ไม่พบผลการค้นหา
'ไพบูลย์' เสนอนายกฯ ทำประชามติถามประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ ห้ามชุมนุมทางการเมือง 2 ปี เอื้อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ พร้อมเลือกนายก อบจ. 76 จังหวัด ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้

ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา กล่าวว่า ได้อภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ได้เสนอทางออกของประเทศในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองขั้นรุนแรงของไทย เสนอให้ใช้การออกเสียงประชามติถามประชาชนทั้งประเทศแทนการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ เพราะเห็นว่าการยุบสภาจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจให้มีปัญหามากขึ้น และการยุบสภาไม่สามารถยุติความขัดแย้งจากการชุมนุมทางการเมืองได้

ตนจึงขอเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากจะหาทางออกของประเทศให้ได้ผล ต้องให้ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วมใช้อำนาจอธิปไตยตัดสินปัญหาสำคัญนี้ โดยหากเป็นไปได้ ตนขอเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้คณะรัฐมนตรีมีมติจัดให้มีการออกเสียงประชามติ โดยประชาชนทุกคนทั้งประเทศ ซึ่งมีสิทธิออกเสียงประชามติ 52 ล้านคนให้มีส่วนร่วมโดยตรงตัดสินปัญหาสำคัญของชาติในครั้งนี้ เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยทางตรงให้ได้ข้อยุติว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการจัดชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อยของสังคมไทย 


เสนอห้ามชุมนุม 2 ปี

ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า มีปัญหาข้อกฎหมายว่าจะตั้งคำถามอย่างไรจึงจะไม่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ดังนั้นตนขอเสนอให้ตั้งคำถามประชามติที่เป็นไปรัฐธรรมนูญมาตรา 166 ดังนี้

“ท่านเห็นอย่างไร หากรัฐบาลใช้มาตรการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด ห้ามไม่ให้มีการจัดชุมนุมทางการเมืองที่ฝ่าฝืนกฎหมายชุมนุมสาธารณะ มีการกระทำก้าวล่วงรัฐธรรมนูญมาตรา 6 อันเป็นเหตุให้กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และมีผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่มีผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะจากความขัดแย้งของคนในชาติ และให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนสามารถดำเนินการได้ลุล่วง รัฐบาลจึงจะใช้มาตรการทางกฏหมายขั้นเด็ดขาดห้ามชุมนุมการเมืองดังกล่าวเป็นระยะเวลา 2 ปีนับจากวันออกเสียงประชามติ”

ไพบูลย์ กล่าวว่า ทางออกของประเทศโดยการให้ประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงทั้งประเทศ 52 ล้านคน ออกเสียงประชามติ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำถามประชามตินั้นให้มีผลเป็นข้อยุติ หากผลการออกเสียงประชามติเสียงข้างมากเห็นด้วยกับรัฐบาล เมื่อเป็นมติของประชาชนเสียงข้างมากทั้งประเทศ ให้รัฐบาลสามารถใช้มาตราการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด ห้ามชุมนุมการเมืองดังกล่าวเป็นระยะเวลา 2 ปีนับจากวันออกเสียงประชามติ จะทำให้ยุติปัญหาที่เกิดจากการชุมนุมการเมืองไประยะเวลาหนึ่ง เพียงพอที่รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจช่วยเหลือเยียวยาประชาชนพ้นวิกฤติผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่หากประชาชนเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับมาตราการของรัฐบาลตามคำถามประชามติ รัฐบาลก็ไม่ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายใดๆขัดแย้งกับมติเสียงข้างมากของประชาชน 


เชื่อเป็นทางออกประเทศ

ไพบูลย์ กล่าวต่อ เพื่อให้การออกเสียงประชามติซึ่งเป็นทางออกของประเทศ ทำได้รวดเร็วและประหยัดงบประมาณแผ่นดิน จึงเสนอให้การออกเสียงประชามติทำพ่วงไปพร้อมกับการเลือกตั้ง สมาชิกสภา อบจ. และนายก อบจ. ทั้ง 76 จังหวัดในวันที่ 20 ธ.ค. กำหนดเพิ่มเขตกรุงเทพมหานครให้ กกต.จัดออกเสียงประชามติเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้ใช้งบประมาณทำประชามติจำนวนไม่มาก

และการหาทางออกของประเทศด้วยการจัดให้ออกเสียงประชามติ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนจึงเสนอให้ คณะรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 ตราเป็นพระราชกำหนดว่าด้วยการออกเสียงประชามติขึ้นใช้เฉพาะครั้งนี้ เนื่องจากเป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้

ไพบูลย์ เชื่อว่าหลังจากมีออกเสียงประชามติแล้ว จะทำให้ประชาชนทุกคนทั้งประเทศมีส่วนร่วมใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรง แก้ไขสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งกำลังเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฏร์ 2563 มีปัญหากับกลุ่มประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับ กลุ่มคณะราษฏร์ 2563 กำลังทวีความขัดแย้งขยายวงกว้างขึ้น อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นมาในอีกไม่นาน ซึ่งไม่มีผู้ใดอยากให้เกิดขึ้น จึงควรหาทางออกของประเทศโดยสันติวิธี ด้วยการขออำนาจอธิปไตยของประชาชนทุกคนทั้งประเทศผ่านการออกเสียงประชามติตัดสินปัญหาสำคัญให้ได้ข้อยุติ จึงจะสามารถหยุดยั้งปัญหาความขัดแย้งครั้งใหญ่ของไทยได้