกรีมทุเรียนหรือทุเรียนทอด

หลิว จื่อหลุน (Liu Zelun) นักศึกษามหาวิทยาลัยผู้เป็นลูกค้าประจำของร้าน มองว่าทุเรียนไทยมีรสแรงกว่า เมื่อกินไปสักพักก็เริ่มเลี่ยน แต่ทุเรียนจากร้านนี้ไม่เป็นอย่างนั้น

จากข้อมูลปี 2016 ของ ทริดจ์ (Tridge) ของบริษัทค้าส่งระหว่างประเทศ ไทยมีมูลค่าการส่งออกทุเรียนเป็นอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่มาเลเซียอยู่ที่อันดับ 26 ด้วยมูลค่า 16.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็น่าสังเกตว่าในปีนั้น มูลค่าของทุเรียนที่ส่งออกต่อลูกสูงขึ้นถึง 278.71 เปอร์เซ็นต์ และสะท้อนถึงศักยภาพที่มูลค่าตลาดจะโตได้

หนึ่งในทุเรียนมาเลย์พันธุ์ที่นิยมที่สุดและแพงที่สุดคือ มูซังคิง (Musang King) ขึ้นชื่อเรื่องเนื้อแน่นเหลืองสวย ราคาจากแผงผลไม้ในปักกิ่งอยู่ที่ 800 หยวน หรือประมาณ 3,700 บาทต่อลูก ซึ่งแพงกว่าราคาที่ขายภายในประเทศมาเลเซียเองหลายเท่าตัว แต่หวังกล่าวว่าลูกค้าของร้านไม่สนใจว่าราคาจะแพงแค่ไหน พวกเขาแค่ต้องการทุเรียนที่ดีที่สุด

ราคาของที่ต่ำลงของสินค้าส่งออกสำคัญอย่างปาล์มน้ำมันก็ทำให้เกษตรกรชาวมาเลย์หันไปปลูกทุเรียนกันมากขึ้น และทางรัฐบาลเองก็หนุนการขยายตัวของธุรกิจนี้โดยหวังว่าจะดึงรายได้จากจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรมาเลเซีย ระบุว่ามูลค่าการส่งออกทุเรียนจากมาเลเซียไปประเทศจีนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2018 อยู่ที่ 7.4 ล้านริงกิต (ประมาณ 57 ล้านบาทไทย) ซึ่งมากกว่ามูลค่าในช่วงเดือนเดียวกันเมื่อปี 2017 ถึงสองเท่า

อย่างไรก็ตาม ซาลาฮุดดิน อายุบ (Salahuddin Ayub) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ยืนยันว่า การขยายการปลูกจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และกระทรวงไม่ส่งเสริมให้โค่นถางพื้นที่ใหม่ แต่ให้ปลูกในพื้นที่สวนที่มีอยู่เดิม พร้อมย้ำว่าหากจะมีการตัดไม้เพื่อปลูกทุเรียนก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมโดยเคร่งครัด

ในปีก่อน รัฐกลันตันทางอีสานของมาเลเซีย ชนกลุ่มน้อยตั้งด่านขัดขวางบริษัทแห่งหนึ่งที่จะโค่นถางป่าในพื้นที่บรรพบุรุษของพวกเขา เพื่อทำสวนทุเรียนมูซังคิง แม้ในกรณีนั้นรัฐบาลกลางมาเลเซียได้รับเรื่อง และฟ้องรัฐบาลกลันตันที่ล้มเหลวในการปกป้องสิทธิในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ แต่นักสิ่งแวดล้อมยังมองว่า สถานการณ์ในภาพรวมของทั้งประเทศนั้นยังน่าเป็นห่วง

ริมบา (Rimba) กลุ่มนักสิ่งแวดล้อมยังออกมาเตือนอีกว่า การทำสวนทุเรียนจะยิ่งทำให้เกิดการโค่นถางป่า และลดความหลากหลายทางชีวภาพในมาเลเซีย และจะนำไปสู่การทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิดอย่างเสือ ช้าง ลิง และนกเงือก

ที่มา :

On Being
198Article
0Video
0Blog