ไม่พบผลการค้นหา
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ให้ความเห็นเชิงวิชาการ การอ้างคะแนน Popular Vote ของพรรคพลังประชารัฐเพื่อการจัดตั้งรัฐบาล ไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองที่ถูกต้อง นำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก

กรณี นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงหลังผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการว่า พรรคพลังประชารัฐถือว่าได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย และมีคะแนนรวมสูงสุด 7,939,937 คะแนน พรรคจะดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน โดยพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้น

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นเชิงวิชาการ 3 ข้อ เกี่ยวกับการอ้างคะแนน Popular Vote ของพรรคพลังประชารัฐเพื่อการจัดตั้งรัฐบาล โดยชี้ให้เห็นว่า ตามระบอบประชาธิปไตยระบบผู้แทน , ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ ตลอดจน "มรรยาททางการเมืองสากล" พรรคที่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งมากที่สุดอันดับ 1 ต้องได้โอกาสทำการจัดตั้งรัฐบาลก่อน

เนื้อหาทั้งหมดระบุดังนี้ 

"ผมขออนุญาตให้ความเห็นในเชิงวิชาการ 3 ข้อ เกี่ยวกับการอ้างคะแนน Popular Vote ของพรรคพลังประชารัฐเพื่อการจัดตั้งรัฐบาลว่าไม่สอดคล้องกับหลักวิชาดังนี้

1. "ระบอบประชาธิปไตยระบบผู้แทน" หรือ "Representative democracy" ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยได้มีการรับรองไว้ เป็นระบอบที่ถือเอา "ผู้แทนประชาชน" (Representative) เป็นสำคัญ หาใช่ "ระบอบประชาธิปไตยทางตรง" หรือ "Direct democracy" ที่ถือเอาการแสดงออกของตัวประชาชนโดยตรงเป็นสำคัญ การกล่าวอ้างถึงความชอบธรรมว่ามีคะแนนเสียงของประชาชนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐมาโดยตรงมากกว่าพรรคอื่นจึงเป็นการอ้างถึงระบอบการปกครองที่ผิดฝาผิดตัว อีกทั้งยังสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นมากมายหากพรรคอื่นๆ จะมีการกล่าวอ้างเช่นเดียวกัน เช่น พรรค ก. ได้คะแนน Popular vote ในกรุงเทพฯ หรือภาคเหนือ ฯลฯ มากที่สุดย่อมมีความชอบธรรมในการดูแลกรุงเทพฯ หรือภาคเหนือ ฯลฯ มากกว่าพรรคอื่น ทั้งหมดจะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก ที่สะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองที่ถูกต้อง ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยในระบบผู้แทนจึงต้องยึดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก 

2. การกล่าวอ้างถึงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเชื่อมโยงกับระบบเลือกตั้ง (Voting system) ที่ไม่ต้องการให้มีการเทคะแนนเสียงทิ้งน้ำนั้นถือเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ในทางกลับกัน การที่พรรคพลังประชารัฐใช้เหตุผลของการนำเอาทุกคะแนนเสียงที่เลือกพรรคตนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลโดยหาได้ให้ความสำคัญกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นกลับชี้ให้เห็นถึง "ข้อบกพร่องของระบบการจัดสรรปันส่วนผสมเอง" ที่ก่อให้เกิดสภาวะเช่นนี้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่ผลคะแนน Popular vote ไม่สอดคล้องกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเป็นเรื่องของระบบเลือกตั้งที่มีการออกแบบและบังคับใช้ที่ไม่ได้ตามเป้าประสงค์ของผู้ออกแบบระบบเลือกตั้ง 

3. การให้พรรคที่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งมากที่สุดอันดับ 1 ทำการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว แม้จะมิได้มีการบัญญัติไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ถือเป็น "ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ" หรือ "Constitutional convention" ซึ่งอาจเรียกเป็นภาษาพูดว่า "มรรยาททางการเมืองสากล" ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรแบบประเทศสหรัฐอเมริกาก็ดี ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย หรือประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรแบบประเทศอังกฤษก็ดี ก็ปฏิบัติกันมาเช่นนี้ ดังนั้น การที่จะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมทางการเมืองข้างต้นจึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ไม่เหมาะสมยิ่ง

อนึ่ง ผมคิดว่าพรรคการเมืองต่างๆ พึงต้องเข้าใจต่อหลักการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและการเมืองข้างต้นนี้ด้วยเช่นเดียวกันครับ"