ไม่พบผลการค้นหา
ผู้บริหารท็อปไลน์ดิจิทัลฯ เผยรายได้ยูทูบลดฮวบ โฆษณากลุ่มท่องเที่ยวหาย พิษโควิด-19 โชคดีมีบุญเก่า ‘ซุปเปอร์วาเลนไทน์’ ของ 3 สาว ‘โบว์-เจน-นุ่น’ ช่วยชีวิต

ดร.พงษ์ศักดิ์ จริยะเอี่ยมอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อปไลน์ดิจิทัล จำกัด พรีเมี่ยมพาร์ทเนอร์ ยูทูบ ผู้ผลิตคอนเทนต์ และเจ้าของช่อง TOPLINE Music Official ในเครือ บริษัท ท็อปไลน์ มิวสิค จำกัด ค่ายเพลงลูกทุ่งชื่อดัง เปิดเผยกับทีมข่าว ‘วอยซ์ออนไลน์’ ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดรายได้ยูทูบช่วงเดือน เม.ย.63 ลดลงจากปกติ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเม็ดเงินจากโฆษณากลุ่มการท่องเที่ยวหายไป ซึ่งเป็นผลกระทบที่ทั่วโลกประสบปัญหาเหมือนกันหมด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโฆษณาบนแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ ยูทูบ มีโฆษณาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวจำนวนมาก เช่น การจองโรงแรม สายการบินต่างๆ รวมถึงการให้บริการเช่ารถ ซึ่งนับว่าเป็นโฆษณากลุ่มใหญ่พอสมควร แต่ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือน มี.ค. และรุนแรงในเดือน เม.ย. มีการชัตดาวน์เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส ทำให้จำนวนนักเที่ยวต่างประเทศลดลง ยอดจองทัวร์และโรงแรมลดลง โฆษณากลุ่มนี้หายไป เช่นเดียวกับโฆษณากลุ่มสินค้าฟุ่มเฟื่อย แต่ว่ามีสิ่งที่เข้ามาทดแทน คือ โฆษณากลุ่มจัดส่งอาหาร อาทิ แกร็บฟู้ด และฟู้ดแพนด้า ถ้าหากสังเกตจะเห็นว่ามีโฆษณากลุ่มนี้เพิ่มเข้ามาจากเดิมที่ไม่มี

“รายได้จากยูทูบจริงๆ เกิดจากโฆษณา ไม่ได้มาจากยอดวิวเหมือนที่หลายคนเข้าใจผิดกัน เกิดจากคนดูคลิปวิดีโอและมีโฆษณาผ่าน ซึ่งโฆษณาเป็นทีมงานของทางกูเกิลไปขายมา เพียงแต่ว่าคนที่ทำยูทูบทำคอนเทนต์ให้ดี โฆษณาก็จะเลือกผ่านเข้ามาในคลิป โดยปกติตั้งแต่ควอเตอร์แรกหรือตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ยอดรายได้จะต่ำอยู่แล้ว ยอดโฆษณาจะหายไปประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์จากเดือนธันวาคมของปีก่อน พอเข้าเดือนมีนาคม-เมษายน โฆษณาจะเริ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ปีนี้ยอดเงินยูทูบที่ควรจะเพิ่มขึ้นก็ไม่เพิ่ม แถมมีทีท่าจะน้อยลงไปด้วย”

ดร.พงษ์ศักดิ์ บอกต่อว่า ในส่วนของท็อปไลน์ดิจิทัลฯ นับว่าโชคดีที่มีเพลง ‘ซุปเปอร์วาเลนไทน์’ ของ 3 สาว ‘โบว์-เจน-นุ่น ซุปเปอร์วาเลนไทน์’ ที่ปล่อยออกมานานกว่า 10 ปี กลับมาได้รับนิยมท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 บวกกับมีคนติดตามเป็นจำนวนมากแล้ว ทำให้ยอดรายได้ไม่ตกมากนัก แต่ก็อยู่ในระดับที่ทรงตัว ที่น่าเป็นห่วงคือช่องยูทูบที่เปิดใหม่ได้ไม่นาน มีโอกาสเติบโตช้า และรายได้น้อย หากไม่มีจุดเด่นเป็นของตนเอง ทำตามกระแสไม่มีอะไรแตกต่างจากช่องอื่นๆ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็เป็นไปได้ยาก  

“เท่าที่ดูจากกลุ่มการท่องเที่ยว น่าจะฟื้นตัวยากในการกลับมามีงบประมาณซื้อโฆษณา ธุรกิจท่องเที่ยวมีการปิดตัวถาวรค่อนข้างมาก เพื่อนๆ ที่ทำธุรกิจโรงแรมหลายคนประกาศขาย ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้เคยเป็นกลุ่มคนที่ซื้อโฆษณาผ่านกูเกิล เพราะว่าจริงๆ การซื้อโฆษณาส่วนใหญ่ที่เป็นรายได้หลักของคนทำยูทูบ เป็นการขายผ่านทางทีมเซลล์ของกูเกิล เมื่อตัวที่เป็นคีย์หลักของรายได้หายไปค่อนข้างมาก ดูแล้วก็ยังน่ากังวลคิดว่าทางทีมของกูเกิลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ”

อย่างไรก็ตามยิ่งรายได้จากยูทูบตกลงไป ยิ่งต้องไม่หยุดพัฒนาคอนเทนต์ต่อเนื่อง ซึ่งช่วงนี้เน้นไปที่การสร้างสรรค์งานให้กลุ่มลูกค้าได้เสพความบันเทิงเพิ่มเติมจากมิวสิควิดีโอเพลง เพื่อช่วยผ่อนคลายอารมณ์จากสถานการณ์ตึงเครียด ทำให้พอมีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจค่ายเพลง ที่ไม่สามารถพาศิลปินไปเดินสายคอนเสิร์ตต่างประเทศได้

“เมื่อก่อนปัญหาในประเทศยังพาศิลปินออกไปต่างประเทศได้ แต่วิกฤตนี้กระทบทั่วโลก เมืองไทยจัดงานไม่ได้เมืองนอกก็จัดไม่ได้ บันเทิงต้องบอกว่ากระทบหนักจริงๆ ทั้งส่วนของโฆษณา อีเวนท์ ดิจิทัล ตราบใดยังมีปัญหาโรคโควิดอยู่ ไม่สามารถจัดคอนเสิร์ตหรือจัดอีเวนท์ได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าสายป่านของใครยาวด้วย ต้องลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย เพื่อประคับประคองให้อยู่ไปให้ได้ ศิลปินลำบากมากไม่มีงาน บริษัทก็ลำบากเพราะว่าขาดรายได้เหมือนกัน”