ไม่พบผลการค้นหา
แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ แถลงการณ์เตือนองคาพยพเผด็จการรับ 3 ข้อเสนอ ขณะที่ 'เพนกวิน' แจงจุดยืน 'เยาวชนปลดแอก' ไม่เกี่ยวกับมติราษฎร ย้ำตัวเองยังยึดมั่นการต่อสู้ประชาธิปไตยไม่มีเผด็จการ ศักดินาแทรกแซง

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำคณะราษฎร 2563 ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่าตนเองเป็นสมาชิกของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) และจุดยืนที่ปรากฏในเพจเยาวชนปลดแอกนั้น เป็นแนวทางของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเองไม่ใช่แนวทางของตน ไม่ใช่ของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และที่สำคัญ ไม่ใช่มติของราษฎร 

"ผมยังคงยึดมั่นในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ไม่มีเผด็จการหรือศักดินาแทรกแซงครอบงำ เพื่อประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม และเพื่อประชาธิปไตยที่มีรัฐสวัสดิการโอบอุ้มชีวิตของทุกคน"

พริษฐ์ ระบุว่า การเสนออุดมการณ์ไม่ว่าจะแนวคิดใดมิใช่เรื่องผิดบาป ถือเป็นเสรีภาพของผู้เสนอ แต่ในเชิงการเคลื่อนไหวต่อสู้นั้น จะต้องประเมินให้ดีว่าแนวคิดที่จะเสนอนั้นสอดคล้องกับเจตจำนงของมวลชนหรือไม่ ในขณะที่เราตัดสินใจจะพังเพดานในเวทีธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 ส.ค.นั้น เราได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์อย่างถี่ถ้วนแล้วว่าปัญหาของสถาบันกษัตริย์คือสิ่งที่อยู่ในใจของพี่น้องที่ร่วมต่อสู้

พริษฐ์ระบุว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นก็เมื่อชนชั้นนำยอมปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน หากชนชั้นนำไม่ยอมปรับตัวก็จะไม่เกิดการปฏิรูป และเมื่อไม่เกิดการปฏิรูปก็จะเกิดการปฏิวัติ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ทั่วโลก ดังนั้น ขณะนี้ ถ้าเปรียบประเทศไทยเป็นรถยนต์ก็เหมือนอยู่ที่สามแยก ทางหนึ่งเลี้ยวไปหาการปฏิรูป ทางหนึ่งเลี้ยวไปหาการปฏิวัติ ประชาราษฎรได้ขับรถมาถึงหน้าสามแยกแล้ว แต่จะเลี้ยวไปทางไหนนั้น สถาบันกษัตริย์และองคาพยพศักดินาจะเป็นผู้ตัดสินใจ ถ้าเลือกปรับปรุงตัวรถก็เลี้ยวเข้าถนนปฏิรูปสามข้อ แต่ถ้ายังดื้อด้าน รถก็เลี้ยวเข้าทางปฏิวัติข้อเดียวก็เท่านั้น

แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เตือนองคาพยพหากเมินข้อเสนอ

ต่อมา เฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ออกแถลงการณ์ถึงจุดยืนของกลุ่ม โดยมีใจความสำคัญยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ประการของคณะราษฎร ได้แก่ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และองคาพยพ ต้องลาออก 2.รัฐสภาต้องรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชน และ 3.ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

"แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมยึดมั่นในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ไม่มีเผด็จการหรือศักดินาแทรกแซงครอบงำ เพื่อประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพและความเท่าเทียม และเพื่อรัฐสวัสดิการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างเสมอภาค ดังนั้น ข้อเสนอต่างๆที่อยู่บนหลักฐานพื้นฐานเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอใดก็ตามมิใช่สิ่งที่ผิดประการใด"

แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ย้ำว่า หากองคาพยพของเผด็จการยังดื้อดึงไม่รับข้อเสนอของราษฎร การณ์ดังกล่าวย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำไปสู่เส้นทางประวัติศาสตร์ที่ไทยจะกลายเป็นรัฐที่มหาชนเป็นใหญ่แน่แท้