ไม่พบผลการค้นหา
คณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ลงมติด้วยคะแนนเฉียดฉิวให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน 'ปธน.ดูแตร์เต' แห่งฟิลิปปินส์ สั่งทำสงครามยาเสพติด เข้าข่ายก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือไม่ ขีดเส้นตายส่งรายงาน มิ.ย.ปีหน้า

ตัวแทนจาก 47 ประเทศสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHRC ลงมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณี 'โรดริโก ดูแตร์เต' ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ประกาศนโยบายทำสงครามต่อต้านยาเสพติดภายในประเทศตั้งแต่ปี 2016 ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เข้าข่าย 'การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ' หรือไม่ โดยตัวแทนจาก 18 ประเทศสมาชิก 'เห็นชอบ' ให้สอบสวนดูแตร์เต แต่ 14 ประเทศ 'คัดค้าน' ขณะที่อีก 15 ประเทศ 'งดออกความเห็น'

มิเชล บาเชเลต์ อดีตประธานาธิบดีชิลี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่แห่ง UNHRC กำหนดให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ โดยด่วน พร้อมกำหนดระยะเวลาในการจัดทำรายงานสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์ จะต้องแล้วเสร็จไม่เกินเดือน มิ.ย.2020

ขณะที่ตัวแทนประเทศไอซ์แลนด์ ผู้ยื่นข้อเสนอแก่ UNHRC ให้ดำเนินการในเรื่องนี้ ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า การไต่สวนผู้นำฟิลิปปินส์ไม่ใช่การหาเรื่อง แต่เป็นเพราะต้องการปกป้องสิทธิของผู้ที่เป็นเหยื่อในสงครามยาเสพติด แต่ 'ทีโอโดโร ล็อกซิน จูเนียร์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของฟิลิปปินส์ เผยแพร่ข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว กล่าวหาตัวแทนรัฐบาลไอซ์แลนด์และประเทศที่สนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนรัฐบาลฟิลิปปินส์ว่า "คงจะได้รับรางวัลอย่างงามจากหัวหน้าแก๊งค้ายาเสพติด" 

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์ Karapatan Alliance for the Advancement of People's Rights ซึ่งเป็นตัวแทนครอบครัวผู้เสียชีวิตในสงครามยาเสพติด ประกาศสนับสนุนมติของที่ประชุม UNHRC โดยระบุว่า เหยื่อที่เสียชีวิตในสงครามยาเสพติดในฟิลิปปินส์ทุกคนต้องได้รับความเป็นธรรม และประชาชนคนอื่นๆ จะต้องได้รับความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนในอนาคต

Duterte ดูแตร์เต
  • ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ยืนยันว่าจะไม่ล้มเลิกนโยบาย 'สงครามยาเสพติด' แม้จะถูกวิจารณ์หนัก

ก่อนหน้านี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันว่า การทำสงครามยาเสพติดของดูแตร์เตเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือไม่ แต่ฟิลิปปินส์ตอบโต้ด้วยการลาออกจากการเป็นภาคีของ ICC และโฆษกดูแตร์เตก็ออกมาตอบโต้ว่า การเลือกโจมตีสงครามยาเสพติดฟิลิปปินส์เป็น “การแทรกแซงที่ล้ำเส้นโดยนักโฆษณาชวนเชื่อต่างชาติ”

ส่วนรายงานผลกระทบจากการทำนโยบายสงครามยาเสพติด จัดทำโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6,600 คนเท่านั้น แต่องค์กรระหว่างประเทศ 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล' (AI) รวมถึงเครือข่ายองค์กรสิทธิฯ ในฟิลิปปินส์ ประเมินว่าผู้เสียชีวิตในสงครามยาเสพติดฟิลิปปินส์ไม่ต่ำกว่า 12,000 - 20,000 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจนเมืองซึ่งถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม

ล่าสุด เด็กหญิงอายุ 3 ขวบถูกตำรวจฟิลิปปินส์ยิงเสียชีวิตระหว่างการตรวจค้นผู้ต้องสงสัยในคดีค้ายาเสพติดเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา และตำรวจระบุว่า เด็กหญิงคนดังกล่าวถูกพ่อของเธอใช้เป็น 'โล่มนุษย์' แต่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตกล่าวว่า ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ทำให้ผู้บริสุทธิ์ถูกลูกหลง และก่อนหน้านี้เคยมีกรณีเด็กวัยรุ่นชายถูกตำรวจยิงเสียชีวิตขณะคุกเข่าร้องขอชีวิต และภายหลังไม่พบหลักฐานว่าเด็กคนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ดูแตร์เตย้ำคำเดิมว่าจะไม่ยอมยุติสงครามยาเสพติดแน่นอน

ที่มา: Aljazeera/ BBC/ The Guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: