ไม่พบผลการค้นหา
วันที่ 4 ตุลาคม เป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ในฝรั่งเศส เช่น รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ห้าของฝรั่งเศสได้บัญญัติขึ้นในวันนี้เมื่อปี 1958 และ ระบบประกันสังคมได้ถูกก่อตั้งเมื่อปี 1945 แม้จะผ่านวิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจมาหลายครั้งจนกองทุนขาดทุนสะสมต่อเนื่องกว่า17ปีคิดเป็นมูลค่ากว่า 6ล้าน5แสนล้านบาท ประกันสังคมฝรั่งเศสก็สามารถอยู่รอดได้

ถ้าเอ่ยชื่อนายพล Charles de Gaulle เป็นที่แน่นอนว่าคนฝรั่งเศสทั้งประเทศและคนต่างประเทศจำนวนไม่น้อยต่างรู้จักเขาในฐานะผู้นำเสรีฝรั่งเศสช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, ประธานาธิบดีฝรั่งเศสช่วงปี 1959-1969 และเป็นหนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งระบบประกันสังคมของฝรั่งเศส ในระบบประกันสังคมถือว่ามีบิดาผู้ก่อตั้ง 3 คนคือ de Gaulle ในฐานะผู้นำประเทศผู้ผลักดันผ่านกฎหมายประกันสังคม Pierre Laroque เทคโนแครตด้านเศรษฐกิจผู้เปลี่ยนอุดมการณ์ และความปรารถนาของกรรมาชีพให้ออกมาเป็นนโยบายรูปธรรม และคนสุดท้ายคือ Ambroise Croizat เชื่อได้ว่าแม้แต่คนฝรั่งเศสหลายๆคนโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักชายคนนี้ผู้เป็นหัวหอกสำคัญของขบวนการแรงงาน ผลักดันระบบประกันสังคมที่เปรียบเสมือนสันหลังของชาติเพื่อประกันความเสี่ยงสังคมที่แรงงานต้องเผชิญและยกระดับสวัสดิภาพชีวิตของคนฝรั่งเศสทั้งประเทศ

จากกรรมกร เพื่อกรรมกร สู่คนทั้งชาติ      

Ambroise Croizat เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 1901 ในหมู่บ้านเล็กๆ Notre-Dame-de-Briançon ในแคว้น Savoie ทางตะวันออกของฝรั่งเศสติดชายแดนอิตาลีและสวิสแลนด์ ในครอบครัวกรรมกร พ่อของเขาเป็นกรรมกรค่าแรงต่ำ ส่วนแม่ก็เป็นลูกจ้างโรงงานทอผ้า ส่วนตัวเขาเองต้องออกมาทำงานใช้แรงงานในโรงงานถลุงเหล็กกล้าและเป็นสมาชิกสหภาพกรรมกรตั้งแต่อายุ13ปี ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เขาทำงานไปด้วยและลงเรียนหนังสือภาคค่ำเพื่อเพิ่มเติมความรู้ จนเป็นกรรมกรมีฝีมือสามารถคุมเครื่องจักรและย้ายไปทำงานในโรงงานที่ลียง

ในด้านการเมืองเขาเคลื่อนไหวเพื่อแรงงานตั้งแต่อายุ 17 ปี ในฐานะกลุ่มยุวชนคอมมิวนิสต์ และด้วยอายุเพียง 27 ปีก็ได้เป็นสมาชิกถาวรคณะกรรมการพรรค และได้เป็นเลขาธิการพรรคเมื่ออายุ 29ปี เมื่ออายุ 35ปีก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเขตปารีส และผลักดันกฎหมายสวัสดิการแรงงานต่างๆ เช่น การได้รับค่าแรงในวันหยุด ในวันลาป่วย การกำหนดชั่วโมงทำงานไม่เกิน 40ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากสถานภาพเขาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ จึงถูกกล่าวหาและจับกุมขังกว่า 14 ครั้ง ในช่วงปี 1936-1941 และถึงแม้อยู่ภายใต้รัฐบาลทหารนายพลเปแตง Ambroise Croizat ยังสามรถก่อตั้งสหภาพแรงงานใต้ดินในปี1943 และเป็นสมาชิกสภาชั่วคราวซึ่งเป็นสภาลับเพื่อเคลื่อนไหวในการปลดปล่อยฝรั่งเศส ในการประชุมสภา Ambroise Croizat ได้ร่างแผนประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่ารักษา ร่างกฎหมายสิทธิการลาหยุดงาน สิทธิเงินบำเหน็จบำนาญ ในปี1945 Ambroise Croizat ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีแรงงานและสมานฉันท์ แผนทั้งหมดนี้ถูกนำมาปฏิบัติทันทีหลังจบสงครามโลกโดยมีกองทุนประกันสังคมในจังหวัดต่างๆรวมกว่า 133 กองทุน โดยระบบประกันสังคมวางอยู่บนฐานอุดมการณ์4 ฐานคือ  หนึ่งเดียว: โดยมีสถาบันเพียงหนึ่งเดียวเพื่อจัดการความเสี่ยงสังคม ถ้วนหน้า: ครอบคลุมประชาชนทุกคน สมานฉันท์: คนรวยต้องช่วยเหลือคนจนต้องจ่ายเงินมากกว่าเพื่อคนจน และ ประชาธิปไตย: สิทธิขั้นพื้นฐานประชาชนในระบบประชาธิปไตย     

ในการประชุมสภาปี 1950 เขากล่าวสุนทรพจน์เพื่อปกป้องระบบประกันสังคมจากการถูกตัดงบประมาณ "...เราจะไม่ทนต่อการสูญเสียสิทธิประโยชน์ใดๆของประกันสังคม ด้วยชีวิต ด้วยพลังงานหยาดหยดสุดท้าย เราจะปกป้องกฎหมายแห่งมนุษยชนฉบับนี้และความก้าวหน้า..."

