ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลเหล่านี้เปลี่ยนจากการป้องกันการติดเชื้อมาสู่นโยบายการกระจายวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้คนในสังคม ทว่าก็ติดปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการแจกจ่ายวัคซีนอยู่ดี

ไทยคือจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีนตลอดหลายปีที่ผ่านมา นั่นทำให้เราพบเคสผู้ติดเชื้อโควิดรายแรกตั้งแต่ 13 มกราคม 2563 ขณะที่การเสียชีวิตครั้งแรกนอกแผ่นดินมังกรเกิดขึ้นที่ฟิลิปปินส์ ทว่าทั้งสองประเทศแทบไม่ได้ตกอยู่ในภาวะวิกฤตผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล เตียงไม่พอ ถังออกซิเจนไม่มีแต่อย่างใด 

อิตาลีต่างหากคือประเทศที่เผชิญหน้าวิกฤตโควิด-19 หนักหน่วงในช่วงแรก ๆ แม้จะมีอัตราผู้ติดเชื้อรายวันไม่สูงมากนัก แต่กลับมียอดผู้เสียชีวิตขึ้นไปสูงถึง 921 ราย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ก่อนจะลดลงเรื่อย ๆ แล้วมาพีคอีกครั้งตอนปลายปีไล่มาจนถึงช่วงมิถุนายนปีนี้ 

ไม่นานหลังอิตาลีกลายเป็น ‘ฮอตสปอต’ ของโรคระบาด ประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ไปจนถึงบราซิลก็ตามมา เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ทว่าดินแดนที่ยกระดับความสูญเสียให้พุ่งขึ้นไปจนทั่วโลกหวั่นใจกลายเป็นอินเดียกับยอดผู้ติดเชื้อรายวันหลักแสนคน

AFP - อินเดีย โควิด เผาศพ
  • ภาพศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอินเดีย

ตลอดช่วงที่ประเทศรวมไปถึงภูมิภาคอื่นกำลังตกอยู่ในวิกฤต เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรรวมกันถึง 668 ล้านคน กลับมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 นับจนถึงช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 เพียง 77,000 รายเท่านั้น ขณะประเทศอย่างสหราชอาณาจักรที่มีประชากรหนึ่งในสิบของอาเซียนมีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงถึง 128,000 ราย ในช่วงเวลาเดียวกัน 

ราวกับว่า อาเซียนกลายเป็นจุดปลอดภัยของโลกใบนี้...

แต่แล้ว เมื่อเข้าสู่ปลายเดือนสิงหาคม ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการของอาเซียนพุ่งขึ้นมาเป็น 217,000 ราย มากกว่าช่วงสามเดือนก่อนหน้าถึง 2.6 เท่า อย่างไรก็ดี ตามการคำนวนจาก The Economist พบว่า อาจมีตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงสูงถึง 520,000 - 1,600,000 ราย 


เกิดอะไรกับอาเซียน?

หากตอบโดยสั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับอาเซียนคือเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่มีอัตราการแพร่ระบาดและติดเชื้อสูง และสอดผสานกับสภาวะที่พลเมืองในภูมิภาคนี้ยังมีภูมิคุ้มกันต่ำจากการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ไม่ทั่วถึง

กัมพูชาที่แทบจะเป็นดินแดนปราศจากโควิดมาจนถึงเดือนเมษายน พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าเพียง 2 คนเท่านั้น ในช่วงต้น แต่ยอดการติดเชื้อรายวันหลังจากนั้นพุ่งขึ้นมาเป็นหลักหลายร้อยคน

เวียดนามที่ยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่งเผชิญปัญหาสายพันธุ์เดลต้าในช่วงเดือนเมษายนเช่นเดียวกัน ส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อรายวันไต่ระดับจากหลักพันคนมาสู่หลักหมื่นคนในช่วงเดือนกันยายนปีนี้ และยังไม่มีแนวโน้มจะลดลงแต่อย่างใด 

ในบทสัมภาษณ์ของ The Economist แพทย์ชาวเวียดนามที่ไม่เปิดเผยชื่อคนหนึ่งระบุว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเป็นเรื่องแปลกประหลาดสำหรับรัฐบาลที่ไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือ โดยที่ผ่านมา กลยุทธ์การต่อสู้กับโควิด-19 ของเวียดนามเน้นไปที่การย้อนรอยบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ แต่เมื่อสายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วเข้ามาเยือน กลยุทธ์ดังกล่าวจึงหมดประสิทธิภาพไป 

อีกหนึ่งคำตอบว่าเหตุใดอาเซียนจึงกลายมาเป็น ‘ฮอตสปอต’ แห่งโควิดในช่วงเวลาที่หลายประเทศเริ่มเข้าสู่สภาวะที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นเพราะแนวนโยบายที่เปลี่ยนไป 

เดวิด เฮย์มันน์ นักระบาดวิทยา จาก London School of Hygiene and Tropical Medicine ในสหราชาอาณาจักร อธิบายว่า รัฐบาลในอาเซียนหันมาเปลี่ยนกลยุทธ์ในการจัดการกับโรคโควิด-19 ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะมองว่าไวรัสดังกล่าวจะกลายเป็นแค่โรคเฉพาะถิ่น (endemic)

เพศสภาพ โควิด ม็อบ คาร์ม็อบ 1 สิงหาคม 64  C4E30C9B-93A6-4B8E-83BC-04C837FED9C0.jpeg
  • ภาพการประท้วงของประชาชนไทยผู้ไม่พอใจกับผลงานการบริหารวัคซีนของรัฐบาล

รัฐบาลเหล่านี้ยอมรับที่จะอยู่กับเชื้อไวรัสและยอมให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเพื่อแลกกับการเปิดเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้ง ไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น 

ในมิติที่เข้าใจได้ว่า รัฐบาลเหล่านี้เปลี่ยนจากการป้องกันการติดเชื้อมาสู่นโยบายการกระจายวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้คนในสังคม ทว่าก็ติดปัญหาเรื่องความมีประสิทธิภาพในการแจกจ่ายวัคซีนอยู่ดี ซึ่งนำไปสู่ภาวะที่ระบบสาธารณสุขของประเทศรองรับไม่ไหว อย่างที่เห็นกันได้จากข่าวเครื่องช่วยหายใจไม่พอ เตียงเต็ม หรือผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้รับการรักษา 

The Economist มองว่า ความเลวร้ายที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับอาเซียน เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลายประเทศมีแนวโน้มลดลง เหลือเพียงแต่ฟิลิปปินส์ที่ยังพุ่งขึ้น ขณะที่เวียดนามประคองตัวเท่าเดิม

ทว่าความเสี่ยงของวิกฤตที่อาจจะกลับมาอีกครั้งยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะหากเกิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้น และประชากรในภูมิภาคนี้ยังไม่ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ขณะที่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจะยังอยู่กับชาวอาเซียนไปอีกสักพัก