ไม่พบผลการค้นหา
‘วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์’ อดีตประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยแจงยิบ - ท้า ‘ธนพร ศรียากูล’ ดีเบตนโยบายประมง หลังดิสเครดิต ‘เพื่อไทย’

"เมื่อจะฟัดพรรคเพื่อไทย ผมจะตอบแทนก็ได้ ไม่ใช่ในฐานะของคนในพรรค แต่เพราะเคยนำเสนอความคิดเห็นร่วมกับสมาคมประมงให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ไปพิจารณานำไปกำหนดเป็นนโยบาย ซึ่งพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคหนึ่งที่เห็นปัญหา และความฉิบ-หาย' ที่รัฐบาลปัจจุบันสร้างขึ้น จึงอยากจะแก้ไขให้ถูกทาง" 

วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผู้ประกอบกิจการประมงอาวุโส และอดีตประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ระบุกับ 'วอยซ์’ ถึงประเด็นนโยบาย "เพื่อไทยเจ้าสมุทร" ที่ รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ วิพากษ์วิจารณ์โดยขาดข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพปัญหา IUU ประมงไทย ผ่านรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง โดยตั้งข้อสังเกต 6 ข้อดังนี้ 

1. แทนที่ รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล จะวิจารณ์นโยบายของผู้สมัครที่มีถึง 6 คน จาก 6 พรรคการเมือง กลับมุ่งเป้าไปที่ประเด็น “ความเป็นจ้าวสมุทร” ของ “พรรคเพื่อไทย” เพียงพรรคเดียว เหมือนกับรับงานใครมา 

2. ข้อมูลที่ให้กับสาธารณะโดยผ่านข่าวในวันนี้ เท่าที่ฟังได้ มีเรื่องเดียวที่เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง นั่นก็คือ “ก่อนหน้านี้ (ในเรื่องประมง) ไม่มีใครดูแล” แต่ทำไมท่านไม่บอก ว่าเป็นหน้าที่ของใคร ที่ไม่ดูแล และไม่เคยบอกว่า ที่ไม่ดูแลเพราะอะไร

ผมบอกให้ก็ได้ เรื่องการประมงที่ไม่ได้ดูแลกัน เป็นหน้าที่ของ “กรมประมง” เหตุที่เขาไม่ดูแล เพราะเขาไม่มีคนที่รู้เรื่องการประมงทะเล และวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้เรื่องจริงอีก

ในฐานะที่เคยเป็นหนึ่งในกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ รศ.ดร.ธนพร เคยสนใจที่จะพัฒนาคนในกรมประมงให้มีศักยภาพในการดูแลและจัดการทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนอย่างจริงจังหรือไม่ 

วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ IMG_1974.jpegเรือ ประมง ทะเล IMG_1972.jpeg

ผมเห็นแต่พยายามออกมาวิ่งไล่จับชาวประมงและยัดเยียดข้อหาให้เขากันแทบจะทุกวัน ซึ่งถ้าไม่มีการพัฒนาคนของกรม ให้มีศักยภาพในการจัดการและดูแลทรัพยากรแล้ว ชาติหน้าเราก็ยั่งไม่เห็นความยั่งยืนของทรัพยากร 

นี่เอง คือ เหตุผลหนึ่งที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเสนอพรรคการเมืองหลายๆพรรคให้มีการจัดตั้ง “กรมประมงทะเล” เพื่อสร้างคนที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เฉพาะทางขึ้นมาดูและการประมงทะเลของชาติในอนาคต

3. ข้อมูลอื่นๆ ที่ให้กับสาธารณะ เป็น “ข้อมูลอันเป็นเท็จและไม่ครบถ้วน” ในหลายกรณี 

เช่น เรื่องการประมงนอกน่านน้ำ ที่อ้างว่าชาวประมงจับปลาในประเทศกันจนหมดแล้วลามไปจับปลาประเทศอื่น ซึ่งข้อเท็จจริง คือ ในทุกวันนี้ ปลาในประเทศไทยก็ยังมีให้จับกันอยู่ ถ้าบอกว่าหมดแล้ว ทำไมผลผลิตรายปีจึงยังจับกันได้ปีละกว่า 1 ล้านตัน 

ประมง ทวงคืนน้ำพริกปลาทู

จากข้อมูลของกรมประมงบอกว่า ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2555 - 2564) มีผลผลิตจากการทำการประมงทะเลเฉลี่ยปีละ 1,413,911 ตันต่อปี ไม่เชื่อไปค้นดูได้