แต่ทว่า 1ปีหลังจากกล่าวสุนทรพจน์ Ambroise Croizat ต้องจากโลกนี้ในวัย 51 ปีด้วยโรคมะเร็ง ถึงแม้เขามีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งประกันสังคมแต่ด้วยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสม์ ผลที่ตามมาคือชื่อของ Pierre Laroque ข้าราชการเทคโนแครตจึงถูกขับเน้นให้ความสำคัญกว่า ชื่อของ Ambroise Croizat ก็ค่อยๆลบเลือนออกจากสังคมอย่างไม่เป็นธรรมภายใต้ยุคสงครามเย็น

อุดมการณ์ ความรู้ชำนาญการ และอำนาจการเมือง: 3พลังในการผลักดัน 30บาทรักษาทุกโรค

การเสียชีวิตของ Ambroise Croizat ด้วยโรคมะเร็ง จากการทำงานหนักเพื่อสร้างระบบประกันสังคมแห่งชาติให้คนรุ่นหลังและจากโลกนี้ก่อนไว้อันควร ทำให้ผมมักระลึกถึงบุคคลสำคัญของระบบสุขภาพไทยที่มีชะตากรรมคล้ายๆกัน นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งเสียชีวิตในวัย 55 ปีเมื่อ10ปีที่แล้วด้วยโรคมะเร็ง บทบาทของคุณหมอสงวนถ้าเทียบแล้วมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน Ambroise Croizat ที่ทำหน้าที่เป็นทัพหน้าสร้างอุดมการณ์และความเชื่อ ความหวังให้กับประชาชนทั้งประเทศ ในการเข้าถึงการรักษาสุขภาพอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ โดยประชาชนต้องไม่ประสบภาวะล้มละลายจากค่ารักษาราคาแพง ด้วยการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรืออีกชื่อคือ 30บาทรักษาทุกโรค

อย่างไรก็ตามอุดมการณ์เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ การทำความฝันให้เป็นจริงได้ต้องอาศัยความรู้ด้วยเช่นกัน ความรู้ความชำนาญการจึงแปรเปลี่ยนอุดมการณ์เป็นนโยบายสาธารณะที่ต้องใช้เทคนิคในการคำนวณค่าใช้จ่าย ค่าภาษี ค่าเบี้ยประกัน ค่ารักษา แหล่งที่มาของรายได้ และวางรากฐานการบริหารอย่างเป็นระบบ ถ้า Pierre Laroque เป็นเทคโนแครตผู้ก่อตั้งประกันสังคมฝรั่งเศสแล้ว คณะทีมงานของหน่วยวิจัยต่างๆในระบบสาธารณสุข เช่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ ล้วนมีความสำคัญด้วยเช่นกันในการออกแบบระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า

และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคืออำนาจการเมืองที่เป็นตัวชี้ขาดว่านโยบายจะถูกผลักดันออกมาเป็นกฎหมายได้หรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับถึงแม้จะรักหรือจะเกลียดพรรคไทยรักไทย และทักษิณ ชินวัตร คือ นโยบาย 30บาทรักษาทุกโรคจะยังคงเป็นแผนการในกระดาษ แผนในขั้นทดลองต่อไปเรื่อยๆ ถ้าวันนั้น นพ.สงวนไม่ได้ตัดสินใจเข้าไปเสนอนโยบายที่ทำการพรรคไทยรักไทย และถ้าทักษิณไม่มีวิสัยทัศน์มากพอที่เล็งเห็นว่า "การลงทุนสุขภาพเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด และช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้"

นอกจากกลุ่มคนออกนโยบายแล้ว ผู้ปฏิบัติงานไม่ว่า หมอ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักการสาธารณสุข ผู้ช่วยพยาบาล อสม. และบุคลากรทางสุขภาพทุกคนก็เป็นวีรบุรุษที่เสียสละทำงานหนักเพื่อสุขภาพประชาชน ที่ควรพึงระลึกถึงด้วยเช่นกัน

ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ดำเนินกว่า 17 ปีแล้ว ถึงแม้จะมีอุปสรรค มีข้อด้อยที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขตลอดมา แต่ทว่าอุดมการณ์ของนโยบายได้สร้างค่านิยมใหม่ให้ประชาชนไทยตระหนักถึงสิทธิการรักษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกสถานะทางเศรษฐกิจสังคม ถึงแม้กาลเวลาในอนาคตจะค่อยๆพรากบุคคลสำคัญในการก่อตั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ปณิธานยังคงอยู่ต่อไปในลูกหลานรุ่นต่อไป

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog