ไม่พบผลการค้นหา
หลังการชุมนุมล้านคนในวันอาทิตย์ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงยังคงยืนยันจะเดินหน้ายื่นร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเข้าสภาครั้งที่ 2 พร้อมปฏิเสธว่าไม่มีคำสั่งจากจีนให้ดัน ก.ม.นี้ แต่ทำเพื่อป้องกันไม่ให้ฮ่องกงกลายเป็นแหล่งกบดานอาชญากรลี้ภัย

เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน แคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แสดงความเห็นต่อการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกง ว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงสิทธิและเสรีภาพของชาวฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม เธอชี้ว่าการชุมนุมใหญ่ที่เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ รวมถึงการชุมนุมประท้วงโดยนักกฎหมายฮ่องกงหลายพันคนนั้น เกิดขึ้นเพราะผู้คนไม่เข้าใจร่างกฎหมายนี้ พร้อมเสริมว่าทางจีนแผ่นดินใหญ่ไม่มีส่วนในการผลักดันร่างกฎหมายนี้

"ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่กับจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้มีที่มาจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ฉันไม่เคยได้รับการชี้แนะหรือคำสั่งใดๆ จากปักกิ่งให้ออกร่างกฎหมายนี้" หล่ำ กล่าว

แม้จะมีข้อเรียกร้องให้ลาออก และถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่แคร์รี หล่ำ ยังคงยืนกรานว่าการพิจารณาร่างกฎหมายจะยังคงดำเนินต่อไปในวันพุธที่จะถึงนี้

"ฮ่องกงต้องเดินหน้าต่อ ไม่มีใครอยากให้ฮ่องกงเป็นวิมานของอาชญากรหลบหนีข้ามแดนหรอก" เธอกล่าว

ฮ่องกง.jpg

มาร์ติน ลี แกนนำทนายความและอดีตสมาชิกสภาฮ่องกงฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย กล่าวกับ The Guardian ว่าตัวเองเชื่อว่าจะมีผู้ประท้วงออกมาชุมนุมมากกว่านี้ หากรัฐบาลไม่ตอบรับการแสดงพลังของสาธารณชนในวันอาทิตย์อย่างเหมาะสม พร้อมชี้ว่ารัฐบาลฮ่องกงกำลังปฏิเสธประชาธิปไตย พร้อมกดข่มสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม


ชนวนปัญหา และที่มาของความกังวล

เดิมทีฮ่องกงมีข้อตกลงส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศอื่น 20 ประเทศเท่านั้น ร่างกฎหมายที่เป็นชนวนการประท้วงนี้ มีใจความสำคัญคือการให้ฮ่องกงสามารถส่งตัวอาชญากรหลบหนีข้ามแดนให้ประเทศอื่นๆ ที่ร้องขอ แต่ไม่มีข้อตกลงร่วมกับฮ่องกง รวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย โดยจะพิจารณาส่งตัวเป็นรายคดี เนื่องจากกฎหมายในปัจจุบันจะทำให้ฮ่องกงไม่สามารถส่งตัวอาชญากรที่หลบหนีมาฮ่องกงให้หลายๆ ประเทศที่เกิดเหตุได้

ความกังวลที่เกิดขึ้น คือกฎหมายใหม่อาจเอื้อให้จีนแผ่นดินใหญ่สามารถอุ้มศัตรูทางการเมือง นักกิจกรรม หรือผู้เห็นต่างไปขึ้นศาลของจีนซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีความยุติธรรม และมีความกงัวลว่ารัฐบาลปัจจุบันของฮ่องกง ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่นั้น จะไม่ต่อต้านคำร้องขอให้ส่งตัวผู้เห็นต่างทางการเมือง และทำให้ฮ่องกงกลายเป็นเพียงเมืองๆ หนึ่งของจีนเท่านั้น

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการว่าร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนี้เป็นภัยต่อสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง "หากมีการบังคับใช้ กฎหมายนี้จะขยายอำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ให้มุ่งเป้าผู้วิพากษ์วิจารณ์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน นักข่าว เอ็นจีโอ และใครก็ตามในฮ่องกงได้ ไม่ต่างกับที่ทำในจีนแผ่นดินใหญ่" แอมเนสตี้ ระบุในแถลงการณ์


ปะทะกับเจ้าหน้าที่และเสียงจากแผ่นดินใหญ่

ในการชุมนุมใหญ่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน ผู้จัดงานประมาณการว่ามีผู้เข้าร่วมประท้วงกว่า 1 ล้านคน จากจำนวนประชากรฮ่องกงทั้งหมด 7.2 ล้านคน แม้ว่าตำรวจจะประเมินว่ามีผู้ชุมนุมอย่างมากเพียง 240,000 คน และมีชาวฮ่องกงในต่างประเทศร่วมชุมนุมประท้วงกันในอีก 29 เมือง 12 ประเทศ เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน ซิดนีย์ โตเกียว และไทเป

กลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกงชุมนุมโดยสงบตั้งแต่หน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร ติดต่อกันเกือบ 10 ชั่วโมง ในช่วงเวลาเที่ยงคืนซึ่งคำอนุญาตให้จัดตั้งการชุมนุมสิ้นสุดลง ตัวรวจฮ่องกงได้เข้ายึดคืนพื้นที่ทำให้เกิดการปะทะขึ้น โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ขว้างปาขวดน้ำและรื้อรั้วเหล็กโยนใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งตอบโต้ด้วยไม้กระบองและสเปรย์พริกไทย การจราจลดำเนินอยู่เป็นเวลา 30 นาที มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน้อยหนึ่งรายบาดเจ็บหนัก ทางตำรวจยึดคืนพื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาลได้ในเวลาเที่ยงคืนครึ่ง แต่การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป ฝั่งตะวันตกของทำเนียบได้ในเวลาตี 2 และได้พื้นที่ที่เหลือทั้งหมดในช่วงรุ่งสาง พร้อมบันทึกประวัติของผู้ชุมนุมไว้ราว 300 คน

000_1HD7UM.jpg

ทางด้านบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ China Daily ซึ่งมีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ ระบุในวันที่ 10 มิถุนายนว่ามีความพยายามจากต่างชาติในการโจมตีประเทศจีน โดยสร้างความวุ่นวายในฮ่องกง

"ใครก็ตามที่สติดีย่อมเห็นว่าร่างกฎหมายใหม่นี้เป็นร่างกฎหมายที่ ชอบธรรม เหมาะสม และสมเหตุสมผล ซึ่งจะช่วยเสริมให้หลักนิติธรรมของฮ่องกงแข่งแกร่งและรักษาความยุติธรรมไว้ได้ เคราะห์ไม่ดีที่ชาวฮ่องกงบางกลุ่มถูกล่อลวงโดยขั้วตรงข้ามและพันธมิตรต่างชาติให้สนับสนุนการต่อต้านร่างกฎหมายนี้" อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ไม่ได้ระบุว่าแรงผลักดันจากต่างชาติที่ว่าคือกลุ่มใด

ทาง China Daily ยังรายงานอีกว่า มีชาวฮ่องกง 770,056 คน ลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายนี้

ร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนี้ จะเข้าสู่สภาเพื่ออภิปรายอีกครั้งในวันพุธที่ 12 มิถุนายนนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ที่มา: Reuters / SCMP / The Guardian / Xinhua