ไม่พบผลการค้นหา
'อนุรักษ์' อดีต ส.ส.มุกดาหาร เพื่อไทย ฟ้องเอาผิดสื่อเสนอข้อมูลบิดเบือน เต้าข่าวโทรฯ เรียกรับผลประโยชน์อธิบดีฯ ทั้งที่ไม่ตรงความจริง ชี้ไม่ชอบ 'เพื่อไทย' ก็ไม่ว่า แต่อย่าเสนอข่าวเท็จ

วันที่ 20 ม.ค. 2566 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย เข้าฟ้องร้องผู้ประกาศข่าวของสื่อสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ฐานนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จทำให้เกิดความเสียหาย ในกรณีศาลฎีกาพิพากษาว่า อนุรักษ์ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เนื่องจากมีการติดต่อกับ ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย โดยถูกกล่าวหาว่าเพื่อเรียกรับผลประโยชน์

โดย อนุรักษ์ ยื่นฟ้อง อุบลรัตน์ เถาว์น้อย จำเลยที่ 1 และ สถาพร เอื้อสกุล จำเลยที่ 2 ในฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เนื่องจากสื่อดังกล่าวมักนำเสนอข่าวที่สร้างความเสียหายต่อตนบ่อยครั้ง ควรต้องมีจรรยาบรรณและตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงคืออะไรและจริงต้องนำเสนอ

โดย อนุรักษ์ กล่าวหารายการดังกล่าว ทำภาพกราฟิกจำลองการสนทนาพูดคุยระหว่างตนและอธิบดีฯ ว่ามีการต่อรองเรียกรับผลประโยชน์กัน ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น แต่นำข้อมูลดังกล่าวมาจากไหน ทำให้ตนเสียหาย และทำให้ประชาชนที่รับฟังเข้าใจผิดว่า ตนไปตบทรัพย์อธิบดีฯ จริง ทั้งที่ในข้อเท็จจริงไม่มีในคำพิพากษาก็เขียนไว้ว่า ศักดิ์ดา ระบุว่าไม่มีเทปบันทึกเสียงการพูดคุยโทรศัพท์แต่อย่างใด

"เอามาจากไหน พูดคุยเป็นตุเป็นตะ ลักษณะนี้ไม่ถูกต้อง ผมถือว่าการทำอย่างนี้ทำให้ผมได้รับความเสียหาย และสื่ออีกบางช่องก็นำเสนอเหมือนกันว่าผมมีเทปบันทึกเสียง แต่ถ้าออกมาแก้ข่าว ผมจะไม่ติดใจ แต่ว่าสื่อช่องนี้ออกมาลักษณะสร้างเรื่อง นำเสนอข่าวไม่ตรงความเป็นจริงหลายครั้ง เขาไม่ชอบพรรคเพื่อไทยก็ว่าไป เป็นสิทธิของเขา แต่จะมากล่าวหา โดยที่นำเสนอข่าว และสร้างหลักฐานเท็จอย่างนี้ขึ้นมา ผมคิดว่าจำเป็นต้องปกป้องสิทธิของผม" อนุรักษ์กล่าว

ในข้อเท็จจริงมีการโทรศัพท์พูดคุยกันจริง แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับงาน ไม่มีเรื่องการต่อรองรับสินบนใดๆ ทั้งสิ้น ตนยังขอไม่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับคดี เนื่องจากในส่วนของคดีทางอาญายังอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาลฎีกา แต่การนำเสนอข่าวของสื่อสำนักนี้ เหมือนกับพิพากษาตนไปแล้ว

ทั้งนี้ อนุรักษ์ ย้ำว่า ตนไม่ได้ต้องการค่าเสียหาย เพียงต้องการให้พิธีกรทั้งได้รับผิดชอบต่อผลทางกฎหมาย และชี้แจงต่อศาลว่าเหตุใดจึงนำเสนอข่าวในลักษณะนี้ 

โดยในคดีดังกล่าว มี เดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ เป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้อง ซึ่งได้ยืนยันว่าบทสนทนาทางโทรศัพท์ดังกล่าวที่รายการนำเสนอนั้นไม่มีอยู่จริง หากมีหลักฐานดังเช่นที่ปรากฏนั้น อนุรักษ์ อาจจะต้องโทษจำคุกไปแล้ว สื่อมวลชนจะไปแก้ตัวว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องร้ายแรง และสร้างความเสียหาย ตนยังสงสัยว่าสื่อสำนักนี้นำข้อมูลมาจากไหน เพราะในคำพิพากษาศาลฎีกายังยืนยันว่า การสนทนาดังกล่าวไม่มีการบันทึกเสียงไว้

"ถึงแม้เขาจะโดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่ทางคดีอาญา เขายังไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ อย่าเพิ่งไปพิพากษาเขาไปก่อน สื่อมวลชนมีหน้าที่นำเสนอข่าวให้ครบถ้วนถึงแม้ Top News กับเพื่อไทยอาจจะไม่ชอบกัน ไม่เป็นไร เราไม่ว่า แต่ขอให้นำเสนอข้อเท็จจริง"

ทั้งนี้ ทนายเดชา ยืนยันว่า ความผิดทางจริยธรรมเป็นคนละเรื่องกับคดีทางอาญา อย่างไรก็ตาม หากมีการขอโทษหรือรับผิดชอบ ก็ยังมีโอกาสยอมความกันได้