ไม่พบผลการค้นหา
นักปกป้องสิทธิต้านเหมืองหินถูกขู่ฆ่าซ้ำเป็นรายที่ 5 จาก 4 รายที่ถูกลอบสังหารไปก่อนหน้านี้ ขณะทีอดีต กสม.ชี้เป็นการกระทำที่อุกอาจแสดงให้เห็นว่าผู้กระทำการคุกคามไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ขณะที่หลากองค์กรสิทธิร่วมเรียกร้อง กระทรวงยุติธรรมสร้างกลไก ที่จะดูแลนักปกป้องสิทธิฯ อย่างเป็นรูปธรรม

มีรายงานจากพื้นที่ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชน-เขาเหล่าใหญ่ผาจันได อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ได้จัดชุมนุมเพื่อปิดเหมืองหินในพื้นที่มากว่า 40 วันแล้ว โดยเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมาชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯได้ดำเนินการเข้าทวงคืนพื้นที่เขตเหมืองแร่ เนื้อที่ 175 ไร่ เป็นเขตป่าชุมชนดังเดิมแล้ว แต่ยังเหลือพื้นที่ในเขตโรงโม่หินอีก 50 ไร่ ที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ จะเข้ายึดคืนพื้นที่โรงโม่หินให้กลับคืนมาอีกครั้ง ในวันที่ 25 ก.ย. 2563 หนึ่งวันหลังจากอายุใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองสิ้นสุดลงและทำให้ใบอนุญาตโรงโม่หินสิ้นสุดอายุลงตามไปด้วย

แต่สถานการณ์ในพื้นที่ตอนนี้ เป็นสถานการณ์ที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ และองค์กรสิทธิฯ ที่สนับสนุนต้องเผชิญกับสภาวะความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้ง ด้วยลักษณะ กระบวนการ วิธีการ และรูปแบบเดิม จากการข่มขู่คุกคามสู่การชี้เป้าให้มีการลอบสังหารไปหน่วยงานภาคประชาสังคมและสิทธิมนายชน ที่ช่วยหนุนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ คัดค้านเหมืองหินปูนอย่าง เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชนและเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ซึ่งเป็นที่ปรึกษากลุ่ม เพื่อทำให้กระบวนการเคลื่อนไหวคัดค้านสะดุดหยุดลงให้ได้ในที่สุด โดยมีการคาดการณ์ว่าคนที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นกลุ่มคนเดียวกันกับเมื่อปี 2538 และปี 2542 ที่เสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้านี้ ที่บ้านดงมะไฟมาแล้วถึง 4 ศพ

ด้าน อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า กรณีของเลิศศักดิ์นั้น ถือเป็นการกระทำที่อุกอาจมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้กระทำการคุกคามไม่ได้มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย เลิศศักดิ์ ถือเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานมายาวนาน และได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนอย่างมาก กรณีเหมืองหินดงมะไฟเราก็คงทราบกันแล้วว่ามีการขัดกันของผลประโยชน์มานาน ระหว่างชาวบ้านกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และเมื่อชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชน ปกป้องทรัพยากร และต่อต้านการทำเหมืองหิน ทำให้แกนนำชาวบ้าน 4 คนถูกลอบสังหารจนเสียชีวิตโดยที่จนปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ 

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และมีแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน 2562-2565 ซึ่งลำดับความสำคัญของแผนสี่ประการ รวมถึงเรื่องสิทธิชุมชน ที่ดิน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเลิศศักดิ์ ถือเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ให้การสนับสนุนชาวบ้านในการปกป้องสิทธิชุมชน การคุกคามที่เกิดขึ้นจึงเป็นการคุกคามที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อคุกคามนายเลิศศักดิ์คนเดียว แต่ยังทำให้ชาวบ้านชุมชนบ้านดงมะไฟทั้งหมดเกิดความหวาดกลัวไปด้วย

อังคณา กล่าวว่า น่าแปลกใจมากที่ขณะที่รัฐบาลประกาศให้เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล แต่กลับไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบที่จะเข้ามาสังเกตการณ์การปกป้องสิทธิชุมชน รวมถึงสิทธิของประชาชนท้องถิ่น หรือเข้ามาให้ความคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่กำลังถูกข่มขู่คุกคามอย่างหนัก ทั้งๆ ที่มีการนำเสนอเรื่องนี้ในสื่อมวลชนหรือสื่อโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง และเป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่จนปัจจุบันกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสถาบันสิทธิมนุษยชน เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนชาติ ไม่ได้ดำเนินการใดตามอำนาจหน้าที่เพื่อคุ้มครอง และแสดงความห่วงใยในเรื่องการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น

