ไม่พบผลการค้นหา
กระแสเงินทุนไหลเข้า ส่ง 'เงินบาท' แข็งค่า ด้านนักวิเคราะห์มองแนวโน้มเงินไทยแข็งต่อเนื่องระยะยาว

สถานการณ์เงินบาทของไทยแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ (25 มิ.ย.) เงินบาทไทยเปิดตลาดที่ 30.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2556

พื้นฐานเศรษฐกิจไทยแกร่ง หนุน 'บาท' แข็ง

กระแสเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าเป็นปัจจัยหลักของการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาท 'จิติพล พฤกษาเมธานันท์' นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย และ 'รุ่ง สงวนเรือง' ผู้อำนวยการผู้บริหารกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ตลาดการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชี้ประเด็นเดียวกัน เรื่องสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนพากันเทขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หันไปถือสกุลเงินอื่น

นอกจากนี้ จิติพล ยังชี้ถึงความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์สงครามการค้าที่ไม่มีความคืบหน้าของการเจรจา ทั้งยังมองว่าการใช้มาตรการกำแพงภาษีของ 'โดนัลล์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่เป็นผลมากเท่าที่ควร เนื่องจากจีนมีการตอบโต้กลับเสมอ จึงมีความเป็นไปได้ว่าหมากตัวต่อไปที่จะถูกนำมาเป็นข้อต่อรองระหว่างทั้ง 2 ประเทศคือ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าเงินหยวนของจีน

รุ่ง กล่าวว่า ปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่จิติพล มองว่า ตลาดเงินมีความแตกต่างจากตลาดหุ้น เพราะดูจากพื้นฐานของประเทศเป็นหลัก ซึ่งไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้า รวมทั้งการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกฯ ก็ผ่านมาได้ด้วยดี จึงมีคนคิดว่าไทยปลอดภัยสำหรับตลาดเงิน

ทางออก 'ผู้ส่งออก' 

นักวิเคราะห์จากทั้ง 2 ธนาคาร ย้ำเป็นเสียงเดียวกันว่า การจัดการความเสี่ยงเรื่องความผันผวนจากการอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ

จิติพล ชี้ว่า การหันไปใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำการค้าเป็นทางออกทั้งระยะสั้นและระยะยาวสำหรับปัญหาความผันผวน รวมทั้งการหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เช่นกัน ขณะที่ รุ่ง ชี้ว่า การใช้ช่วงเวลาที่ค่าเงินบาทแข็งตัวในการนำเข้าเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพการผลิตจะช่วยพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้

'นักท่องเที่ยว' และการเก็งกำไร

จิติพล แนะนำว่า ไม่มีความจำเป็นต้องรีบแลกสกุลเงินต่างประเทศในช่วงที่มีการขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ เนื่องจากความผันผวนของค่าเงินขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นหลัก อีกทั้ง ขณะนี้สหรัฐฯ ยุโรป และจีน กำลังเผชิญปัญหาทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศที่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน และมีท่าทีจะไม่จบง่าย


"อเมริกาและยุโรปยังมีปัญหาอยู่ ไม่จำเป็นต้องรีบซื้อ เพราะปัญหาไม่จบพรุ่งนี้หรอก" จิตติพล กล่าว

ขณะที่ รุ่ง ออกมาเตือนนักท่องเที่ยวว่า อย่ามองว่าความผันผวนเป็นโอกาสในการเก็งกำไร เนื่องจากค่าเงินสามารถเหวี่ยงกลับมาอ่อนค่าได้ตลอดเวลา 


"เราอยู่ในโลกที่มีทรัมป์คอยตะแบงเรื่องสงครามการค้า ค่าเงิน ดอกเบี้ย ตลอดเวลา อย่าเก็ง (กำไร) เลย ขนาดคนอยู่ในตลาดยังรู้ถึงความเสี่ยงเลย" รุ่ง กล่าว

ในระยะกลางและระยะยาว ค่าเงินไทยยังมีแนวโน้มแข็งตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักที่ต้องจับตามองคือ การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งการประชุมพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (26 มิ.ย.) และประเด็นการเจรจาสงครามการค้า