ไม่พบผลการค้นหา
หลายประเทศสนับสนุนการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 โดยบางที่ถึงกับห้ามประชาชนออกจากบ้านยกเว้นมีเหตุจำเป็นเช่นการออกไปซื้อของกินของใช้ ทำให้หลายคนเกิดคำถามเช่นกันว่า จะต้องป้องกันตัวเองอย่างไร ถ้ายังจำเป็นต้องออกไปจับจ่ายของกินของใช้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านของชำอยู่

แม้เชื่อว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่วนใหญ่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสระหว่างบุคคล แต่ไวรัสชนิดนี้ก็สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวต่างๆ รวมถึงบรรจุภัณฑ์อาหารได้เช่นกัน และในขณะที่มีการเผยแพร่วิดีโอและบทความแนะนำวิธีการใช้สารฆ่าเชื้อโรคกับบรรจุภัณฑ์ของชำ พัสดุ หรือหีบห่อต่างๆ ที่ถูกส่งมาที่บ้าน แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งก็มองว่าวิธีดังกล่าวดูจะมากเกินไป โดยเว็บไซต์ The Guardian ได้รวบรวมคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญว่าควรทำอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อต้องไปซื้อของตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านของชำ

ลดการเดินทางออกไปซื้อของชำและเลือกไปในเวลาที่ซูเปอร์มาร์เก็ตคนน้อย

เว็บไซต์สำนักข่าว The Guardian รายงานคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญว่า การจำกัดจำนวนครั้งการเดินทางออกไปจับจ่ายซื้อของให้เหลือสัปดาห์ละหนึ่งหรือสองครั้งหากเป็นไปได้เป็นอีกแนวทางลดความเสี่ยง ขณะที่การวางแผนไปซื้อของในช่วงเวลาที่ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าคนไม่เยอะก็ช่วยลดความเสี่ยงลง โดยระหว่างที่เลือกซื้อของก็ควรรักษาการเว้นระยะห่างจากลูกค้าคนอื่นๆ อย่างน้อย 2 เมตร และควรวางแผนปปให้ดีก่อนว่าต้องการซื้ออะไรบ้าง เพื่อใช้เวลาในซูเปอร์มาร์เก็ตให้น้อยที่สุด 

ล้างมือและฆ่าเชื้อรถเข็นที่ใช้ 

'อลิซาเบธ เอคสตรอม' อาจารย์ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และสุขภาพออริกอน (Oregon Health and Science University) แนะนำว่าทันทีที่ไปถึงซูเปอร์มาร์เก็ต สิ่งที่ควรทำก็คือการใช้เจลล้างมือและจับต้องสิ่งของต่างๆ แค่ที่จำเป็นเท่านั้น ควรทำความสะอาดที่จับรถเข็นและใช้เจลล้างมืออีกครั้ง 

ขณะที่ 'จูเลีย มาร์คัส' นักระบาดวิทยาและอาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอกว่าผู้ซื้อสินค้าควรหลีกเลี่ยงการจับโทรศัพท์มือถือหรือไม่ก็ทำความสะอาดพื้นผิวโทรศัพท์ถ้ามีการปนเปื้อนใดๆ แต่'มาร์คัส' ก็แนะว่าการสวมถุงมืออาจไม่จำเป็น โดยการสวมถุงมืออาจเหมือนผิวหนังชั้นที่ 2 ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเสี่ยงน้อยลง แต่ความจริงแล้วถุงมือก็สามารถปนเปื้อนเชื้อโรคได้เช่นกัน และพื้นผิวถุงมือก็อาจทำให้ไวรัสอยู่บนนั้นได้นานกว่าผิวหนังของคนอีกด้วย 

ไม่จำเป็นต้องฆ่าเชื้อโรคบรรจุภัณฑ์อาหาร 

ในขณะที่มีความเชื่อว่าไวรัสโคโรนาไม่น่าจะแพร่เชื้อได้ผ่านอาหาร แต่ไวรัสนี้สามารถอยู่บนพื้นผิวของวัสดุที่ใช้บรรจุอาหารได้หลายวัน โดยงานวิจัยขั้นต้นชี้ว่าไวรัสสามารถอยู่บนกระดาษแข็งได้ 24 ชั่วโมง และอยู่บนพลาสติกได้ 72 ชั่วโมง แต่ขณะเดียวกัน จำนวนไวรัสจะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาดังกล่าว 

