ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 เพิ่ม 1 ราย ส่วนวันที่ 2 มี.ค. นี้จะแจกหน้ากากอนามัยฟรีให้ประชาชนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

วันที่ 29 ก.พ. 2563 ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้ได้รับรายงาน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้ง 2 แห่ง (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) ยืนยันพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 1 ราย ผู้ป่วยเป็นเพศชาย อายุ 21 ปี อาชีพพนักงานขาย สัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ เริ่มป่วยวันที่ 24 ก.พ. 2563 เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2563 ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ขณะนี้รับไว้รักษาอยู่ที่ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ด้วยอาการไข้ ไอ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ ขณะนี้ได้ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด ทั้ง ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชน แล้ว

ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 14 ราย รักษาหายแล้ว 28 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 42 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่มาจากการเฝ้าระวัง 28 ราย (เป็นคนจีน 16 ราย คนไทย 12 ราย) และเป็นผู้ป่วยที่มาจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย 14 ราย (เป็นคนจีน 9 ราย คนไทย 5 ราย) ทำให้ขณะนี้ไทยมีรายงานผู้ป่วยอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 2 รายที่สถาบันบำราศนราดูร ขณะนี้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อแล้ว รอร่างกายฟื้นตัว

ทั้งนี้ ในวันที่ 2 มี.ค. 2563 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มแจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชนจำนวน 3 ชิ้นต่อคน เพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันโรค ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และการจัดหา

โดยในวันนี้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558 มีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ (1 มี.ค.) เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่อาการรุนแรง จะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและอาจถึงขั้นเสียชีวิต ภายหลังจากที่ประกาศมีผลบังคับใช้ จะออกมาตรการต่างๆ ภายใต้อำนาจของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อยืดระยะเวลาการเข้าสู่ระยะที่ 3 ของการแพร่ระบาดของโรคให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ส่วนข้อสงสัย ข้อกังวลของประชาชนที่เดินทางไปพื้นที่เสี่ยงกลับมาแล้วจะปฏิบัติตัวอย่างไร ขอความร่วมมือ ต้องสังเกตอาการป่วยอยู่ที่บ้านที่พักจนครบ 14 วัน นับจากวันที่กลับ หลีกเลี่ยงการไปที่สาธารณะที่มีคนอยู่หนาแน่นโดยไม่จำเป็น ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น งดใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ช้อนกลาง หมั่นทำความสะอาดห้องน้ำ ชักโครก ลูกบิดประตู ด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เสื้อผ้า และหากภายใน 14 วัน มีไข้ร่วมกับไอ จาม ให้รีบมาพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง

และการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 COVID-19 หากเป็นผู้ที่เข้าข่ายสงสัยฯ ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ให้ไปรับการตรวจที่ รพ.ตามสิทธิ (ไม่เสียค่าใช้จ่ายค่าตรวจ) หากยังไม่มีอาการใดๆ หรืออาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ ไม่แนะนำให้ไปตรวจเอง (หากอยากตรวจต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง) ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่เข้าข่ายแต่เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศที่เสี่ยง แม้จะตรวจไม่พบเชื้อ ในครั้งแรกขอให้สังเกตอาการป่วยอยู่ที่บ้าน/ที่พัก จนครบ 14 วัน

กรมควบคุมโรค ประกาศตามตัวผู้โดยสาร XJ621 มาตรวจเชื้อโควิด -19

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้คำแนะนำสำหรับผู้โดยสารเที่ยวบิน XJ621 Sapporo-DMK วันที่ 20 ก.พ. 2563 โดยระบุว่า ขอให้ผู้เดินทางในเที่ยวบินดังกล่าว พยายามแยกตัวเองจากผู้อื่นเป็นระยะเวลา 14 วัน เพื่อสังเกตอาการป่วย โดยหมั่นล้างมือด้วยสบู่ สวมหน้ากากอนามัย และแยกของใช้ส่วนตัว สำหรับผู้โดยสารที่ยังไม่มีอาการป่วย ยังไม่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

นอกจากนี้ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้มีการประสานงานกับสายการบินและบูรณาการกับหลายหน่วย เพื่อเร่งติดตามผู้โดยสารในแถวที่นั่ง 37,38,39,40,41 ที่ยังไม่ได้ไปตรวจยืนยันที่โรงพยาบาล โดยขอความร่วมมือให้ติดต่อหมายเลข 096-750-7657 พร้อมขอให้ผู้โดยสารเฉพาะที่นั่งดังกล่าว สวมหน้ากากอนามัย แยกตัวเองจากผู้อื่น ไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลและแจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อให้การควบคุมโรคทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น