“ดังนั้นข้อเสนอเบื้องต้นคือหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องรีบเร่งในการประสานงานกับหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เพื่อให้ความคุ้มครองเลิศศักดิ์และประชาชนที่ออกมาคัดค้านและแสดงเจตจำนงที่จะปกป้องทรัพยากรจากการทำเหมืองหินในทันที ในระยะต่อไปต้องมีสืบสวนสอบสวนและการนำตัวผู้ที่กระทำการคุกคามประชาชนมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะกรณีนี้ถือว่าเป็นการท้าทายกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง อีกทั้งชาวบ้านเองก็รู้ว่าใครเป็นผู้กระทำการคุกคามนายเลิศศักดิ์ ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความคุ้มครองกับนายเลิศศักดิ์ และชาวบ้านทุกคนที่ให้การในฐานะพยาน” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าว

ขณะที่ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า ที่ผ่านมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในพื้นที่ของตนเองถูกข่มขู่คุกคามในลักษณะนี้ ซึ่งกลไกของกระบวนการยุติธรรมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่เคยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมเลย นักปกป้องสิทธิต้องหามาตรการวิธีหรือกระบวนการในการปกป้องตนเองมาตลอดทั้งๆ ที่การต่อสู้เรื่องนี้เป็นการกระทำที่ทำเพื่อผลประโยชน์สาธารณะดังนั้นมันควรมีกลไกของรัฐบาลที่จะมาดูแลเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องที่มีความเสี่ยงถึงชีวิต

“กรณีแบบนี้เกิดขึ้นเยอะแล้วและเมื่อถึงขึ้นเสียชีวิตแล้วก็ไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ หรือมาตรการคุ้มครองพยานก็จะเกิดขึ้นเมื่อนักปกป้องสิทธิหรือชาวบ้านเกิดเหตุคุกคามแล้ว แต่คนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้แล้วมีความเสี่ยงเช่นกรณีของคุณเลิศศักดิ์หรือชาวบ้านอีกหลายๆ คน กลับไม่มีกระบวนการในการคุ้มครองหรือดูแลจากการกระทรวงยุติธรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม มันจึงควรเป็นบทเรียนให้กระทรวงยุติธรรมสร้างกลไก ที่จะดูแลชาวบ้าน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่นถ้าเขามีความเสี่ยงเขาจะต้องไปที่ไหน และมีกลไกอะไรที่จะมาปกป้องชีวิตของเขา เรื่องนี้จะต้องคุยอย่างจริงจังและสร้างกลไกขึ้นมาอย่างชัด” ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW)ระบุ

ขณะที่องค์กร Protection International ซึ่งทำงานคุ้มครองและดูแลนักปกป้องสิทธิ ระบุข้อเรียกร้องให้ทางการไทยและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดูแลความปลอดภัย และการคุ้มครองเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ของโครงการรณรงค์เพื่อนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) รวมทั้งผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในเขตดงมะไฟ ที่ต่อสู้อยู่เพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม

Protection International ระบุว่า ทางการไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กอ. รมน. และผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูต้องดูแลให้หน่วยงานทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงใช้อำนาจสูงสุดในการให้ความปลอดภัยและคุ้มครองกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ ผาจันได และเลิสศักดิ์ คำคงศักดิ์ ระหว่างการทำกิจกรรมชุมนุมเพื่อปิดเหมือง เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและต้องสามารถทำได้โดยไม่ต้องกลัวการตอบโต้

และขอเรียกร้องให้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) UNOHCHR สำนักและคณะทำงานของสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดดำเนินการเร่งด่วนและเป็นรูปธรรมเพื่อให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานต่างๆ ปกป้องเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ในขณะที่ยังสามารถปกป้องชีวิตของนักปกป้องสิทธิที่ยังไม่ถูกสังหารได้อยู่ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนที่สุด และในระยะยาวหน่วยงานเหล่านี้จะต้องใช้ทรัพยากรของตนเพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลไทยและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยุติการปฏิบัติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าการข่มขู่และการคุกคามโดยทันที

“เราขอเรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเสริมสร้างวิธีการทำงานและพัฒนากลยุทธ์เชิงรุกมากขึ้นเพื่อเข้าถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต้องการความคุ้มครอง นักการทูตและหน่วยงานของสหประชาชาติควรเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐให้ดำเนินการเมื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตกอยู่ในความเสี่ยงหรือกำลังจะถูกสังหาร” Protection International ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าได้พยามยามโทรศัพท์เพื่อสอบถามกับ ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ถึงแนวทางการดำเนินการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในกรณีที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ ในขณะเดียวกันโลกออกไลน์ได้ร่วมกันติดแฮชแท็ก #SaveLertsak และแฮชแท็ก #หยุดเหมืองหินดงมะไฟ

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ผาจันได.JPGเลฺิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชนและเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ซึ่งเป็นที่ปรึกษากลุ่มอนุกรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ผาจันได2.jpg