ไม่พบผลการค้นหา
'พิธา' กระทู้สดทวงถาม 'ประยุทธ์' แผนสำรองแก้วิกฤตพลังงาน ปมแก้วิกฤตราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นในเดือนเดียว เตือนรัฐบาลเจอพายุ ศก. 3 ลูกใหญ่ เจอเงินเฟ้อทั่วโลก ด้าน รมว.คลัง แจงราคาน้ำมันแพงกำหนดไม่ได้ ไม่รู้ ยูเครน-รัสเซีย ยืดเยื้อแค่ไหน ชี้ สมช.แก้ปัญหา ศก.ต้องประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง

วันที่ 30 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาวาระกระทู้ถามสด โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม หลังจากไม่ได้มาตอบกระทู้ในการประชุมสภาฯ สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสัปดาห์นี้ นายกฯ ได้มอบหมายให้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาเป็นผู้ตอบกระทู้แทน

พิธา กล่าวว่า ขณะนี้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ล้วงกระเป๋าก็หารายได้ไม่เจอ ราคาอาหาร ค่าเดินทาง เหมือนกำแพงสี่ด้านที่บีบความเป็นอยู่ของประชาชนให้แคบลงเรื่อยๆ

พิธา ระบุว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจฟุบ-เฟ้อ แม้ว่าจะอยู่ในรอยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากโควิด-19 แต่ต้องยอมรับว่า ศักยภาพการฟื้นตัวของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาลและสถานการณ์ที่เจอ โดยประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับพายุใหญ่ถึง 3 ลูกด้วยกัน

“ลูกที่ 1 เป็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ความยืดเยื้อของสงครามยูเครนรัสเซีย ส่งผลกระทบถึงไทยแน่ ลูกที่ 2 เป็น Zero โควิด-19 ของประเทศจีน แต่คิดว่าใกล้ๆ นี้จะผ่อนคลายมากขึ้น และนักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มกลับมา ลูกที่ 3 คือช่วงที่เกิดเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีกับประเทศที่ค่าเงินบาทอ่อนที่สุดในรอบ 6 ปี ไม่น่าจะเป็นผลดีกับช่วงที่การเดินบัญชีดุลสะพัดติดลบ และไม่น่าจะเป็นผลดีกับประเทศที่หนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติการณ์ นี่คือความเร่งด่วนของปัญหา” พิธา กล่าว

จากนั้น พิธา ตั้งคำถามต่อนายกรัฐมนตรี 3 ข้อ โดยวางอยู่บนพื้นฐานของปัญหาค่าเงินเฟ้อ 7.1% ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงพุ่งสูงถึง 35% ทำให้ตอนนี้ประชาชนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาราคาสินค้า 3 หมวดใหญ่ 1) พลังงาน 2) อาหาร 3) ค่าเดินทาง ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายประชาชนเพิ่มขึ้น

"รัฐบาลวางแผนงบประมาณสำหรับวิกฤตพลังงานไว้เพียง 5 แสนล้านบาทเท่านั้น 2 แสนล้านใช้ไปแล้วในปีงบประมาณ และก็เป็นคำถามต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีได้ใช้งบประมาณไปอย่างคุ้มค่าแล้วหรือยัง โดยเฉพาะการลดราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันมีรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลอยู่ 7.5 ล้านคัน จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดราคาแบบตีขลุม โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณเพื่อความยั่งยืนได้ ขณะที่คนเปราะบางก็ไม่ได้ใช้น้ำมันดีเซล จึงต้องถามถึงความชัดเจนในแนวทางการจัดการของนายกรัฐมนตรี และแผนสำรองในการจัดการวิกฤต หากเกิดวิกฤตพลังงานยาวนานต่อเนื่อง การลดราคาแบบตีขลุมจะมีความยั่งยืนหรือไม่"

พิธา ยังตั้งคำถามถึงราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น สินค้าหลายอย่างขึ้นราคาภายในเดือนเดียวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตรงกันข้ามกับบริบทประเทศที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม

"ราคาเนื้อสัตว์พุ่งสูง สืบเนื่องจากอาหารสัตว์ขาดแคลนเพราะสงคราม แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือการให้บทบาทสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหลักในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งภายในคณะทำงาน สมช. กลับไม่มีทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรกเลย เมื่อเป็นแบบนี้สมช.จะสามารถแก้ไขวิกฤตพลังงานและวิกฤตราคาสินค้าได้จริงหรือ" พิธา ระบุ

