ไม่พบผลการค้นหา
อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ จากมูลนิธิร่วมกตัญญู ให้คำแนะนำถึงวิธีการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์งูโผล่ชักโครก

ภาพงูขนาดใหญ่ นอนแอ้งแม้งอยู่ในห้องน้ำ ท่ามกลางรอยเลือดสาดกระเซ็น ข้างๆ มีค้อน คัตเตอร์ และถังน้ำล้มระเนระนาด ชวนขนลุก  

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายหลังการต่อสู้อันดุเดือดระหว่างมนุษย์และงู ซึ่งถูกส่งต่อไปทั่วโลกออนไลน์  

เหตุการณ์เริ่มขึ้นจาก 'คุณแอนนา' ทำธุระส่วนตัวภายในบ้าน ทันใดนั้น งูเจ้ากรรมดันโผล่ขึ้นมาจากชักโครก กัดเข้าที่ต้นขา คุณแอนนาตอบโต้สู้กับมันด้วยความตกใจ ทั้งบีบทั้งดึงรวมถึงใช้คัตเตอร์เฉือนงู แต่ดันพลาดท่าเข้านิ้วตัวเอง ก่อนสุดท้ายจะใช้ค้อนมาทุบตัวมันจนสามารถสลัดตัวหนีได้สำเร็จ  

คำถามก็คือ หากเราตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว เราจะหนีรอดได้อย่างไร ? 

82573977_1600962793389423_154739004430876672_o.jpg

โดนกัดแล้วอย่ากระชาก 

"อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ" หรือ ยอด เจ้าของรหัสเรียกขาน “นคร45” หัวหน้ารถกู้ภัยและรองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิร่วมกตัญญู บอกกับวอยซ์ออนไลน์ว่า หากเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว แรกเริ่มต้องตั้งสติให้ดี และแอกชั่นด้วยการคว้าและบีบที่บริเวณคอของงูเอาไว้ 

“อย่ากระชากเด็ดขาด” ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ หลังจากบีบและง้างปากออกได้สำเร็จ ให้ทำการยกเขี้ยวออกจากบาดแผล 

“เขี้ยวงูมีลักษณะเป็นใบเลื่อยเล็กๆ ถ้ากระชากมันจะตัดเนื้อเยื่อ ทำให้ฉีกเหวอะ และทำให้ได้รับบาดเจ็บมากขึ้น” 

หลังจากถูกจับบริเวณคอ งูจะตอบโต้ด้วยการพันร่างกายของเรา ให้พยายามเอามืออีกข้างดึงตัวมัน ใช้ขาเหยียด-เหยียบช่วยและขืนมันออกจากร่ายกาย อย่างไรก็ตามโดยทั่วไป สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ ทางออกที่ดีที่สุดคือการเรียกคนมาช่วย 

“พลังของมัน ตัวใหญ่นี่แรงเยอะมาก คนเดียวไม่มีประสบการณ์อาจจะเอาไม่อยู่ และถ้าปล่อยให้เขารัดข้อมือได้ ข้อมือเราอาจหมดแรงเลย และเขาจะค่อยๆ บีบรัดกระดูกทีละข้อจนเราค่อยๆ หมดแรง” เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูกล่าว 

อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ

(ภาพจากเฟซบุ๊ก อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ)


ป้องกันดีกว่าแก้ไข

งูหลายประเภทมักจะชอบอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ เพื่อจับ กบ เขียด ปลา หนู กินเป็นอาหาร บ้านพักทั่วๆ ไปของเราจะมีท่อน้ำทิ้งที่ต่อออกไปสู่บ่อสาธารณะ ตามสัญชาตญาณงูจะเลื้อยไปตามซอกหลืบ เข้ามาตามท่อน้ำทิ้ง ผ่านเข้ามายังบ่อเกรอะ 

เมื่อเลื้อยเข้าบ่อเกรอะแล้วก็พยายามหาทางออก เพราะในบ่อเกรอะ ก๊าซมีเทนสูง ออกซิเจนน้อย งูต้องกลั้นหายใจและเลื้อยหาทางออก เมื่อมองเห็นเเสงสว่างยามคนเปิดไฟเข้าห้องน้ำ งูจะพุ่งตัวขึ้นมาหาแสงสว่าง เพราะเข้าใจว่ามีออกซิเจนนั่นเอง 

อัญวุฒิ บอกว่า ทางป้องกันคือหมั่นตรวจสอบบ่อและช่องทางน้ำภายในบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่อายุมากกว่า 10 ปี หรือผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ อย่าปล่อยให้ชำรุดหรือแตกรั่วมีช่องโหว่ โดยอาจแก้ไขด้วยการนำตะแกรงหรือตาข่ายไนลอนมาปิดตรงปากท่อ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์สามารถเข้ามาได้

ภาพจาก Chunya Sittiwichai