ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารใหญ่ระดับต้นๆ ของจีนต้องจ่ายเงินกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ปี 2562 คืนให้ผู้ถือหุ้น หลายฝ่ายมองวิกฤตโควิด-19 อาจทำให้ต้องพิจารณาการจ่ายเงินใหม่

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเม็ดเงินปันผลที่ธนาคารพาณิชย์อุตสาหกรรมแห่งประเทศจีน (ICBC) รวมถึงธนาคารอีก 3 แห่ง ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น 'บิ๊กโฟร์' ของประเทศ ได้แก่ธนาคารเพื่อการก่อสร้างของจีน (CCB) ธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศจีน (AgBank) และธนาคารแห่งประเทศจีน (BOC) สูงมากกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ประจำปี 2562 หรือคิดเป็นมูลค่า 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งหมายความว่าอัตราเงินปันผลต่อราคาหุ้นเหล่านี้สูงมากกว่าร้อยละ 6 และคิดเป็นเกือบสองเท่าของอัตราเงินปันผลที่บริษัทในคู่แข่งจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้น

นอกจากตัวเลขข้างต้นที่แสดงศักยภาพในการเดินหน้าทำกำไรในปีที่ผ่านมาแล้ว ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์สก็ออกมารายงานตัวเลขกำไรสุทธิของธนาคารยักษ์ใหญ่เหล่านี้ที่ล้วนเพิ่มขึ้นทุกราย โดย ICBC มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.04 ขณะที่ AgBank เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.79 และ CCB เห็นกำไรสูงขึ้นกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

สิ่งสำคัญที่ทำให้สถานะทางการเงินของแบงก์เหล่านี้ยังเติบโตได้ดีมาจากตัวเลือกการปล่อยกู้ของธนาคารคเหล่านี้ที่เน้นให้เงินทุนกับบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือมีหุ้นส่วนจากภาครัฐมากกว่าการเป็นเอกชน ซึ่งในมิตินึงสามารถอุ่นใจได้ว่ารัฐบาลจีนจะคอยอุ้มบริษัทเหล่านี้ให้รอดพ้นจากภัยอันตรายต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม วิกฤตโควิด-19 ก็ยังสร้างแรงสะเทือนมาถึง 'บิ๊กโฟร์' เหล่านี้อยู่ดีเมื่อธนาคารอาจต้องเผชิญหน้ากับการสูญเสียเงินนับล้านล้านหยวนเซ่นผลกระทบของโรคระบาด จึงมีหลายฝ่ายออกมาตั้งคำถามว่า ยังเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ที่ธนาคารเหล่านี้จะยืนยันเดินหน้าออกมาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นตามปกติ โดยพิจารณาจากแบงก์พาณิชย์ในหลายประเทศที่เริ่มระงับการจ่ายเงินปันผลไปบ้างแล้ว อาทิในสหราชอาณาจักรหรือในเดนมาร์ก

'นิโคลัส ซู' นักวิเคราะห์จากมูดีส์อินเวสเตอส์เซอร์วิสในปักกิ่ง เผยว่า "การคงไว้ซึ่งการจ่ายเงินปันผลระดับสูงเป็นความรับผิดชอบทางสังคมของธนาคารจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้ที่ต้องรัดเข็มขัดกับงบประมาณของรัฐบาล"

อย่างไรก็ตาม บทสรุปว่าธนาคารจีนเหล่านี้จะเดินหน้าจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นหรือไม่ก็อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล เพราะกระทรวงการคลังและกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีน เป็นผู้ถือหุ้นกว่าสองในสามของ 'บิ๊กโฟร์' ทั้งสิ้น และดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่อยากจะให้การจ่ายเงินปันผลเป็นไปตามปกติ ขณะที่ฝั่งผู้ควบคุมแบงก์ดูจะอยากเก็บกระแสเงินสดเอาไว้รักษาเสถียรภาพทางการเงินมากกว่า

อ้างอิง; Bloomberg, Reuters, Investopia