ส่วนการประมงนอกน่านน้ำนั้น เราจับกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ตั้งแต่ รศ.ดร.ธนพร ยังไม่เกิด โดยในสมัยนั้น นอกเขต 12 ไมล์ทะเลของประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นทะเลหลวง 

ที่เลวร้ายสุดๆ คือการกล่าวหาว่าไปขโมยปลาชาวบ้าน (ประเทศอื่น) ทั้งที่เรือประมงที่เข้าใจว่าพูดถึง คือ การไปทำการประมงในอินโดนีเซียที่ชาวประมงเรามี “ใบอนุญาตอย่างถูกต้องของประเทศนั้น”

เรื่อง “การค้ามนุษย์” ก็เช่นเดียวกัน มีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เรื่องค้ามนุษย์ไม่เกี่ยวกับการประมง IUU fishing เลยสักนิด แต่รัฐบาลเราไม่รู้เรื่อง ยอมให้ EU ยกมาเป็นประเด็นพ่วงไปกับ IUU fishing  

ส่วนที่สอง เรื่องค้ามนุษย์ในอินโดนีเซียเป็นเรื่อง “การกล่าวหา” เป็นหลัก โดยไม่มีการแยกแยะข้อเท็จจริง ผมยอมรับว่าอาจมี “บางกรณี” ที่เจ้าของเรือเอาเปรียบแรงงาน แต่ไม่ใช่การค้ามนุษย์ และในบรรดาคดีที่มีการฟ้องร้อง ส่วนใหญ่ศาลยกฟ้องทั้งนั้น 

แต่เพราะ NGOs หน่วยงานของรัฐ และสื่อซื้อข่าวช่วยกันตี เพราะกลัว NGOs ระหว่างประเทศและอเมริกาที่ตีฆ้องร้องป่าว เอาข้อมูลที่จริงบ้างไม่จริงบ้างมาออกข่าว โดยไม่ให้โอกาสเจ้าของเรือเขาชี้แจงก็แค่นั้น

4. การที่อ้างว่า “ประเทศไทยได้ใบเหลือง” จาก EU เพราะ “การขโมยปลา และค้ามนุษย์ ในอินโดนีเซีย” เมื่อปี 2558 แสดงว่า รศ.ดร.ธนพร “ไม่เคยลืมตาค้นหาความจริงเลย”

เพราะชาวประมงไทยได้รับใบอนุญาตทำการประมงในประเทศอินโดนีเซียมาตั้งแต่ปี 2526 และรับใบอนุญาตต่อเนื่องมาจนถึงปี 2557 ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียในขณะนั้น ต้องการจะจัดระเบียบการประมงในประเทศของเขาเสียใหม่ จึงยกเลิกใบอนุญาตเดิม ทำให้เรือประมงไทย

บางส่วนย้ายไปทำการประมงในประเทศอื่น บางส่วนไปทำการประมงในทะเลหลวง และบางส่วนยังคงทิ้งเรือไว้ โดยคาดว่าจะมีการให้ใบอนุญาตใหม่อีกครั้ง และถ้ามีการค้ามนุษย์จริง รัฐบาลอินโดนีเซียคงไม่ปล่อยให้เราทำประมงที่ประเทศเขาถึง 30 ปี 

สาเหตุที่ทำให้เราได้ใบเหลืองจาก EU ผมอยากแนะนำให้ รศ.ดร.ธนพร ไปค้นเอกสาร EU เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2558 วันที่เขาประกาศให้ใบเหลือง ถ้าอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก บอกมาครับ ผมมีฉบับแปลให้อ่าน

EU เขาแจ้งไว้ชัดเจนถึงสาเหตุที่เขาให้ใบเหลืองรวม 94 ข้อครับ ไม่มีเรื่องที่ว่าเลย มีแต่อ้างถึง “ความไร้ประสิทธิภาพ” ของหน่วยงานของรัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กรมประมง” ของไทย ถ้าจะกล่าวหาใคร หาข้อมูลก่อน

5. ที่ รศ.ดร.ธนพร อ้างว่า ภายหลังรัฐบาล คสช.แก้ใบเหลืองแล้ว ทรัพยากรกลับมา อยากถามว่า รศ.ดร.ธนพร ฝันไปหรือไม่ กลับไปค้นตัวเลยจากฐานข้อมูลกรมประมงดูได้ว่า 

ผลการจับสัตว์น้ำเป็นอย่างไร ถ้ายังหาไม่ได้ ผมจะยกตัวอย่างให้ดูครับ ในปี 2557 (ก่อนได้รับใบเหลือง เราเคยจับปลาในน่านน้ำไทยได้ 1,572,561 ตัน แต่หลังจากนั้น (หลังจากที่ คสช.แก้ปัญหาใบเหลืองแล้ว)  ปริมาณการจับสัตว์น้ำลดลงทุกปี จนมาถึงปี 2564 เราจับได้เหลือเพียง 1,296,721 ตัน ลดลงถึง 278,840 ตัน อยากรู้ว่า “ทรัพยากรสัตว์น้ำ” ฟื้นตัวกลับมาตามที่อ้างตรงไหน

ชาวประมง.jpg

6. คราวนี้ มาดูกันว่าที่ รศ.ดร.ธนพร กล่าวหาพรรคการเมืองต่างๆว่า ไปรับใบสั่งของชาวประมงพาณิชย์ ออกมาแก้กฎหมาย แก้กติกาให้กลับไปเหมือนเดิม 

ผมอยากถามว่า รศ.ดร.ธนพร “มโน” ไปหรือไม่ มีใครพูดถึงการกลับไปจุดเดิม คือ “ใช้พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490” บ้าง 

คำตอบคือ “ไม่มีครับ” แม้แต่ในกฎหมายเดิม ก็มีหลักการในการควบคุมการทำการประมงครับ ไม่ใช่ทำกันตามอำเภอใจ โดยไม่มีกฎหมายควบคุม แต่ปัญหาเกิดจาก “กรมประมง” ต่างหาก ที่ไม่ควบคุม 

ปล่อยให้ชาวประมงทุกกลุ่ม (ทั้งพาณิชย์และพื้นบ้าน) ทำการประมงกันตามใจในเวลานั้น ความผิดอยู่ที่ใครครับที่ไม่ดูแลบังคับใช้กฎหมาย ส่วนกฎหมายที่ชาวประมงพาณิชย์เสนอให้มีการแก้ไข ก็เพราะว่ารัฐบาล คสช. ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการออกกฎหมายโดยขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการประมงทะเล  

การคัดลอกกฎหมายมาจากฝรั่ง และเขียนกฎหมายที่มีบทบัญญัติที่ไม่เป็นธรรม ขัดข้อเท็จจริง ขัดรัฐธรรมนูญของไทย ขัดอนุสัญญากฎหมายทะเล ขัดกับหลักกฎหมายทั่วไป และขัดกับวิถีชีวิตของชาวประมง 

รวมทั้งการกำหนดโทษที่สูงมากตามฝรั่ง จนเกิดปัญหาในการตีความ และมีการบังคับใช้ที่ไม่เป็นธรรม จนทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อชาวประมงทั่วประเทศ และทำประเทศชาติ “ฉิบหาย” ไปปีละกว่า 200,000 ล้านบาท มาจนทุกวันนี้ 

ซึ่งชาวประมงได้พยายามขอให้รัฐบาลแก้ไข แต่รัฐบาลก็ไม่นำพา (แม้แต่คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติที่ รศ.ดร.ธนพร เป็นกรรมการอยู่ด้วย ก็คัดค้านอย่างหัวชนฝาโดยไม่ยอมรับฟังข้อเท็จจริง) ปล่อยให้ชาวประมงทุกกลุ่มต้องทนทุกข์อย่างแสนสาหัส 

สุดท้าย เมื่อปลายสมัยของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาถึงความเดือดร้อนโดยคณะกรรมาธิการเกษตรฯ จึงหยิบยกประเด็นของข้อกฎหมายที่เป็นปัญหาเหล่านั้นบางส่วนมานำเสนอและพิจารณาในสภาฯ จนร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกจากพรรคการเมืองต่างๆ ได้รับหลักการและผ่านการพิจารณาในวาระที่ 2 เพื่อรอรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาต่อไป

อดีตนายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเคยชี้แจงไปแล้ว เมื่อคราวมี NGOs ออกมาโวยวายว่าเป็นการแก้กฎหมายที่ทำลายทรัพยากร และเอื้อประโยชน์ต่อชาวประมงพาณิชย์ รวมทั้ง รศ.ดร.ธนพร ก็ออกมาขู่ว่าถ้าแก้แล้ว EU จะให้ใบแดงประเทศไทย 

"อยากถามจริงๆ รศ.ดร.ธนพร เป็นคนไทยหรือเปล่า หรือเป็นขี้ข้า EU ที่กลัวเสียผลประโยชน์กันแน่ ลองกลับไปอ่านร่างกฎหมายที่แก้เสร็จแล้วดู ถ้าติดใจประเด็นไหน หาเวทีเลยครับ ผมพร้อมจะคุยด้วย”