ด้าน อาคมชี้แจงว่า ค่าครองชีพเกิดจากราคาน้ำมันแพงเป็นสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้ และไม่รู้ว่าสถานการณ์รัฐเซีย-ยูเครน จะยืดเยื้อไปนานแค่ไหน แต่สิ่งที่เราต้องคาดการณ์แผนระยะสั้น กลาง และยาวว่าควรทำอะไร ส่วนค่าเดินทาง เข้าใจว่า คนยากคนจนใช้รถจักรยานยนต์เป็นส่วนมาก จึงได้รับผลกระทบ ต้องแจ้งถึงแผนสำรองว่า ระยะสั้นเราดำเนินการ ใช้เครื่องมือทางการคลังลดภาษีน้ำมันดีเซล ฉะนั้นเรื่องมาตรการภาษีเราช่วยเหลือ แม้จะไม่เห็นราคาน้ำมันที่ลดลงก็ตาม แต่เรามีกองทุนน้ำมันที่มีการอุดหนุนน้ำมันดีเซลค่อนข้างมากตัวเลข 10-11 บาท ซึ่งถ้าเราจะอุดหนุนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็เกินฐานะกองทุนที่จะรับได้ นั่นจึงมีมาตรการตรึงราคาขึ้นมา แต่การตรึงราคาก็ยังไม่สูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งแน่นอนว่าเราลดให้กับน้ำมันที่ใช้เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม การลดภาษีในตรงนี้มีต้นทุนรายได้ของภาครัฐเอง ซึ่งเราก็จะสูญเสียรายได้จากส่วนนี้ไปถึง 40,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้ที่เราเสียไปนี้เราต้องดูในฐานะการจัดเก็บรายได้ที่เพียงพอหรือไม่ เพราะมันเป็นก็ยังถือว่าพอไปได้ และประเมินสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด

อาคมชี้แจงต่อว่า ส่วนการพยุงราคานั้น ก็ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถการกู้ยืมเงิน บวกกับเรื่องของการเจรจาต่อรอง ของโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานก็ได้ดำเนินการอยู่ ต้องบอกว่า ช่วงสถานการณ์ปกติเราไม่ค่อยได้ปรับขึ้นราคาพอเมื่อเกิดภาวะช็อกขึ้นมาเป็นเรื่องที่ยากที่จะปรับราคา ส่วนระยะต่อไปนั้นจะเป็นการปรับเปลี่ยนพลังงานที่ไม่พึ่งพาในส่วนของฟอสซิล และการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งมีกิจการหลายแหล่งที่พร้อมใช้โชล่า อย่างไรก็ตาม เรื่องมาตรการประหยัดพลังงาน ซึ่งตอนนี้เรามีมาตรการรัฐบาลออกมา การที่ประหยัดนั้นต้องไปดูให้ถูกกลุ่ม เราเห็นด้วยกันสมาชิกที่ช่วยเหลือให้ถูกตรงกลุ่มเป้าหมาย

อาคมกล่าวว่า เรื่องอาหารนั้นเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ของโลกด้วย แต่เรื่องของปุ๋ย ข้าวสาลี คงต้องใช้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ เพราะเรื่องน้ำมัน อาหารเป็นสองหมวดที่สำคัญในตระกร้าของประชาชน ส่วนการแก้ปัญหานั้นที่ให้ สมช.ดู ต้องบอกว่า สมช.เป็นงานความมั่นคง แต่เป็นเรื่องด้านความมั่นคงประเทศ ทหาร สังคม ส่วนเศรษฐกิจนั้นก็อาจจะต้องประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายกฯมอบหมาย สมช. ทำงานกับทำหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีการประชุมไปแล้วก็น่าจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมา ร่วมทั้งแผน 1 และแผน 2 ต่อไป

อาคมกล่าวอีกว่า เรื่องการขนส่ง เข้าใจว่าเราเผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน กระทรวงคมนาคมปรับราคา แต่มีความจำเป็น ส่วนการลดเที่ยววิ่งด้วย ตนก็ได้สื่อสารไปแล้วว่าลดแต่ต้องอยู่ในมาตรฐานขนถ่ายให้ประชาชนให้เพียงพอ ส่วนการจัดการรถจากแบบ NGV เป็น EV เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นแผนระยะกลาง หรือระยะยาว ไม่เกี่ยวกับการวิกฤต เพราะเราทำกันมาตลอด แต่แค่อาจจะล่าช้าไป ตนจะไปติดตามโครงการนี้ต่อไป