ไม่พบผลการค้นหา
วิจัยล่าสุดชี้ว่า จีนตั้งศูนย์กักกันในซินเจียงอุยกูร์จำนวนมากกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ อีกทั้งยังมีการไล่ทุบทำลายศาสนสถานต่างๆ จำนวนมาก

สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย หรือ ASPI เปิดเผยผลการวิจัยล่าสุดว่า “สถานที่ต้องสงสัยว่าเป็นศูนย์กักกัน” มีมากกว่า 380 แห่งในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ หรือมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ 40% และมีแนวโน้มว่าศูนย์กักกันจะมีเพิ่มขึ้นอีก แม้รัฐบาลจีนจะกล่าวว่าโครงการ “เรียนรู้ใหม่” สำหรับชาวอุยกูร์ หลังถูกนานาชาติประณามอย่างหนัก 

สหประชาชาติ หรือ UN ระบุว่ามีชาวอุยกูร์และคนกลุ่มน้อยอื่นๆ ซึ่งเป็นชาวมุสลิมและพูดภาษาตุรกีถูกคุมขังอยู่ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลจีนระบุว่า ค่ายเหล่านี้เป็นศูนย์ฝึกอาชีพและเป็นความพยายามที่จำเป็นสำหรับการต่อต้านภัยคุกคาม “การก่อการร้าย” และ “ผู้ฝึกอาชีพ” ทั้งหมดในศูนย์เหล่านี้ “จบการศึกษาไปหมดแล้วตั้งแต่ปลายปี 2562” และชีวิตความเป็นอยู่ของคนเหล่านี้ก็มีขึ้นกว่าเดิม

นาธาน รูเซอร์ หัวหน้าทีมวิจัยเขียนว่า นอกจากศูนย์กักกันในซินเจียงจะไม่ได้ปิดจามที่จีนกล่าวอ้าง ยังพบหลักฐานว่านักโทษในค่ายเหล่านี้หลายคนถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ และถูกกักขังในสถานที่ที่มีการรักษาความปลอดภัยขั้นสูง

นักวิจัยของ ASPI ได้ใช้ภาพถ่านดาวเทียม คำบอกเล่าของพยานผู้เห็นเหตุการณ์ รายงานข่าว และเอกสารยื่นประมูลการก่อสร้าง ซึ่งแบ่งประเภทค่ายกักกันไว้ 4 ระดับ ขึ้นอยู่กับระบบการรักษาความปลอดภัย เช่น กำแพงสูงรอบนอก หอสังเกตการณ์ และรั้วภายในค่าย โดย 90% ของค่ายกักกันเป็นค่ายที่มีระบบความปลอดภัยระดับต่ำ 

รายงานระบุว่า มีอย่างน้อย 61 แห่งที่เพิ่งก่อสร้างและขยายงานเสร็จในก.ค.ที่ผ่านมา อีก 14 แห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่มีอีกราว 70 แห่งที่ถอดรั้วหรือกำแพงสูงโดยรอบ ซึ่งบ่งบอกว่ามีการเปลี่ยนการใช้งานหรือปิดค่ายกักกันไปแล้ว

รูเซอร์ระบุว่า ศูนย์กักกันหลายแห่งถูกขยายให้เป็นค่ายที่มีระบบความปลอดภัยสูงขึ้น ขณะที่บางค่ายถูกสร้างใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งบ่งบอกว่า คนที่อยู่ในค่ายถูกส่งไปใน “โรงงานที่มีกำแพงล้อมรอบเพื่อใช้แรงงานบังคับ” ซึ่งไม่นานมานี้ นักการเมืองสหรัฐฯ เพิ่งจะลงมติแบนสินค้าที่มาจากซินเจียง

นอกจากนี้ รายงานของ ASPI ยังระบุว่า จีนเคยอ้างว่าจะปกป้องรักษามัสยิดมากกว่า 24,000 แห่งในซินเจียง และเคารพความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ในพื้นที่ แต่ล่าสุดมีมัสยิดเหลืออยู่ไม่ถึง 15,000 แห่งเท่านั้น โดยครึ่งหนึ่งที่เหลืออยู่ก็ถูกทำลายไปบางส่วนด้วย ซึ่งนี่ถือเป็นช่วงเวลาที่มีมัสยิดน้อยที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมที่มีมัสยิดเหลือเพียง 3,000 แห่ง

นับตั้งแต่ปี 2560 มัสยิดถูกทำลาย 30% และอีก 30% เสียหายบางส่วน เช่น ถูกถอดชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรม เช่น หอคอยสุเหร่า โดม เป็นต้น บางแห่งถูกทิ้งร้าง บางแห่งถูกเปลี่ยนไปเป็นถนนและลานจอดรด หรือไปใช้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร ขณะที่สถานที่ทางวัฒนธรรมในซินเจียงก็เสียหายหรือถูกทำลายไปประมาณ 50% ของทั้งหมด รวมถึง ออร์ดัม มาซาร์ เมืองโบราณสำหรับการจาริกแสวงบุญตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ก็ถูกทำลายลงทั้งเมือง


ที่มา : Al Jazeera, The Guardian