สอดคล้องกับที่ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมีฆ่าเชื้อบรรจุภัณฑ์อาหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแนะนำว่าผู้ซื้อสินค้าควรล้างมือให้สะอาดหลังจับสินค้าที่อาจถูกคนอื่นหยิบจับมาก่อนแล้ว โดยชี้ว่าจนถึงตอนนี้ไม่มีหลักฐานว่าการแพร่เชื้อเกิดขึ้นได้ผ่านบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่เรารู้คือไวรัสสามารถอยู่ได้บนพื้นผิวเป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือแม้แต่หลายวัน จึงมีความเสี่ยงเชิงสมมติฐานว่าการแพร่เชื้อจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราไปสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนแล้วมาสัมผัสตา จมูกหรือปาก ดังนั้นแทนที่จะใช้สารเคมีฆ่าเชื้อบรรจุภัณฑ์ ก็ควรจะล้างมือมากกว่า ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาหารระบุว่า ควรล้างผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ด้วยน้ำเปล่าเท่านั้น

ส่วน 'ดอน ชาฟเนอร์' อาจารย์ด้านจุลชีววิทยาอาหาร มหาวิทยาลัยรัทเจอร์ส ก็แนะนำว่า ไม่ควรฆ่าเชื้อผลิตภัณฑ์ของชำต่างๆ ตอนนี้เรายังไม่พบกรณีใดที่มีการติดโควิด-19 ผ่านอาหารหรือบรรจุภันฑ์อาหาร แต่ที่ควรทำคือต้องล้างมือหลังกลับจากร้านของชำหรือซูเปอร์มาร์เก็ต หลังเก็บของกินของใช้เข้าที่ และก่อนรับประทานอาหาร

ผู้สูงวัยและคนมีโรคประจำตัวไม่ควรออกไปซื้อของเอง

ข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่าผู้สูงวัยและคนที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง มีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตมากกว่าหากติดโควิด-19 โดยศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ พบว่าอัตราการเสียชีวิตของคนอายุ 65-84 ปี อยู่ที่ร้อยละ 3-11 ส่วนอัตราการเสียชีวิตของคนอายุ 85 ปีขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ 10-27 นี่จึงทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วสหรัฐฯ กำหนดช่วงเวลาพิเศษให้คนสูงวัยเท่านั้นที่เข้ามาจับจ่ายซื้อของได้ ผลดีคือทำให้ช่วงเวลานั้นมีคนในซูเปอร์มาร์เก็ตน้อยลง ลดความแออัดและความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ  

ขณะที่ The Washington Post รายงานความเห็นของ 'บิททีนา ฟรายส์' หัวหน้าภาควิชาโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยสโตนีย์บรูค ในรัฐนิวยอร์กระบุว่า เนื่องจากทุกคนตื่นตระหนกและออกมาซื้อของกักตุนจนทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆมีคนจำนวนมาก ดังนั้นจึงแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้คนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นคนอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือมีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกัน ควรลองขอความช่วยเหลือคนในครอบครัวหรือเพื่อนไปซื้อของกินของใช้ให้แทน หรือไม่ก็ใช้บริการส่งของ ส่วน The Guardian ก็แนะนำว่า หากของชำที่สั่งเอาไว้ถูกส่งมาถึงที่บ้าน ก็ควรขอให้พนักงานส่งของ เพื่อนหรือคนในครอบครัวที่นำมาส่งวางถุงของเอาไว้นอกบ้าน และจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ถ้าเป็นไปได้ นอกจากนี้ ยังควรทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสถุง และล้างมือให้สะอาดหลังเก็บของแล้ว รวมถึงทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นลูกบิดประตูหรือสวิตช์ไฟ