ไม่พบผลการค้นหา
‘ชัชชาติ’ ร่วมงาร Pride มศว ยินดี ร่างสมรสเท่าเทียม-พ.ร.บ.คู่ชีวิต ผ่านสภาฯวาระแรก มองเป็นจุดเริ่มต้นโอบรับความหลากหลาย

เมื่อเวลา 16.20 น. วันที่ 24 มิ.ย. 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมงาน ‘SWU Happy Pride Month’ ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยก่อนหน้านี้ ชัชชาติ ลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยการอำนวยความสะดวกของ กทม. ภายในบริเวณลานคนเมือง เพื่อรองรับการจัดกิจกรรม ‘24 มิถุนายน 2565 ฉลองวันชาติ คณะราษฎรยังไม่ตาย’ โดยแนวร่วมกลุ่มราษฎร 

โดย ชัชชาติ ได้ขึ้นกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในประเด็น ‘Bangkok Pride กทม. เมืองแห่งความหลากหลาย’ ระบุว่า วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ 2 เรื่อง คือ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศราชกิจจานุเบกษา ผ่อนคลายมาตรการถอดหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะโดยสมัครใจได้แล้วตั้งแต่วันนี้ 2. ตนได้ลงนามในประกาศ กทม. เรื่องการกำหนดพื้นที่ชุมนุมสาธารณะ 7 จุด

“การมีพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความเห็นที่แตกต่างเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเป็นหัวใจเดียวกันกับเรื่อง Pride Month ว่าด้วยการยอมรับความแตกต่าง คนเราไม่ใช่คอมพิวเตอร์ ที่มีเพียง 0 กับ 1 หรือ หญิงกับชาย แต่คนเรามีเฉดสีที่แตกต่างกัน ไม่ใช่เพียงมิติของเพศ แต่รวมถึงการเมือง ความคิด ทุกอย่างมีสเปคตรัมทั้งนั้น” ชัชชาติ กล่าว

นอกจากนี้ ชัชชาติ ยังได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทั่วโลกเฉลิมฉลองเทศกาล Pride ในเดือน มิ.ย. ของทุกปีด้วยว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 1969 เกิดการจลาจลโดยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต่อต้านการใช้ความรุนแรงและบังคับใช้กฎหมายโดยเลือกปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในบาร์ที่ชื่อ Stonewall นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเป็นเหตุให้มีการจัดงานรำลึกถึงความไม่เข้าใจในความหลากหลายมาจนถึงทุกวันนี้

ชัชชาติ เพศสภาพ -9195-4F96-9589-CA1439349F57.jpegชัชชาติ เพศสภาพ -9556-4819-AD00-083494C46E5E.jpegชัชชาติ เพศสภาพ หลากหลายทางเพศ  -384F-421B-8E9A-735A8602795F.jpeg

ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า 1 มิ.ย. คือวันที่ตนเข้ามาทำงานในฐานะผู้ว่าฯกทม.อย่างเป็นทางการวันแรก ก็ได้ไปแขวนธงรุ้งแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพราะเชื่อว่า การยอมรับความหลากหลายทางเพศเป็นจุดเริ่มต้น และมองว่า จริงๆแล้ว ในสังคมไทยให้การยอมรับความหลากหลายทางเพศ เพียงแต่กฎหมายยังไม่ให้การยอมรับ ดังนั้น ขอแสดงความยินดีที่ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ผ่านวาระแรกของการพิจารณาในสภาฯแล้ว ตนขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การยอมรับความหลากหลายในด้านอื่นด้วย

ชัชชาติ เพศสภาพ -A5F8-492E-9EB6-CF7DB2A222F1.jpegชัชชาติ เพศสภาพ -B745-44DF-A996-1020B1086B2A.jpegชัชชาติ เพศสภาพ -DCE7-4E7D-8F4F-91EEE0FDB4CB.jpeg