ไม่พบผลการค้นหา
มายาคติและความทับซ้อนของปัญหาเชิงโครงสร้าง ผ่านภาพจำและอคติ 'คนบนดอย' ใต้ฐานสูงของยอดเขาที่ฉายภาพมุมกลับเป็นความไม่เท่าเทียม

"บ้านบนดอย บ่มีแสงสี บ่มีทีวี บ่มีน้ำประปา" ท่อนเพลงอมตะของ 'จรัล มโนเพ็ชร' ตำนานโฟล์คซองเมืองล้านนา ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อปี 2543 

ทว่า 20 ปีผ่านไปความเป็นอยู่และชีวิตคนบนดอย ยังคงประสบพบเจอกับการพัฒนาที่ยังไปไม่ถึง ด้วยมายาคติและทัศนะคนนอก วาดภาพความเหลื่อมล้ำว่า 'วิถี Slow Life'  

ด้วยพวกเขาปรารถนาให้อนุรักษ์แช่แข็งความเจริญไว้เพียงในเมือง ดั่ง 'สวนสัตว์มนุษย์' ให้ชนชั้นกลางเลือกเสพสุนทรีความทุกข์ยาก

ไม่ทันข้ามวันดราม่ากรณี 'พิมรี่พาย' แม่ค้าออนไลน์ฝีปากกล้า บุกบ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ หอบเงิน 500,000 บาท สร้างโซล่าเซลล์ เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ดูทีวี

กลายเป็นจุดชี้วัดปัญหาหมักหมมที่อยู่ใต้องศาสูงชันของชนชั้น ผ่านโครงสร้างสังคมที่บ่มเพาะภาพลักษณ์ทับซ้อนกับมายาความสวยงามของวัฒนธรรมผ่านสื่อมานับร้อยปี 

'วอยซ์' สนทนากับ 'ณัฐชญา แดนโพธิ์' หรือ 'ครูหนุง' แห่งโรงเรียนสะเมิงพิทยาคม จ.เชียงใหม่ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และฉายภาพความเป็นจริงจากคนบนดอยสู่คนที่ราบ ว่าสิ่งที่ผู้คนเหล่านั้นต้องการคืออาภรณ์เสื้อผ้าหรือของบริจาคจากคนเมือง 

128592044_1909046129234979_7959631018776638625_o.jpg
  • ครูหนุงและนักเรียนวัยเยาว์

แว่บแรกในหัวจากเส้นทางคดเคี้ยวสู่สะเมิง เต็มไปด้วยคำถามของ 'ครูหนุง' ว่าชีวิตที่ผ่านมาเธอถูกหล่อหลอมให้ตาบอดจากสังคมเมือง ทิวเขาสูงชันเริ่มถ่ายทอดความเหลื่อมล้ำเข้าสู่โสตประสาทตามรายทาง ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางสัญจรที่ดีหรือบ้านเรือนของชาวบ้านบนดอย

"ถนนหลายเส้นทางที่เราเจอตลอดการเดินทางไปที่สะเมิง ทำให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำเต็มไปหมด" เธอเล่าว่าบางเส้นทางถ้าฝนตกหนักๆ เด็กบางคนก็ไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียนได้เพราะถนนขาด

"ถ้าหมู่บ้านไหนถนนเข้าบ้านดี ชาวบ้านจะบอกว่าพ่อหลวงของเขาไปสู้มา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาไปสู้ยังไงเพื่อให้หมู่บ้านเขาพัฒนา ซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้นถ้ามันมีการพัฒนาให้ครอบคลุม" ครูหนุงตั้งคำถามถึงความต่างบนพื้นฐานความเท่าเทียม

"พวกเขาอาจอยากได้ฮีทเตอร์มากกว่าเสื้อกันหนาว" ภาพเด็กนักเรียนวิ่งออกไปผิงแดดเพื่อคลายหนาว คงเป็นภาพชินตาของเธอไปเสียเล้ว อย่างไรก็ดี 'ครูแดนล้านนา' เห็นว่าการบริจาคทุกกรณีไม่มีใครถูกใครผิด 

เพราะครูหนุงเองก็เคยวิพากษ์วิจารณ์ 'ตูน-บอดี้แสลม' กรณีวิ่งระดมทุนว่า "มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงที่โครงสร้าง" แต่ส่วนตัวเธอเองก็เคยรับบริจาคเสื้อผ้ากันหนาว เพื่อสร้างไออุ่นให้เหล่านักเรียนใต้ความรับผิดชอบ

128655346_1909046775901581_5492206858173652398_o.jpg
  • หนูน้อยบนยอดดอย

เธอยังยกตัวอย่างเปรียบเทียบอีกหนึ่งดินแดนที่เคยสัมผัส นั่นคือการสอนที่จังหวัดขอนแก่น "ทั้งที่เรารู้สึกหนาวเหมือนกัน แต่เด็กที่อีสานเขาก็ไม่ต้องการเสื้อกันหนาว"

ครูหนุง บอกว่าทุกการให้อะไรควรสอบถามผู้รับ ซึ่งสิ่งที่เขาต้องการอาจไม่ใช่ที่หยั่งรากในสิ่งที่เราตกผลึกมา  

“คนให้ต้องตั้งคำถามไปพร้อมๆกัน เพราะถ้าสมมติเราบริจาคอย่างเดียวแต่ไม่ตั้งคำถามสุดท้ายปัญหาเชิงโครงสร้างก็ไม่ถูกแก้ และถ้าเรามัวแต่สงสัย คิด แต่ไม่ทำ ชีวิตของคนที่ต้องการความช่วยเหลือก็จะไม่ได้รับหรือรอนานขึ้น


การรอคอยของเด็กไร้สัญชาติ

'โรงเรียนสะเมิงพิทยาคม' มีจำนวนนักเรียนราว 570 คน ซึ่งปะปนไปด้วยเด็กหลากชาติพันธ์ุ ทว่าบางคนก็ 'ไร้สัญชาติ' อย่างน้อย 7 คนที่อยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเธอต้องคอยดูแลเด็กเหล่านี้ หลายคนต้องการสัญชาติ แต่ขั้นตอนของระบบระเบียบราชการก็ไม่เอื้อให้พวกเขาถูกบรรจุว่าเป็น 'คนไทย'

"พวกเขาอยากเรียนถึงปริญญา แต่หลายคนก็รู้สึกว่าไม่แน่นอน เพราะส่วนมากครอบครัวก็มีอาชีพเกษตรกร นี่คืออีกหนึ่งปัญหาเพราะไม่มีอะไรการันตีว่าอนาคตพวกเขาจะเป็นอย่างไร" ความไม่มั่นคงบนเส้นทางชีวิต กลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้พวกเขาต้องแข่งขัน เพื่อให้ได้มาซึ่งคำว่า 'ทุน'

"ครั้งหนึ่งมีทุนจากองค์กรหนึ่งจำนวน 5,000 บาท มีการส่งตัวแทนแต่ละห้องจนเหลือสองคนสุดท้าย ซึ่งเด็กสองคนนี้คือเพื่อนสนิทกัน แต่ครูประจำชั้นของทั้งสองได้ยกโปรไลฟ์ของแต่ละฝ่ายมาฟาดฟันกัน เราก็ตั้งคำถามว่าเรากำลังสู้กันเพื่ออะไรอยู่" หนึ่งข้อตอกย้ำที่ครูหนุงยกมาให้เห็นถึงการดิ้นรนของชีวิตชาวดอย 

แม้ว่าหลายคนที่เธอได้สัมผัสมามีพฤติการณ์ถึงขั้่นเรียกได้ว่า "เรานั่งมองหน้าเด็กคนนั้น เราเชื่อว่าถ้าเขาเกิดอยู่ข้างล่างหรือในเมืองเชียงใหม่ เขาต้องได้เข้าเรียนในโรงเรียนอันดับ 1 แน่นอน เพราะเด็กคนนี้เก่งมาก"

IMG_1188.jpg
  • บ้านบนดอย

นอกเหนือจากการศึกษาที่ไม่ถ้วนหน้า ใต้พรมของความเหลื่อมล้ำยังมีให้เห็นอีกมาก เธอเห็นว่านอกเหนือจากไออุ่นคลายหนาว สิ่งหนึ่งที่คนบนดอยเพรียกหาคือ 'บริการสาธารณสุข'

โดยเฉพาะในพื้นที่บนเขา สิ่งที่พบเจอคือ 'สุขภาพฟัน' ของเด็กและประชาชนหลายคนบนดอย ที่ผ่านมามีบ้างที่โครงการของรัฐเข้ามา แต่ก็เพียงฉาบฉวยเท่านั้น ไม่ได้ยั่งยืนอย่างที่เห็นในหน้าสื่อ


'คนนอก'

เรื่องเล่าจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม 'ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ' อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ศึกษาผลกระทบการรุกคืบจากนายทุน

เขาได้โพสต์มุมมองทัศนะของคนนอกที่มองจากเบื้องล่างสู่ยอดดอยด้วยจินตนาการว่าสิ่งที่นำไปบริจาคคือโจทย์ที่คนในพื้่นที่ต้องการให้สงเคาระห์

"ถามว่าคนบนดอยอยากมีไฟฟ้าไหม ส่วนใหญ่ก็อยากมีแหละครับ แต่ที่ไม่อยากมี มันก็เคยมีจริงๆ ผมเคยพบ เพราะเขาตกลงกันทั้งหมู่บ้านหรือป๊อกบ้านว่าถ้าไฟฟ้าเข้าจะทำให้เป็นหนี้เยอะ ปัจจุบันหมู่บ้านที่คิดแบบนี้ก็เปลี่ยนใจเป็นยอมให้ไฟฟ้าเข้า

"แต่ก็ใช้กันเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ต้องเสียค่าไฟมาก และวิถีชีวิตยังแตกต่างกับคนในเมือง ค่ำมาก็ต้องนอน เพราะเช้ามาก็ต้องทำการผลิตทางเศรษฐกิจ จะหุงข้าว ทำอาหาร ก็มีเชื้อเพลิงอย่างอื่นที่ได้มาฟรีๆ" ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของนักวิชาการสิ่งแวดล้อม

แม่หมี-ลำปาง-กะเหรียง-ชาติพันธุ์-เด็ก
  • เด็กน้อยชาติพันธุ์ปะกาเกอญอ

ไชยณรงค์ ไม่ได้ติดใจการเข้าช่วยเหลือที่เป็นดราม่า แต่เขาแนะนำว่าการพัฒนาควรมาจากคนในไม่ใช่ทัศนะของคนนอก ที่ตอกหมุดฝังหัวว่าคนบนดอยด้อยพัฒนา เพราะเป็นชุดความคิดที่ผิด แม้ตามยอดเขาห่างไกลความเจริญ แต่สิ่งที่คงอยู่คือ 'คนอยู่กับป่า'

 'ไร่หมุนเวียน' ภาพจำของคนนอกมักตีตราพวกเขาว่าถางไม้ทำลายป่า กรัดกร่อนทำลายธรรมชาติที่สวยงาม กลายเป็นภูเขาหัวล้วนลูกแล้วลูกเล่า ทว่าด้วยมายเซ็ทเช่นนี้กลับเป็นความเข้าใจผิด เพราะความเข้าใจในระบบนิเวศของชาวบ้าน ในการรู้จักคุณค่าการให้บริการของธรรมชาติ ให้เวลาภูเขาได้ฟูมฟักหมุนเวียนสร้างประโยชน์ให้ผู้รับ ไม่ใช่การตีโพยตีพายชี้นิ้วว่า " เอาแต่ถางหญ้า ถางเขา แบบทำลายป่า"


"เขาเป็นผู้มีอำนาจ ไม่ใช่คนด้อยโอกาส"

เช่นเดียวกับ 'บก.ลายจุด' หรือ 'สมบัติ บุญงามอนงค์' นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เล่าเรื่องผ่านเฟซบุ๊กในสมัยทำงานชาวเขาที่จังหวัดทางภาคเหนือ ได้เห็นบรรยากาศการถกเถียงถึงการเปิดรับการพัฒนาจากคนนอก แน่นอนว่ามีทั้งสนับสนุนและไม่เห็นด้วยต่อการเปิดรับความเจริญให้คืบคลานเข้ามาในชุมนุม

"ตอนที่ทำงานชาวเขาอยู่เชียงรายช่วงปี 41-47 ผมได้ยินชาวบ้านพูดอภิปรายเรื่องนี้มาโดยตลอด หลายคนอยากได้ถนน อยากได้ไฟฟ้า เพราะเขาพร้อมที่เชื่อมต่อกับโลกภายนอกแต่ยังอยากอาศัยอยู่บนดอย

"ในขณะที่บางคนมองว่าถนนและไฟฟ้านำมาถึงปัญหาจำนวนมาก วิถีที่เคยมีอยู่เดิมจะล่มสลายและพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับโจทย์ใหม่ๆที่บรรบุรุษไม่เคยเล่าให้ฟัง" บก.ลายจุด ฉายภาพในอดีต

สิ่งที่สังคมตั้งคำถามคือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น แต่ใน 'บก.ลายจุด' ชี้ว่านี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะหลายสิบปีมีการดีเบตหาทางออก แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือระบบความคิดของ 'คนนอก' ที่มีไม่ให้ความสำคัญกับคนใน ด้อยค่าพวกเขาตัดขาดอำนาจโดยไม่มีปากเสียง

ป่า-ภูเขา-วิถีชีวิต-ฤดูแล้ง-เชียงใหม่-เกษตรกร
  • ทิวเขาในเชียงใหม่

อ่านเพิ่มเติม


พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog