ไม่พบผลการค้นหา
'สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล-สหพันธ์นักข่าวนานาชาติ' ประณามกรณีอดีตนักข่าววอยซ์ทีวีถูกตัดสินลงโทษจำคุกในคดี 'ธรรมเกษตร' สืบเนื่องจากการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับแรงงานฟาร์มไก่ลงในทวิตเตอร์ พร้อมเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีเมื่อมีการยื่นอุทธรณ์

กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (OPHRD) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และ องค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (OMCT) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงทางการไทย เพื่อเรียกร้องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน กรณี 'สุชาณี (คลัวเทรอ) รุ่งเหมือนพร' อดีตนักข่าววอยซ์ทีวี ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา หลังถูกบริษัท 'ธรรมเกษตร' ยื่นฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท

ผู้ที่มีรายชื่อในจดหมายเปิดผนึกขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.กระทรวงการต่างประเทศ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงยุติธรรม, พล.ต,อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายธานี ทองภักดี คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว มีเนื้อหาประณามการกระทำต่างๆ ที่เป็นการคุกคามหรือฟ้องปิดปากสื่อมวลชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ทั้งยังระบุว่า บริษัทธรรมเกษตรได้ฟ้องร้องคดีอาญาและคดีแพ่งต่อจำเลยประมาณ 20 รายในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คนงาน และนักข่าว ที่อ้างว่าหมิ่นประมาทบริษัท 

FIDH จึงขอเรียกร้องให้ทางการไทยหยุดการกระทำคุกคามต่างๆ ต่อทั้งสุชาณี คลัวเทรอ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ดังนี้

1. หยุดการกระทำทุกอย่างที่เข้าข่ายคุกคาม ที่มีต่อ นางสุชาณี คลัวเทรอ และรวมไปถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับคดีธรรมเกษตรทุกคน

2. ให้รับรองว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยจะสามารถดำเนินกิจกรรมถูกต้องตามกฎหมายได้ในทุกสถานการณ์ โดยไม่มีการกีดขวาง หรือ ก่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อการตอบโต้ด้วยกำลัง

3. ให้รับประกัน สิทธิเสรีภาพการแสดงออก (Freedom of expression) ดังที่ปรากฏในมาตรา 19 ของ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR)

4. แก้ไขบทบัญญัติการหมิ่นประมาท (มาตรา 326 และ 328 ในประมวลกฎหมายอาญา) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานนานาชาติ

5. ปฏิบัติตามบัญญัติทั้งหมดภายใต้ ปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นมติโดย ที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 โดยเฉพาะในมาตราที่ 1 และ 12

6. ให้รับรองว่า ในทุกสถานการณ์ จะเคารพสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และ ตราสารระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเข้าร่วม

นอกจากนี้ สหพันธ์นักข่าวนานาชาติ (IFJ) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสื่อมวลชนระหว่างประเทศ ออกแถลงการณ์ประณามกรณีที่เกิดขึ้นกับสุชาณีเช่นกัน โดยระบุว่า IFJ ต่อต้านการใช้กฎหมายฟ้องปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม และทาง IFJ จะติดตามคดีของสุชาณีจนกว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์คดี หรือมีการกลับคำตัดสินลงโทษจำคุก

เนื้อหาในแถลงการณ์ของ IFJ ระบุด้วยว่า การดำเนินคดีกับสุชาณี มีมูลเหตุมาจากในระหว่างที่สุชาณีเป็นผู้สื่อข่าวอยู่สำนักข่าววอยซ์ทีวี ได้ติดตามรายงานข่าวการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในภาคการเกษตร และได้เผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับคดีละเมิดสิทธิแรงงาน ที่แรงงานชาวพม่า 14 คนเรียกร้องเงินชดเชยบริษัทธรรมเกษตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง