ไม่พบผลการค้นหา
'เผ่าภูมิ' ชี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มาถูกทาง ทำ 'มาตรการคงการจ้าง' ตามเพื่อไทยเสนอ ย้ำเพื่อรักษาระดับการจ้างงานแรงงาน ป้องกันการพังลงของตลาดแรงงาน พร้อมจี้กระทรวงการคลัง-แรงงานทำตาม

เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เห็นชอบร่วมกับผู้ประกอบการประกอบการจ้างงานภาคการท่องเที่ยวและโรงแรมแบบ Co-Pay (จ่ายคนละครึ่ง) ระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการโดยไม่เลิกจ้างแรงงาน เป็นเวลา 2 เดือน ตามข่าว ว่า กระทรวงท่องเที่ยวฯ เริ่มมาถูกทางที่เล็งเห็นปัญหาและนำ 'มาตรการคงการจ้างงาน' ที่พรรคเพื่อไทยเสนอไปปรับใช้ แต่ฝากเพิ่มว่า

1. ควรสนับสนุนเป็นขั้นบันได (50-60%) ตามลักษณะธุรกิจ แปรผันตามโอกาสการอยู่รอด เพราะถ้าไม่ละเอียดตรงนี้สนับสนุนหว่านไปทั่ว Zombie Firm ที่ไม่ควรได้รับก็ได้รับ

2. ควรสนับสนุนจ่ายตรงผ่านนายจ้างไปยังลูกจ้างเป็นเวลา 6 เดือน เพราะ 2 เดือนสั้นเกินไปที่จะทำให้เอกชนและลูกจ้างเชื่อมั่นในกระแสรายได้ในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุน (ของภาคเอกชน) และการใช้จ่าย (ของแรงงาน)

3. ควรระบุให้ดำรงการจ้างงานไม่น้อยกว่า 90% ของการจ้างงานเดิม

เผ่าภูมิ ระบุว่า แปลกที่เป็นกระทรวงท่องเที่ยวฯ เห็นปัญหาก่อน แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ คลัง และแรงงานโดยตรงกลับยังขาดมาตรการลักษณะนี้มารองรับ ต้องรีบดำเนินการ อย่าลืมว่าการระบาดในครั้งนี้ จะเกิดการตกงานไม่ใช่เฉพาะเจาะจงที่ภาคบริการเหมือนที่ผ่านมา แต่จะลามไปถึงภาคอุตสาหกรรมด้วย เนื่องจากมีการล็อกดาวน์เข้มข้นในเขตจังหวัดอุตสาหกรรมของประเทศ ตรงนี้ต้องระวังให้มาก

"ย้ำว่า 'มาตรการคงการจ้างงาน' ไม่ใช่การเยียวยาตามระบบประกันสังคมซึ่งแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่ใช่โครงการจ้างงานบัณฑิตใหม่ที่มีอยู่ แต่เป็นมาตรการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานแรงงานเพื่อป้องกันการพังลงของตลาดแรงงานซึ่งเปราะบางมากมาระยะหนึ่งแล้ว" เผ่าภูมิ ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย โดยคณะกรรมการนโยบายและวิชาการเห็นว่า มาตรการเยียวยา 3,500 บาทต่อคนต่อเดือนนั้น ไม่เพียงพอและไม่สามารถเยียวยาผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนได้

จึงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินมาตรการสำคัญเร่งด่วน 5 เรื่อง โดย 1 ใน 5 เรื่องนั้น คือ มาตรการคงการจ้างงาน สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคม ภาครัฐสนับสนุนเป็นระบบขั้นบันได 50-60% ตามโซนความรุนแรง เป็นระยะเวลา 6 เดือน ภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างผ่านผู้ประกอบการไปที่ลูกจ้าง เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน โดยไม่ใช่แบบที่รัฐบาลเยียวยาผ่านระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :