ไม่พบผลการค้นหา
'คำนูณ' บอกไม่ขวางตั้ง ส.ส.ร.แต่ทุกอย่างต้องจบที่ประชามติ ฟังเสียงประชาชน 51.2 ล้านคน 'นิด้าโพล' เผยคนส่วนใหญ่เห็นด้วยแก้ไขรัฐธรรมนูญ เลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ก่อนยุบสภา

คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) แสดงความเห็นถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญไทย(ส.ส.ร.) ว่า การแก้รัฐธรรมนูญ และตั้ง ส.ส.ร. จะทำได้หรือไม่อย่างไร คำตอบอยู่ที่ประชาชน 51.2 ล้านคน ไม่ใช่แค่ ส.ส. และ ส.ว. รวม 750 คน ในสภาเท่านั้น เนื่องทุกอย่างยังต้องผ่านการทำประชามติ พร้อมย้ำว่าตนเองจะโหวตเห็นชอบกับการตั้ง ส.ส.ร.

เนื้อหาทั้งหมดระบุผ่านเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn ดังนี้

"ถามประชาชนหรือยัง"

"ถามประชาชน 16.8 ล้านคนหรือยัง"

ช่วงนี้จะได้ยินได้เห็นประโยคทำนองนี้บ่อยหน่อย นี่เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มาจากผลการลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ด้วยเสียง 16.8 ล้านเสียง โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ เรื่องนี้ต้องไปถามประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติอยู่แล้ว

และเพราะเหตุนี้แหละ ผมจึงตัดสินใจได้ไม่ยากนักว่าจะโหวตในวันที่ 24 กันยายนเห็นชอบกับญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีการตั้งส.ส.ร.

ขออนุญาตย้ำข้อมูล ณ ที่นี้อีกครั้งว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ให้ตั้งส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่ได้จบลงที่ผลโหวตในรัฐสภา

แต่มีกระบวนการบังคับที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเป็นอื่นได้ ต้องนำไปถามให้ประชาชนตัดสินใจตอบโดยตรงผ่านการออกเสียงประชามติก่อนว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ ถ้าคำตอบออกมาเป็นว่าเห็นชอบด้วย การแก้รัฐธรรมนูญให้ตั้ง ส.ส.ร.จึงจะมีผล ถ้าคำตอบออกมาเป็นว่าไม่เห็นชอบด้วย ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะตกไป ไม่มี ส.ส.ร. ไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชนที่จะตอบคำถามนี้ ก็ไม่ใช่แค่ 16.8 ล้านคนที่ลงมติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อ 4 ปีก่อนเท่านั้น

แต่เป็นการถามประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมดราว 51.2 ล้านคน (ตัวเลขโดยสังเขปจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 24 มีนาคม 2562)

นี่แหละคือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ผมตัดสินใจว่าจะโหวตเห็นชอบกับญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทั้งที่ก็เห็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน แต่ไม่อาจหาเหตุผลใดมาตอบคำถามได้จริง ๆ ว่าเหตุใดจึงจะต้องไปโหวตคัดค้านตั้งแต่ต้นในรัฐสภาทั้ง ๆ ที่คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ประชาชนทั้งประเทศ

ในเมื่อผมยอมรับผลการประชามติ 7 สิงหาคม 2559 เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยเสียง 16.8 ล้านเสียง และนำไปกล่าวอ้างเสมอมาว่าเป็นการตัดสินใจโดยตรงจากประชาชน เป็นความถูกต้องชอบธรรมที่จะล้มล้างกันง่าย ๆ ไม่ได้...

ผมจะเป็นคนกลับกลอกสองมาตรฐานทันทีเลยละ ถ้าไม่ยอมรับผลการตัดสินใจโดยตรงจากประชาชนหลังจากรัฐสภาเห็นชอบแล้ว

โดยถ้าผมโหวตไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียง เป็นเหตุให้เสียงเห็นชอบของ ส.ว.มีไม่ถึง 84 เสียง ทำให้ญัตติตกไปตั้งแต่ชั้นรัฐสภา ไม่ต้องไปถามประชาชน ก็จะมีค่าเท่ากับไปขวางทางการตัดสินใจโดยตรงของประชาชนทั้งประเทศ เป็นประชาชนทั้งประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไปผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนเฉพาะกลุ่มที่ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านการเรียกร้องการชุมนุมไม่ว่าสนับสนุนหรือต่อต้านเท่านั้น

ผมเป็นใคร ? ผมจะถือสิทธิอะไรไปขวางทางการตัดสินใจโดยตรงของประชาชน 51.2 ล้านคน ?

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการตั้ง ส.ส.ร.หากผ่านประชามติจากประชาชนแล้ว ยังจะต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยตรงทั่วประเทศอีก 150 - 200 คน และหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วยังอาจจะต้องไปทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง

สรุปรวมความได้ว่า แม้รัฐสภาจะลงมติเห็นชอบกับญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ตั้งส.ส.ร. แต่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ต้องผ่านกระบวนการให้ประชาชน 51.2 ล้านคนมาลงคะแนนลับหย่อนลงหีบบัตรเลือกตั้งอีกรวมแล้ว 2-3 ครั้ง ไม่ได้จบที่ผลโหวตในรัฐสภาโดย ส.ส./ส.ว. 750 คนเท่านั้น

ประชาชน 16.8 ล้านคนที่ลงมติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อ 4 ปีก่อนได้สิทธิตอบแน่นอน"

โพลหนุนยุบอำนาจ ส.ว. ก่อนยุบสภา

ศูนย์สํารวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสํารวจของประชาชน เรื่อง "จะมี ส.ว. ต่อไปดีไหม?" ทําการสํารวจระหว่างวันที่ 8–10 ก.ย. 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาคระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น จํานวน 1,317 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอํานาจ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

การสํารวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ 'นิด้าโพล' สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย(Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกําหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97 

จากการสํารวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอํานาจ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีพบว่า 

  • ร้อยละ 61.27 ระบุว่า เห็นด้วยมาก
  • ร้อยละ 16.48 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย 
  • ร้อยละ 8.96 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย
  • ร้อยละ 13.21 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย
  • ร้อยละ 0.08 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของผู้ที่ตอบเห็นด้วยมากและค่อนข้างเห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแค่มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอํานาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และหลังจากนั้นให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ พบว่า 

  • ร้อยละ 69.27 ระบุว่า เห็นด้วยมาก 
  • ร้อยละ 15.90 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย
  • ร้อยละ 6.24 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย
  • ร้อยละ 7.22 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย
  • ร้อยละ 1.37 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ 

สําหรับสิ่งที่ ส.ว. ควรดําเนินการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.75 ระบุว่า ควรสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา รองลงมา ร้อยละ 30.37 ระบุว่า ควรสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)

ร้อยละ 10.70 ระบุว่า ไม่ควรสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกรูปแบบ และร้อยละ 4.18 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


จำเป็นต้องมี ส.ว.ไหม ?

เมื่อถามถึงความจําเป็นต้องมี ส.ว. ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของประเทศไทย พบว่า 

  • ร้อยละ 38.27 ระบุว่า จําเป็นต้องมี ส.ว. เพราะ เพื่อเป็นการถ่วงดุลทางการเมือง ควบคุม/ตรวจสอบการทํางานของ ส.ส. กลันกรองกฎหมายสําคัญ ๆ ต่าง และการได้มาของ ส.ว. ต้องเป็นการเลือกตั้งจากประชาชนเพื่อเข้ามาเป็น ส.ว. เท่านั้น 
  • ร้อยละ 31.66 ระบุว่า ไม่ จําเป็นต้องมี ส.ว. เพราะไม่มีผลงานที่เด่นชัด ไม่มีบทบาทการทํางานที่ชัดเจน สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน และมี ส.ส. ก็เพียงพอกับประชาชนแล้วจึงไม่จําเป็นต้องมี ส.ว. 
  • ร้อยละ 30.07 ระบุว่า มีหรือไม่มี ส.ว. ก็ได้เพราะ ประชาชนยังไม่เห็นการทําหน้าที่และผลงานของ ส.ว. ที่ชัดเจน
https://www.thaipost.net/main/uploads/photos/big/20200913/image_big_5f5d6b039071c.jpg


ข่าวที่ีเกี่ยวข้อง: