ไม่พบผลการค้นหา
นายกสมาคมทนายความฯ ยกข้อกฎหมายชี้ การกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ ไม่ขัด พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุเงินกู้คือ 'รายจ่าย' ไม่ใช่ 'รายได้'

นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นกรณีการกู้ยืมเงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ของพรรคอนาคตใหม่ โดยระบุว่า 

เงินกู้จำนวน 110 ล้านบาทของคุณธนาธร ขัดกับ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และเป็นเหตุให้ยุบพรรคหรือไม่

การที่ คุณธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่ กู้ยืมเงิน 110 ล้านบาท เงินกู้นี้จะถือเป็นรายได้ของพรรคอนาคตใหม่ หรือเป็นการรับเงินบริจาค ที่ขัดกับ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 62,72,74 ตามที่มี ผู้ร้องเรียน หรือ คุณเสรี สุวรรณภานนท์ แสดงความเห็นกล่าวอ้างไว้ หรือไม่อย่างไรนั้น 

โดยส่วนตัวผมมีความเห็นว่า อยากให้กลับไปดู พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่บัญญัติถึงรายได้ของพรรคการเมือง ไว้ในมาตรา 62 ว่า “พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้

(1) เงินทุนประเดิม ตามมาตรา 9 วรรคสอง

(2) เงินค่าธรรมเนียม และค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กำหนดในข้อบังคับ

(3) เงินที่ได้รับจากการจำหน่ายสินค้า หรือบริการของพรรคการเมือง

(4) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง

(5) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากการรับบริจาค

(6) เงินอุดหนุนจากกองทุน

(7) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง...” 

ซึ่งได้บัญญัติไว้โดยชัดเจน เฉพาะในเรื่องที่มารายได้ของพรรคการเมืองเท่านั้น ซึ่งไม่มีบทบัญญัติอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องรายจ่ายของพรรคการเมือง ฉะนั้นในกรณีเงินกู้ของคุณธนาธร จึงไม่อยู่ในบทบัญญัตินี้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นที่มาของรายได้ของพรรคการเมืองตาม ม.62 แต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันต้องถือเป็นหนี้หรือรายจ่ายของพรรคการเมืองที่ต้องชำระให้กับผู้ให้กู้ ภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญากู้ให้เสร็จสิ้น ซึ่งพรรคการเมืองแม้ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตามแต่ต้องถือเป็นนิติบุคคลประเภทหนึ่ง โดยทั่วไปจึงสามารถทำนิติกรรมใดๆ ตามปกติ ดังนั้นพรรคอนาคตใหม่สามารถทำสัญญากู้ยืมได้ และการกู้ยืมเงินนั้นถือเป็นหนี้สินหรือรายจ่ายในระบบบัญชี ไม่ใช่รายได้แต่อย่างใด (สอดคล้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 135/2550 ที่สรุปว่าเงินกู้ ถือเป็นรายจ่าย ไม่ใช่รายได้)

โดยเราพึงเห็นได้ว่า ใน พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 62 (1) – (7) กำหนดที่มาของรายได้พรรคการเมืองเท่านั้น มิได้กำหนดเรื่องรายจ่ายไว้ เนื่องจากพรรคการเมืองต่างๆ จำเป็นต้องมีทุนในการดำเนินกิจการบริหารพรรค ด้วยกันทั้งสิ้นจึงอยากให้ดูไปถึงเจตนารมณ์ของการกู้ยืมเงินในครั้งนี้ว่า นำไปใช้ในกิจการเพื่อพรรคการเมืองอย่างแท้จริงโดยมิได้มีเจตนาซ่อนเร้นที่จะดำเนินการไปในทางทุจริตแต่อย่างใด จึงอยากให้พิจารณาต่อไปว่า รายได้ของพรรคการเมืองนั้น อาจมาจากการรับบริจาคหรือการระดมทุน ตัวอย่างเช่น พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.115 คน ทำการระดมทุนโต๊ะจีนได้เงินกว่า 600 ล้านบาท หากมองกลับไปที่พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้รับเลือกตั้งมี ส.ส. 80 คน เทียบตามสัดส่วน ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ คิดเป็น 2 ใน 3 ก็อาจหารายได้จากการระดมทุนไม่ต่ำกว่า 417 ล้านบาท จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ในอนาคต พรรคอนาคตใหม่จะนำเงินจากการระดมทุนมาชำระเงินกู้ 110 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายจ่ายของพรรคอนาคตใหม่ที่ต้องจ่ายเงินกู้คืนให้กับคุณธนาธรได้อย่างไม่ยาก และยังปรากฏว่าในงบดุลของพรรคการเมืองต่างๆหลายพรรค ที่แสดงชัดเจนว่าพรรคการเมืองเหล่านั้นมีการกู้ยืมเงินเช่นเดียวกัน กับพรรคอนาคตใหม่เช่นกัน

ฉะนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดจะกล่าวอ้างว่า การที่คุณธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจำนวน 110 ล้านบาท จะเป็นการครอบงำและสามารถชี้นำบรรดาสมาชิกพรรคให้ดำเนินการไปตามที่คุณธนาธรต้องการ หรือการที่พรรคการเมืองกู้ยืมเงิน จะขัดกับ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 

ด้วยเหตุผลในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ มิได้เป็นการดำเนินกิจการอันใดที่ผิดหรือขัดกับ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง อันเป็นเหตุจะให้ถูกยุบพรรคได้แต่อย่างใด และการกู้ยืมเงินเป็นบทกฎหมายที่รับรู้และเปิดเผยโดยทั่วไป

ดังนั้น การเป็นนักกฎหมาย และการแสดงความเห็นทางกฎหมาย จึงจำเป็นต้องยึดหลักตามตัวบทกฎหมายให้ชัดเจนเสียก่อน อย่าได้ไปบิดเบือนให้ฝืนเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อให้ตนเองก้าวไปอยู่ในจุดที่ต้องการ และอย่าชี้นำให้เป็นคุณหรือโทษต่อใครเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจ กี่ครั้งที่บ้านเมืองเสียหายจากนักกฎหมายที่ขาดจริยธรรมและอุดมการณ์ไปตีความบิดเบือนกฎหมาย และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เราในฐานะนักกฎหมายด้วยกัน จึงต้องยึดหลักนิติธรรมเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง หากไม่เช่นนั้นแล้วบ้านเมืองจะเกิดความสับสนวุ่นวาย หาความถูกต้องไม่ได้